xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยกำลังถูกฆาตกรรม

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

หนึ่งปีในการเข้ามาบริหารปกครองของรัฐบาลหุ่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเทศไทยมีแต่ความทุกข์ด้วยภัยหลากหลายชนิด เริ่มตั้งแต่อุทกภัย ภัยของแพง และภัยจากพวกอันธพาลอนาธิปไตย ที่มุ่งร้ายจะทำลายความแข็งแกร่งของสถาบันพระมหากษัตริย์และจิตใจคนไทย

เภทภัยทั้งหลายทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะพหุยุทธศาสตร์ของทักษิณ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินด้วยการใช้การเมืองเสียงข้างมากในสภาและหัวหน้าฝ่ายบริหารในอำนาจอธิปไตยที่เป็นหุ่นเชิด โดยเฉพาะประยุกต์ใช้กองทัพอันธพาลแดงในคราบหมู่บ้านคนเสื้อแดงรายรอบกรุงเทพมหานครอันเป็นการข่มขู่สันติชน

การนำร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งมีลักษณะเป็นยูโทเปียหรือรัฐธรรมนูญในฝันมากไปหน่อย เพราะเปิดโอกาสให้คนชั่วใช้ช่องว่างระหว่างคุณธรรมกับความสามานย์ของมนุษย์แสวงประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจเผด็จการรัฐสภา โกงกินบ้านเมือง ข่มเหงรังแกข้าราชการ และใช้อำนาจรัฐเกินกว่าเหตุอันควร จนในที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เพราะไม่มีหนทางอื่นในเชิงรัฐศาสตร์ ที่จะป้องกันอำนาจชั่วร้ายของระบอบสามานย์ของทักษิณได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ถือเป็นการเปิดศักราชการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของชาติที่มีนิติประเพณีปฏิบัติแห่งรัฐผสมผสานกันระหว่างวัฒธรรมในอดีตกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สร้างสรรค์ความเจริญและรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ขณะนี้กำลังจะถูกทักษิณและสาวก รวมทั้งพวกนิยมลัทธิอนาธิปไตยทำลาย เพื่อสร้างระบอบการปกครองรัฐใหม่ตามวิธีคิดของทักษิณผู้มี “อัตตานิยมสูงหรือหลักการที่ว่าถ้าฉันจะเอาอย่างนี้ใครก็ขัดใจฉันไม่ได้”

แต่ก่อนที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 สมบูรณ์ได้นั้น ทักษิณจะต้องเข้ามาบัญชาการ และกุมอำนาจบริหารเองในประเทศเสียก่อน จึงจำเป็นจะต้องทำทุกวิถีทางในการนิรโทษกรรมตัวเอง และให้สาวกรับจ้างหลายสาขาหลายกลุ่ม สร้างกฎหมายอุบาทว์ที่รู้จักกันว่าพระราชบัญญัติปรองดอง ซึ่งเนื้อหาสาระที่แท้จริงคือการนิรโทษกรรมทักษิณ และคนเสื้อแดงที่ก่ออาชญากรรม ฆ่า เผาบ้านเผาเมืองในห้วงพฤษภาคม 2553

ทั้งสองประเด็นวิกฤตทางสังคมไทยก็ดูเลวร้ายมากโขอยู่แล้ว แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ออกแถลงการณ์ตัดสิน และมีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ทำให้พหุยุทธศาสตร์กลืนชาติของทักษิณถูกขัดขวาง

การนี้ทักษิณเป็นบุคคลแรกที่กล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินการยื่นคำคัดค้านของหลายฝ่าย ทั้งพรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่ง ว่าอยู่ภายใต้การบงการของอำมาตย์ที่ให้ปล้นอำนาจประชาชน เป็นการตัดสิน 2 มาตรฐาน ซึ่งข้อกล่าวหาชวนเชื่อของทักษิณซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ทักษิณใช้เป็นกลไกในการโฆษณามดเท็จใส่ความ ว่าอำมาตย์ซึ่งไม่มีตัวตนในนัยยะของระบอบสังคมไทยในปัจจุบัน แต่ทักษิณใช้คำว่าอำมาตย์ให้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันทั้งระบบ โดยเฉพาะคณะองคมนตรีอันเป็นที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การกล่าวหาของทักษิณนั้นรุนแรงมากในระบอบสังคมคุณธรรม เพราะหากว่าขาดกลไกสร้างดุลอำนาจรัฐแล้ว ประชาชนคนไทยจะต้องรับกรรมมากยิ่งกว่าระบอบเผด็จการใดๆ ทั้งสิ้น บ้านเมืองไร้ขื่อแป ทักษิณ คนเสื้อแดง และอันธพาลทางการเมือง สามารถตีความรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ ระบอบกฎหมู่กลายเป็นระบอบถูกกฎหมาย และอันธพาลการเมืองทุกรูปแบบก็จะเข้ามาสูบเลือดสูบเนื้อ ทำลายประเทศชาติทุกระบอบสังคม

กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและประชาชนในชาติให้เป็นนิติรัฐ และอยู่ในระบบรัฐที่แยกแยะคนดี คนชั่ว และให้ทุกคนยึดถือสิทธิของบุคคลเป็นสำคัญ โดยมีหลักการ 5 ประการ คือ กฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน ความเชื่อถือศรัทธา สันติวิธี และความยุติธรรม

เมื่อกษัตริย์ฮัมมูราบี ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1810 - 1750 ก่อนคริสตกาล ที่ทรงออกกฎหมายเรียกว่าประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ที่เขียนลงบนแผ่นหิน และติดตั้งไว้ในที่สาธารณะให้คนทั่วไปได้อ่าน และทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ ระเบียบ แบบแผน และการสร้างความยุติธรรม

ดังนั้น ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี จึงนับได้ว่าเป็นกฎหมายที่ตราโดยพระมหากษัตริย์ ที่ประวัติศาสตร์ยกย่องว่าเป็น “ตัวอย่างกษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม” และด้วยประมวลกฎหมายนี้เอง จึงเป็นแบบอย่างในเรื่องความยุติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และต้องชดใช้กรรมลักษณะการถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ ตามความผิดนั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สังคมสามารถอยู่รวมกันได้อย่างสันติ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย มีบทลงโทษที่ชัดเจน และประมวลกฎหมายฮัมมูราบีมีหลักการสำคัญที่ว่าด้วยการ “ถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิด” อันเป็นรากฐานกฎหมายของอารยธรรมและทำให้เกิดความสมดุลขึ้นในการปกครอง

ตามหลักการแล้วทั้ง 3 อำนาจอธิปไตยนั้น จะต้องตรวจสอบและสร้างความสมดุลได้โดยไม่ยอมให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งอยู่เหนืออีกอำนาจหนึ่ง และ 3 อำนาจนี้จะแยกจากกันโดยสิ้นเชิง คือ อำนาจบริหารโดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก และอำนาจตุลาการโดยคณะตุลาการศาลต่างๆ และอำนาจทั้งสามนี้เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์แต่ปัจจุบันพระองค์มอบอำนาจให้ผู้สนองพระราชโองการเป็นผู้ปฏิบัติ ทั้งสามอำนาจสามารถตรวจสอบกันได้และต้องสร้างความสมดุลในสังคม มิให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งครอบงำการปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จได้ แต่ขณะนี้คนเสื้อแดงกำลังใช้วิธีการอันธพาลแทรกแซงข่มขู่อำนาจตุลาการที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลในอำนาจอธิปไตย

จากการพัฒนาทางการเมืองไทย ตามที่อารยประเทศเขาประพฤติปฏิบัติกันมาก่อน และดำเนินมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมานั้น เกิดอุปสรรคอยู่หลายเหตุ และเหตุหนึ่งคือการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองในคณะรัฐบาล ทำให้การพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทยไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการทั้งทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์และภาคอื่นๆ ได้ไปศึกษาในสำนักศึกษาในอารยะประเทศมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาระบบการเมืองไทยอย่างสันติวิธี เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองอย่างที่ไม่ควรเกิดในแผ่นดินไทยจนมีการบาดเจ็บล้มตายจากการชุมนุมทางการเมืองและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการจัดม็อบชนม็อบอันปรากฏให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป่าไม้ราว 2,000-3,000 คนถูกว่าจ้างในเข้ามาข่มขู่ประชาชนที่ต่อต้านพฤติกรรมชั่วของรัฐบาล

ประสบการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในอดีต ทำให้ประชาชนคนไทยปรารถนาที่จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นอารยะ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาหลักทางการเมืองการปกครอง ที่มีความสำคัญยิ่งยวด ในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดของระบบกฎหมายและเป็นแกนในการจัดระบบการสร้างกติกา และการบังคับใช้กฎหมายทั้งปวงของรัฐ จึงมีลักษณะพิเศษ 2 ประการ คือ เป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกฎหมายพื้นฐานในการปกครอง

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นของประชาชน เพราะประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย อันหมายถึงการปกครองของประชาชน การปกครองโดยประชาชน และการปกครองเพื่อประชาชน

ส่วนดีของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 นั้น คือการกำหนดให้มีองค์กรอิสระโดยเฉพาะในทางกฎหมายขึ้นมา เพื่อสร้างความสมดุลอย่างเข้มแข็งในแต่ละอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญอย่างเช่นอารยประเทศจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันบังคับใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเป้าหมายสูงสุดของนิติรัฐและความผาสุกของรัฐ คือ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย บรรทัดฐานวิธีการ และเป้าหมายของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ ความสมดุลในผลประโยชน์ของชนในชาติทุกคน

ด้วยหลักการนี้เองทำให้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจึงแบ่งได้เป็น 9 ประการ ซึ่งสรุปตามสาระแล้ว คือ การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มิให้มีผู้ใดผู้หนึ่ง อำนาจใดอำนาจหนึ่ง หรือระบอบใดระบอบหนึ่ง กระทำการขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นเจตนารมณ์ของชนในชาติทั้งมวล ทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย หรือพฤติกรรมใดๆ ก็ตามที่เสี่ยงต่อความเสียหายของรัฐ ประชาชน และระบอบการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีอำนาจในการยับยั้ง และสามารถมีคำสั่งใดคำสั่งหนึ่งให้ชะลอหรือยุติขบวนการนั้นเสีย เพื่อผลประโยชน์ของชาติและความสงบสุขของชนในชาติ

การที่คนเสื้อแดง กลุ่มนิติราษฎร์ และทักษิณ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์อุบาทว์ของพวกเขาถูกขัดขวางโดยหลักนิติธรรม จึงเกิดความโกรธ และแสดงความมุ่งร้ายต่อระบอบการสร้างสมดุล เพราะว่าหากเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพวกเขาแล้ว ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในอุ้งมือของพวกเขา และพวกเขาก็จะมาฆาตกรรมสิ่งที่ดีงามในระบอบการปกครองของประเทศชาติ และเกิดภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อไร้แปและมีคนชั่วขึ้นปกครองประเทศชาติอย่างเต็มรูปแบบและสมบูรณ์แบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น