xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาล รธน.ปัดตุลาการใช้ รธน. 50 ฉบับอังกฤษพิจารณารับคำร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตุลาการศาล รธน. “เฉลิมพล เอกอุรุ” ระบุไม่รู้สึกกดดันกรณีศาลฯ ถูกมอง รับคำร้องแก้ รธน.เป็นปัจจัยเร่งขัดแย้ง เชื่อประชาชนเข้าใจ ยันทำหน้าที่เป็นกลางตามที่ถวายสัตย์ปฏิญาณ วอนสื่ออย่าจ้องสัมภาษณ์ตุลาการ เหตุไม่ใช่นักการเมือง หรือคอมแบต ไม่หวั่นถูกข่มขู่ รับเป็นเรื่องปกติที่เจอทุกครั้งเมื่อมีการพิจารณาคดีสำคัญ ด้านโฆษกศาลรัฐธรรมนูญปัดตุลาการใช้ รธน.ปี 50 ฉบับภาษาอังกฤษมาประกอบการพิจารณาในการรับคำร้อง เพียงแต่ยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้ดูเท่านั้นเพื่อความเข้าใจ

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “วิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรณีการใช้สิทธิของประชาชนยื่นฟ้องคดี” ให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในการเปิดสัมมนาว่า หวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งกฎหมายพื้นฐานของเยอรมนีได้กำหนดให้สิทธิขั้นพื้นฐานมีผลเป็นกฎหมายที่บังคับให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้โดยตรง กรณีสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิเรื่องใดเรื่องหนึ่งของตนที่ถูกละเมิดโดยหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 93 ซึ่งมีหลักการบางแง่มุมที่คล้ายกับมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

จากนั้นนายเฉลิมพลให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริง (คอป.) ออกมาระบุว่าให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางภายใต้รัฐธรรมนูญว่า คำถามนี้น่าจะไปถามนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำไมเมื่อวานสื่อมวลชนถึงไม่ถาม แต่คนที่เป็นตุลาการก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตน ดังนั้นตุลาการก็ต้องทำหน้าที่ตามที่ถวายสัตย์ฯ ไว้ สำหรับตนเองได้ยึดมั่นตามนั้นมาโดยตลอด ส่วนเรื่องอื่นไม่ขอวิจารณ์ แต่ก็ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดและตามที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไว้ เพราะเชื่อว่าทุกเรื่องจะคลี่คลายไปเอง รวมถึงสื่อมวลชนก็ควรจะปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

เมื่อถามต่อว่า กดดันหรือไม่กับกระแสสังคมที่มองว่าการรับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญของศาลจะเป็นปัจจัยหนึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า ไม่ได้กดดันอะไร เพราะเราปฏิบัติไปตามความคิดเห็นที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ยึดมั่นในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตนคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจกับเรื่องดังกล่าว ถ้าหากฟังให้ดีจากการแถลงข่าวของประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งศาลก็คงมีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ แต่คงต้องไปถามประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพราะตัวเองเป็นแค่ตุลาการคนหนึ่ง ไม่มีหน้าที่ที่จะไปพูดแทนใคร

“ถ้าไปดูในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ตุลาการไม่มีการให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชน เพราะการแสดงความคิดเห็นของตุลาการทำในที่ประชุมศาลเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าใจการทำงานของตุลาการด้วย ถ้ามีข้อสงสัยใดศาลฯ ก็มีช่องทางให้สอบถามได้จากการแถลงข่าวของทีมโฆษก และการแถลงของประธานศาลรัฐธรรมนูญในบางครั้ง ฉะนั้นขออย่าได้ไปสัมภาษณ์กับตุลาการ เพราะไม่มีประเทศตะวันตกไหนที่ตุลาการจะให้สัมภาษณ์กับสื่อ เนื่องจากตุลาการไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้เป็นคอมแบต (ทหาร) และไม่อยากให้มีการตอบโต้ จนถูกนำไปโยงเป็นประเด็นทางการเมือง”

นายเฉลิมพลยังกล่าวถึงกรณีมีการข่มขู่หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องว่า ทุกครั้งที่มีคดีมักจะมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอ ความจริงแล้วหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นี่คือหน้าที่ของตุลาการฯ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ที่สื่อไม่เคยเผยแพร่ เพราะสื่ออาจจะไม่ทราบ แต่สื่อจะสนใจการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมือง คิดว่าเรื่องนี้คงต้องมีการทำความเข้าใจกัน และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องทำความเข้าใจกับสื่อเพิ่มมากขึ้นด้วย

เมื่อถามว่ารู้สึกกังวลหรือไม่ว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามที่จะโยงศาลไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นายเฉลิมพลกล่าวว่า ใช่ สื่อเองที่เป็นคนพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง เรื่องนี้มันหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าศาลตัดสินโดยกระแสการเมืองใช่หรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วศาลต้องยึดหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

นายเฉลิมพลยังได้ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวถึงการมาเป็นประธานเปิดงานครั้งนี้ว่า ตามกำหนดการนายวสันต์จะต้องมาเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว แต่นายวสันต์ติดภารกิจจึงมอบหมายให้ตนมาทำหน้าที่แทน แต่ทั้งนี้โดยปกติแล้วหากมีงานสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะมอบหมายให้ตนมาทำหน้าที่ตลอด

ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายวสันต์ระบุว่าการรับคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ตุลาการได้หยิบยกรัฐธรรมนูญปี 50 ฉบับภาษาอังกฤษมาประกอบการพิจารณาในการรับคำร้องว่า การพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่ได้หยิบยกรัฐธรรมนูญปี 50 ฉบับภาษาอังกฤษมาประกอบการพิจารณา เพียงแต่นายวสันต์ได้หยิบยกรัฐธรรมนูญ 50 ฉบับภาษาอังกฤษที่มีถ้อยคำชัดเจนเกี่ยวกับการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยตรงขึ้นมาเปรียบเทียบให้ดูเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เดิมทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะมาเป็นประธานเปิดงาน แต่เมื่อถึงเวลา กลับได้รับแจ้งเปลี่ยนกำหนดการเป็น นายเฉลิมพลจะมาเป็นประธานเปิดงานแทน ขณะที่สื่อมวลชนจำนวนมากมาเฝ้ารอนายวสันต์เพื่อสัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีคำสั่งขอให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมขณะนี้ อีกทั้งยังมีประเด็นที่กลุ่มคนเสื้อแดงล่ารายชื่อถอดถอนตุลาการอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น