xs
xsm
sm
md
lg

มองผู้ว่าฯ ฮ่องกง กับปัญหามลภาวะการเมือง - มลพิษอากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ายเหลียง เจิ้นอิ่ง วัย 57 ปี อดีตที่ปรึกษารัฐบาลและนักวิเคราะห์อสังหาริมทรัพย์ ผู้ชนะเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และปัญหามลพิษอากาศ ซึ่งคับข้องใจชาวฮ่องกงอยู่มาก (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - สื่อตะวันตกรายงาน (2 ก.ค.) ว่า แม้นายเหลียง เจิ้นอิง ผู้บริหาร​เขตปกครองพิ​เศษฮ่องกงคนใหม่จะได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะราบรื่นทีเดียว เพราะภารกิจสำคัญคือการต้องสื่อสารกับประชาชนฮ่องกงให้เข้าใจจุดยืนของเขาหลังมีคนมองว่า เขาแนบแน่นกับแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งความไม่พอใจกับปัญหามลพิษอากาศ

รอยเตอร์ส์ รายงาน (2 ก.ค.) ว่า ประชาชนฮ่องกงส่วนหนึ่ง ก็ยังมีความคลางแคลงใจต่อตัวนายเหลียง เจิ้นอิง ซึ่งสื่อท้องถิ่นเรียกเขาว่า "คนในของพรรคคอมมิวนิสต์" แต่ผู้สนับสนุนเขาก็มองว่าเขาเป็นคนที่เป็นปากเสียงให้กับชนชั้นล่างของเมืองนี้ได้ และแน่นอนการเติบโตมาอย่างปากกัดตีนถีบคือสิ่งที่เหลียง ต่างจาก เฮนรี่ ถัง บุตรตระกูลผู้มั่งคั่งจากเซี่ยงไฮ้ คู่ต่อสู้การเมืองของเขา

เหลียง เิจิ้นอิง เป็นใคร?

เหลียง เกิดปีพ.ศ. 2497 เติบโตมาในอพาร์ทเมนต์ของรัฐ ซึ่งทราบกันดีว่าเล็กแออัดเพียงไร ครอบครัวของเขาใช้ชีวิตกินอยู่และห้องน้ำร่วมกับเพื่อนบ้านกว่า 10 ครอบครัว เหลียงอาจจะคล้ายๆ กับนายโดนัล ซัง ตรงที่มีพ่อเห็นตำรวจ ย้ายครอบครัวจากเว่ยไห่ มณฑลซันตง มาตั้งถิ่นฐานที่ฮ่องกง เมื่อ 80 ปีก่อน เช่นเดียวกับชาวจีนอพยพหนีความวุ่นวายทางการเมืองในแผ่นดินใหญ่

เพื่อช่วยเหลือภาระทางการเงินให้ครอบครัวอยู่รอด เหลียง เริ่มทำงานตั้งแต่เด็กโดยเป็นคนงานในโรงงานผลิตดอกไม้พลาสติก ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยนั้น เป็นความทรงจำที่เขาไม่มีวันลืม

เหลียง มีความขยันและเป็นเด็กระดับหัวแถว เขาสอบชิงทุนได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมระดับแนวหน้าของฮ่องกง คิงส์ คอลเลจ และไปศึกษาต่อที่ฮ่องกงโพลีเทคนิค จากนั้น ก็มาต่อสาขาบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่บริสตอลโพลีเทคนิค ประเทศอังกฤษ ตลอดเวลาที่อยู่ต่างแดนนี้ เขาทำงานรับจ้างตามร้านอาหาร และยังคงใช้กระเป๋าเสื้อผ้าใบเดิมใบเดียว

เหลียง กลับฮ่องกงในปี พ.ศ.2520 อันเป็นเวลาที่จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มต้นยุคปฏิรูปเศรษฐกิจภายหลังมรณกรรมของประธานเหมาเจ๋อตง ซึ่งในเวลานั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ผู้บริหารท้องถิ่นต่างได้รับนโยบายจากเติ้งเสี่ยวผิงในการนำแนวคิดทุนนิยมมาใช้พัฒนาสินทรัพย์

เหลียงได้เดินทางไปทั่วประเทศจีน ทั้งให้การฝึกสอนและอบรมความรู้ด้านนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต่างๆ พร้อมกับเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัทจอห์น แลง วูตตัน ซึ่งเขาทำงานให้ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาที่อังกฤษ เหลียงได้มีส่วนช่วยออกข้อกำหนดการใช้สิทธิ์ที่ดินของกิจการเอกชนในนครเซี่ยงไฮ้ กวางโจว และกรุงปักกิ่ง และเมื่อคราวที่จีนเริ่มเจรจากับอังกฤษในการคืนเกาะฮ่องกง เขาด้มีบทบาทหน้าที่สำคัญในคณะเจรจานั้น จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการทั่วไปของสภาที่ปรึกษานิติบัญญัติฮ่องกง ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการดูแลฮ่องกงหลังอยู่ภายใต้การบริหารของจีน ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนฮ่องกงอยู่ตลอดเวลา

หลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน สหราชอาณาจักรได้พยายามเร่งให้จีนปฎิรูปการเมืองและปรับปรุงกฎหมายฮ่องกง แต่ก็ได้รับแรงต้านจากรัฐบาลจีน และเหลียงถูกต่อต้านจากกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยด้วยเห็นว่าเขายืนอยู่ฝั่งเดียวกับแผ่นดินใหญ่ โดยบางส่วนมองว่าเหลียงเป็นสมาชิก (ใต้ดิน) ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์มาก เหลียงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference) รับผิดชอบนโยบายที่อยู่อาศัยในฮ่องกงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาฯ จนกระทั่งลาออกมาลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร​เขตปกครองพิ​เศษฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว
ประชาชนฮ่องกงนับหมื่นที่ย่านคอสเวย์ เบย์ เดินขบวนเรียกร้องให้เหลียง เจิ้นอิง ลาออกจากตำแหน่งฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่นมา (ภาพ  รอยเตอร์ส)
เผชิญปัญหาการเมือง

ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้นโยบาย ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในการปกครองและบริหารฮ่องกง ที่สภาประชาชนจีนได้อนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 โดยให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรีเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลจีนได้รับฮ่องกงกลับคืนจากรัฐบาลอังกฤษ และฮ่องกงกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก อีกทั้งมีระบอบการปกครองประชาธิปไตยเต็มรูปแบบใน ปีพ.ศ. 2560 นั่นทำให้ฮ่องกงเป็นทั้งผลประโยชน์ และความเสี่ยงทางการเมืองภายในจีน ซึ่งประชาชนฮ่องกงก็เริ่มเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นๆ

แม้ว่าการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากโดนัลด์ จัง ผู้บริหารฯ ฮ่องกง คนก่อน มายังผู้สืบทอดอย่างเหลียง จะเป็นไปตามความคาดหมาย แต่ก็ยังมีความวุ่นวายขุ่นเคืองของประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าไม่ใช่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เมื่อครั้งที่ หลิว เสี่ยวปัว ผู้มีแนวคิดตรงข้ามกับรัฐบาลจีน ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ มีผู้สื่อข่าวไปถามความเห็นของเหลียง เจิ้นอิง เขาตอบเพียงว่า ในความเห็นเขา คนที่ควรได้รับคนแรกคือ ท่านเติ้งเสี่ยวผิง

รายงานข่าวกล่าวว่า สถานะทางการเมืองของเหล่าผู้บริหารชั้นนำของจีนหลายๆ คน ใช่ว่าจะสวยงามนัก ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นก็มี ปั่ว ซีไหล ทีเพิ่งจะถูกปลดออกจากสมาชิกภาพกรมการเมือง (สำรอง) แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ โดยก่อนหน้าเมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นายปั๋วได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครฉงชิ่ง รวมทั้งตำแหน่งบริหารต่างๆในมหานครฉงชิ่ง นอกจากนั้น ตัวโดนัลด์ จัง อดีตผู้ว่าฯ ฮ่องกง เอง ก็โดนกล่าวหาในเรื่องทรัพย์สินและพัวพันนักธุรกิจ
สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ พากันทุ่มทุนจ้างรถเครนขึ้นไปส่องถ่ายบ้านของนายเหลียง เจิ้นอิง (25 มิ.ย.) ว่าที่ผู้บริหารเขตปกครอง  พิเศษฮ่องกงคนใหม่ หลังพบว่ามีสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายอยู่ในบ้าน (ภาพซิน่าเวยปั๋ว)
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ เคยรายงานว่า นายเหลียง เจิ้นอิง ว่าที่ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกำลังถูกโจมตีเกี่ยวกับถ้อยแถลงในการรณรงค์การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหลียงเคยกล่าวโจมตีคู่แข่งในข้อหาปลูกสร้างสิ่งผิดกฎหมายในบ้าน แต่ต่อมาพบว่าเหลียงมีสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมายมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง อยู่ในอาณาเขตบ้านเสียเอง จึงเข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”

พรรคประชาธิปัตย์ฮ่องกง ยื่นคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือให้มีการตรวจสอบความชอบธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้พรรคฯ ระบุว่านายเหลียงกระทำความผิดจากถ้อยแถลงเมื่อครั้งรณรงค์หาเสียงที่กล่าวว่า เขาไม่มีสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายในบ้าน ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายเหลียงออกมาขอโทษขอโพยประชาชน แต่ก็ยืนยันว่าไม่เคยต้องการปกปิดสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายไว้ภายในบ้านของตัวเอง

“ผมก็รู้สึกผิดในตัวเองนัก ผมขอโทษที่ทำให้ผู้สนับสนุนผมรู้สึกเสียใจ หลังจากผมซื้อบ้านหลังนี้มา ผมก็รู้เพียงว่าบ้านหลังนี้ไม่มีสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมาย ผมก็เลยไม่เคยคิดถึงเรื่องการตรวจสอบบ้าน”

ขณะที่ นายหลี่ วิง-ทัต พรรคประชาธิปัตย์ฮ่องกง ก็กล่าวว่า "สาธารณชนไม่อาจทำใจรับผู้ว่าฯ ที่พูดปด" ขณะที่ วิลลี่ ลัม นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า 2 - 3 ปีแรกของเหลียง คงจะบริหารงานด้วยความลำบากมาก

แม้ว่า บรรดาผู้สังเกตการณ์ จะกล่าวตรงกันว่า ฮ่องกงหลังกลับสู่จีนก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเสรี และมีความปลอดภัย แต่ก็มีหลายคนกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมือง การเลือกตั้ง สื่อสาธารณะ การศึกษาและระบบกฎหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นหนึ่งเดียว และการมาร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เมื่อวันอาทิตย์ กับการออกมาประท้วงของชาวฮ่องกงนับหมื่นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ สิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรมต่อผู้ต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ทั้งในฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่ ก็เป็นสัญญาณสะท้อนความคิดความคับข้องใจของประชาชนฮ่องกง
มลพิษอากาศ ที่นับวันเข้าขั้นวิกฤติหนัก และกำลังเปลี่ยนชื่อเสียงของฮ่องกงที่ได้รับการยกย่องให้เป็น เมืองหลวงแห่งทวีปเอเชีย ให้เป็นเมือง  หลวงแห่งมลพิษ ซึ่งล่าสุดเลวร้ายที่สุดในเอเชียไปแล้ว (ภาพรอยเตอร์ส)
ฮ่องกงในวันที่ปัญหามลพิษทางอากาศ "เลวร้ายที่สุดในเอเชีย"

ปัญหามลพิษอากาศในฮ่องกงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของคณะบริหารฯ ชุดใหม่นี้ ซึ่งหลายฝ่ายโทษว่า เป็นเพราะนายโดนัลด์ จัง หัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนก่อน ล้มเหลวในการแก้ปัญหามลพิษ สร้างความสูญเสียปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่สามารถทำตามมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก ในการควบคุมคุณภาพอากาศและลดมลพิษ ที่นับวันเข้าขั้นวิกฤติหนัก และกำลังเปลี่ยนชื่อเสียงของฮ่องกงที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "เมืองหลวงแห่งทวีปเอเชีย" ให้เป็นเมืองหลวงแห่งมลพิษ" ซึ่งล่าสุดเลวร้ายที่สุดในเอเชียไปแล้ว ชาวต่างชาติหลายคนต้องตัดสินใจย้ายถิ่นฐานออกจากฮ่องกง หลังมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

ผู้บริหารอาวุโสของธนาคารยูโรเปียนแบงค์ คนหนึ่งกล่าวว่า "คุณภาพอากาศฮ่องกงเลวร้ายมากขึ้น จนผมเปลี่ยนความตั้งใจเดิมที่จะอยู่ทำงานระยะยาวและอาศัยที่นี่เลย ไปอยู่เมืองอื่นดีกว่าที่ผมสามารถหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง" เขากล่าวพร้อมเสริมว่า สิงคโปร์ยังดูสะอาดและอากาศดีกว่ามาก

กลุ่ม Civic Exchange หน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลฮ่องกง ข้อมูลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษอากาศ 7,240 คน และอีกนับล้านคนที่นอนป่วยในโรงพยาบาล ระหว่าง 7 ปี ที่นายเฮนรี่ ถัง เป็นผู้ว่าฯ ฮ่องกง แม้ว่าเขาจะเคยให้คำมั่นมาตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้คำขวัญว่า "ฮ่องกงอากาศดี"

ไมค์ คิลเบิร์น ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมของ Civic Exchange กล่าวว่า "เป้าหมายและการดำเนินงานด้านมลพิษอากาศฯ ล้วนไม่ชัดเจน อ่อน และล่าช้าจนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อปีที่แล้วก็วัดปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ตามท้องถนน พบว่าพุ่งสูงมากจนเป็นสถิติฯ โดยปัญหามลพิษในฮ่องกงส่วนใหญ่ก็มาจากโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน การใช้รถยนต์ รวมทั้งโรงงานนับหมื่นๆ โรงทางฝั่งแผ่นดินใหญ่"

คริสเตียน โอเดบเจอร์ รองประธานหอการค้าฯ สวีเดน ในฮ่องกง กล่าวว่า "ถ้าจะยกฮ่องกงเป็นมหานครโลก จะต้องไม่เป็นในแบบมาตรฐานจีน แต่ควรจะมีแนวทางแบบกรุงลอนดอน"

อีวาน โอวหยัง ประธานหอการค้าสหรัฐฯ ในฮ่องกง เสริมว่า "ในสิงคโปร์นั้น เมื่อรัฐบาลจะวางนโยบายเพื่อหวังประสิทธิผลทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จะลงลึกรายละเอียดไปยังทุกภาคส่วนธุรกิจเลยทีเดียว ซึ่งตรงข้ามกับฮ่องกง และสิ่งที่เราต้องการคือนโยบายที่มีความชัดเจน มีบูรณาการและเป็นแผนระยะยาว"

ด้านแอนดรูว ไล รองผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "เรื่องนี้รัฐบาลตระหนักเสมอมา และไม่มีเหตุผลที่จะนิ่งดูดายกับปัญหา เราทุกคนก็ใช้ชีวตอยู่ที่นี่ หายใจอากาศเดียวกัน ทุกคนห่วง รัฐบาลก็ห่วง และยังคงมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อจัดการปัญหานี้"

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาของเหลียง เจิ้นอิง ในการบริหาร​เขตปกครองพิ​เศษฮ่องกง หลายฝ่ายก็เฝ้าติดตามว่าการประกาศจับมือระหว่าง ฮ่องกง มาเก๊า และกวางตุ้งของจีน จะแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศบนเกาะนี้ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น