เอเจนซี/ASTVผู้จัดการ – ชาวฮ่องกงลงขันซื้อโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ต้านกระแสชาวจีนแผ่นดินใหญ่แห่มาคลอด ชี้ผลาญภาษีราว 4 ล้านบาท ทุก 18 นาที สถิติชี้ปีที่แล้วแม่จากแผ่นดินใหญ่ 40,000 รายคลอดลูกที่ฮ่องกงหวังได้สิทธิ์พลเมือง อุณหภูมิขัดแย้งใกล้เดือด เปรียบคนจีนเป็น “ตั๊กแตน” สูบทรัพยากร
วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาในหน้าที่ 11 ของหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี หนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่จำหน่ายบนเกาะฮ่องกง ได้ตีพิมพ์โฆษณาชิ้นหนึ่งแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนจีนแผ่นดินใหญ่มีค่านิยมเดินทางมาคลอดลูกที่ฮ่องกงกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโฆษณาชิ้นดังกล่าวเป็นภาพตั๊กแตนยักษ์เกาะอยู่บนหน้าผา กำลังมองลงมายังบรรดาตึกระฟ้าบนเกาะฮ่องกง
โฆษณาชิ้นดังกล่าวเปรียบชาวจีนเผ่นดินใหญ่กับฝูง “ตั๊กแตน” ที่เข้ามาดูดกินทรัพยากรของเกาะฮ่องกง พร้อมกับข้อความเป็นภาษาจีนระบุว่า
“คุณยอมให้คนฮ่องกงต้องจ่ายเงิน 1 ล้านเหรียญฮ่องกง ทุก 18 นาที เพื่อเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หรือ?”
“คนฮ่องกงอดทนมามากเกินพอแล้ว!”
นอกจากนี้บนโฆษณาชิ้นดังกล่าวยังบรรจุข้อความกล่าวเหน็บแนมชาวจีนแผ่นดินใหญ่อีกชุดใหญ่ คือ “เพราะเราเข้าใจว่าคุณเป็นเหยื่อของนมผงปนเปื้อนสารพิษ เราจึงอดทนให้คุณมาแย่งซื้อนมผงของพวกเราได้, เพราะเราเข้าใจว่าพวกคุณไม่มีเสรีภาพ เราจึงต้อนรับคุณให้มา ‘เที่ยวอย่างอิสระ’ ได้บนเกาะฮ่องกง, เพราะเราเข้าใจว่าระบบการศึกษาของพวกคุณนั้นล้าสมัย เราจึงแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาให้กับพวกคุณ, เพราะเราเข้าใจว่าพวกคุณอ่านอักษรจีนตัวเต็มไม่ออก ต่อไปนี้เราจึงใช้อักษรจีนตัวย่อ”
“เมื่อมาถึงฮ่องกง กรุณาเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย เพราะถ้าไม่มีฮ่องกงพวกคุณฉิบหายแน่”
พร้อมกันนั้นยังมีข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข มาตรา 24 ของกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในการปกครองและบริหารฮ่องกง ที่ระบุเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่รวมถึงพลเมืองถาวรและพลเมืองไม่ถาวร
“ขอยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรา 24 ของกฎหมายพื้นฐาน!”
“หยุดยั้งการรุกรานของหญิงท้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมาคลอดในฮ่องกงอย่างไม่มีการจำกัดปริมาณ!” โฆษณาต่อต้านชาวจีนแผ่นดินใหญ่ชิ้นดังกล่าวระบุ
ทั้งนี้ นอกจากจะเปรียบชาวจีนแผ่นดินใหญ่กับตั๊กแตนแล้ว โฆษณารณรงค์ชิ้นดังกล่าวใช้คำว่า “ซวงเฟย (双非)” แทนความหมายถึง พ่อกับแม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ใช่ชาวฮ่องกงทั้งคู่ ซึ่งบ่งบอกถึงกระแสนิยมของชาวจีนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่พยายามหาช่องว่างจากนโยบายลูกคนเดียว (One-child policy) ของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินมา 30 กว่าปี โดยชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีฐานะดีมักจะเดินทางมาคลอดบุตรบนเกาะฮ่องกง เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเป็นพลเมืองของทั้งแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกง
สถิติในปี 2554 ระบุว่า ปีที่แล้วมีแม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ราว 40,000 คน เดินทางมาคลอดลูกในโรงพยาบาลบนเกาะฮ่องกง เพื่อให้บุตรได้สิทธิ์ในการเป็นพลเมืองถาวรของฮ่องกง ตามวงเล็บ 1 ของมาตรา 24 ในกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงที่ระบุว่า ประชาชนชาวจีนที่เกิดในฮ่องกงก่อน หรือ หลังการก่อตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นพลเมืองถาวรของฮ่องกง
สำหรับ ค่าใช้จ่ายในการซื้อโฆษณาชิ้นดังกล่าวในหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี ที่มียอดผู้อ่านราว 288,000 ฉบับต่อวัน ถูกรวบรวมจากการบริจาคของสมาชิกกระดานข่าวบนโลกออนไลน์ของฮ่องกงที่ใช้ชื่อว่าโกลเดน ฟอรัม (Golden Forum) จำนวน 800 คน ในเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยสามารถรวบรวมเงินได้กว่า 100,000 เหรียญฮ่องกง (ราว 4 แสนบาท)
ราวสองเดือนที่ผ่านมานี้ กระแสความไม่พอใจชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในหมู่ชาวฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากหลายๆ กรณีเช่น กรณีแบรนด์หรูจากอิตาลีบนเกาะฮ่องกงอย่าง Dolce&Gabbana บนถนนแคนตัน เขตจิมซาจุ่ย กีดกันไม่ให้คนฮ่องกงถ่ายรูปหน้าร้าน แต่กลับยอมให้นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ถ่ายรูป จนเกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 55 จนในที่สุดทางร้านต้องออกมาขอโทษชาวฮ่องกง
คลิปวิดีโอชาวฮ่องกงหลายร้อยคนประท้วงที่หน้าร้าน Dolce&Gabbana เมื่อวันที่ 8 ม.ค.
ขณะที่ในเดือน ม.ค. 55 การให้สัมภาษณ์ดูถูกชาวฮ่องกงว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อจีน และยังมีทัศนคติในการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งนาม ศ.ข่ง ชิ่งตง รวมไปถึงการวิวาทะกันอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ที่เด็กชาวจีนแผ่นดินใหญ่นำบะหมี่แห้งขึ้นไปรับประทานบนรถไฟฟ้าใต้ดินของฮ่องกง และถูกชาวฮ่องกงฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากในระบบรถไฟใต้ดินของฮ่องกงห้ามมิให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มบนรถโดยสาร ก็ยิ่งกระพือกระแสความไม่พอใจดังกล่าวให้รุนแรงยิ่งขึ้น
คลิปวิดีโอชาวฮ่องกงกับนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่ทะเลาะกันบนรถไฟใต้ดิน MTR หลังมีเด็กชาวจีนทานบะหมี่แห้งในตู้โดยสาร
“ผู้คนเพียงต้องการที่จะปกป้องเมืองของพวกเขาเพื่อเด็กๆ ปกป้องระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุข ชาวฮ่องกงยินดีต้อนรับทุกๆ คน รวมถึงที่มาจากจีนด้วย เพื่อมาเที่ยวและมาซื้อของ แต่พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎของเรา ซึ่งนี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องออกมาพูดอะไรสักอย่าง” ชายชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการโฆษณารณรงค์ดังกล่าวให้ความเห็น