xs
xsm
sm
md
lg

‘คดีคอร์รัปชั่น’พัวพันจนท.ระดับสูงและธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เคนต์ อีวิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Landmark corruption trial looms in Hong Kong
By Kent Ewing
18/07/2012

ครั้งหนึ่งคณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของฮ่องกง (ไอซีเอซี) เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนครแห่งนี้ จากการเป็นแหล่งโสมมแห่งการทุจริต ให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทว่าในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ผลงานของหน่วยงานแห่งนี้ไม่ค่อยเข้าตาเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี เวลานี้ ไอซีเอซี กำลังกระโจนเข้าสู่สมรภูมิที่ใหญ่มาก ในระดับเป็นสมรภูมิแห่งชีวิตของตนเองทีเดียว เมื่อประกาศศึกกับตระกูลกว็อก เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีฐานะร่ำรวยเงินทองเหลือล้น แถมยังตั้งข้อหาเอากับอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสอันดับ 2 ของรัฐบาลฮ่องกงว่ากระทำผิดในคดีเดียวกันอีกด้วย การไต่สวนพิจารณาคดีคราวนี้จึงไม่ใช่มีเพียงจำเลยผู้ทรงอำนาจอิทธิพลเหล่านี้เท่านั้นที่นั่งอยู่ในคอกจำเลย หากแต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของฮ่องกงอีกด้วย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ฮ่องกง - สงครามครั้งใหญ่กำลังระเบิดขึ้นแล้วในฮ่องกง การสู้รบกันคราวนี้ ฝ่ายหนึ่งคือคณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (Independent Commission Against Corruption ใช้อักษรย่อว่า ICAC) [1] ของนครแห่งนี้ ซึ่งทั้งขาดแคลนเจ้าหน้าที่ทำงาน และทั้งมีผลงานไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าใดนักในระยะหลังๆ นี้ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ตระกูลทรงอำนาจอิทธิพลในระดับตำนานอย่างตระกูลกว็อก (Kwok) ผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีเงินทองความมั่งคั่งร่ำรวยระดับ 18,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีทีมทนายความแก้ต่างระดับยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่อภิมหาเศรษฐีจะซื้อหากันมาได้

เมื่อพิจารณาจากรูปโฉมภายนอกแล้ว การแข่งขันคราวนี้เหมือนกับเป็นการเปรียบมวยผิดคู่ และไม่น่าจะมีใครกล้าต่อรองราคาอะไรให้ลุ้นกันเลย อย่างไรก็ตาม ขอเตือนว่าอย่าประมาท อย่าเพิ่งขีดฆ่ามองข้ามเหล่านักปราบปรามการทุจริตของฮ่องกงที่ดูเหมือนกับถูกโอบล้อมไล่ต้อน

พวกเขาอาจจะไม่ได้กระเป๋าหนักเหมือนตระกูลกว็อก แต่พวกเขายืนยันหนักแน่นว่าพวกเขามีหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ดำเนินไปเป็นเวลา 9 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นในห้องประชุมคณะกรรมการบริหารของบริษัทซุนฮุงไค พร็อบเพอร์ตีส์ (Sun Hung Kai Properties หรือ SHKP) [2] ที่เป็นกิจการเรือธงของตระกูลกว็อก และนำไปยังสำนักงานของนักการเมืองผู้ทรงอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของนครนี้

ฉากเหตุการณ์อันน่าประหลาดพิศวงซึ่งปรากฏขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีห้องหนึ่งของศาลฮ่องกงเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็คือ ประธานร่วมและกรรมการผู้จัดการทั้ง 2 คนของบริษัทเอสเอชเคพี ได้แก่ โทมัส กว็อก ปิงกว่อง (Thomas Kwok Ping-kwong) ผู้อยู่ในวัย 60 ปี และ เรย์มอนด์ กว็อก ปิงหลวน (Raymond Kwok Ping-luen) ซึ่งมีอายุ 58 ปี ถูกตั้งข้อหากระทำความผิดตามกฎหมายให้สินบน ขณะที่ ราฟาเอล หุย ซีเหยียน (Rafael Hui Si-yan) อดีตหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (chief secretary) ของฮ่องกง [3] ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 64 ปี ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุดที่รับสินบนจากพี่น้องตระกูลกว็อกคู่นี้

ตามคำบรรยายฟ้องของพวกเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของ ไอซีเอซี ตั้งแต่ปี 2000 จนกระทั่งถึงปี 2009 พี่น้องตระกูลกว็อกคู่นี้ได้จัดหาอพาร์ตเมนต์หรูหราที่ให้อยู่ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และเงินอีกเกือบๆ 35 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นสินบนสมนาคุณให้แก่ หุย ในเวลาเดียวกัน เอสเอชเคพี ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกง (และน่าจะใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วย) โดยว่าจ้างพนักงานรวมแล้วมากกว่า 27,000 คน ก็ถูกกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ในรูปของการได้สิทธิพิเศษได้รับความเอื้อเฟื้อต่างๆ อย่างแล้วอย่างเล่าจากทางรัฐบาล

ยังมีผู้ต้องหาอีก 2 คนที่ถูกตั้งข้อหาในคดีนี้ด้วยเช่นกัน ได้แก่ โทมัส ชาน คุยเหยียน (Thomas Chan Kui-yuen) กรรมการบริหารของเอสเอชเคพี และ ฟรานซิส กวาน ฮุงแซง (Francis Kwan Hung-sang) อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของตลาดตราสารฟิวเจอร์สแห่งฮ่องกง (Hong Kong Futures Exchange) ซึ่งในเวลาต่อมาได้ควบรวมกิจการเข้ากับตลาดหลักทรัพย์ของนครแห่งนี้ กลายมาเป็น ตลาดหลักทรัพย์และเคลียร์ริ่งฮ่องกง (Hong Kong Exchanges and Clearing) ในขณะที่ผู้ต้องหา 2 คนหลังนี้ ต้องถือว่าเป็นปลาตัวใหญ่ด้วยเหมือนกัน แต่ โทมัส และ เรย์มอนด์ กว็อก ย่อมมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นปลาวาฬ ในคดีซึ่งน่าจะกลายเป็นคดีการไต่สวนความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของนครแห่งนี้

สำหรับพี่น้องตระกูลกว็อกอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนหัวปี ได้แก่ วอลเตอร์ กว็อก ปิงเซือง (Walter Kwok Ping-sheung) ในปัจจุบันเขามีอายุ 62 ปี เมื่อปี 2008 เขาถูกขับออกจากตำแหน่งประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของ เอสเอชเคพี สืบเนื่องจากความบาดหมางแตกร้าวในครอบครัวซึ่งทั้งน่าเกลียดและทั้งกลายเป็นข่าวเกรียวกราวเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนโดยทั่วไป วอลเตอร์ กว็อก ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาในคราวนี้ ถึงแม้ตัวเขาก็เฉกเช่นเดียวกับน้องๆ ผู้หมางเมินเหินห่างทั้ง 2 นั่นคือ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ ไอซีเอซี จับกุมตัว และถูกสอบสวน

ไอซีเอซี กล่าวหาว่า โทมัส และ เรย์มอนด์ กว็อก ได้แอบยักย้ายถ่ายเทเงินสดเป็นจำนวนเท่ากับเกือบๆ 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ หุย นอกเหนือจากการปล่อยเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้เป็นจำนวนมากกว่า 645,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และการจัดหาอพาร์ตเมนต์หรูหราที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 4,000 ตารางฟุต (ราว 370 ตารางเมตร) ให้อยู่แบบฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า อพาร์ตเมนต์แห่งนี้อยู่ในย่านแฮปปี้แวลลีย์ (Happy Valley) อันหรูหราของฮ่องกง และปัจจุบัน หุย ก็ยังคงพำนักอาศัยอยู่ที่นั่น

หุย ยังได้รับการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของ เอสเอชเคพี ก่อนที่จะเข้ารับบทบาทเป็นหัวหน้านักยุทธศาสตร์ในทีมงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ จาง ยัมเคือน (Donald Tsang Yam-kuen) เมื่อปี 2005 ซึ่งประสบความสำเร็จได้ขึ้นเป็นประธานผู้บริหารของนครฮ่องกง จนกระทั่งหมดวาระไปในปีนี้ หลังจากที่ จาง ได้ชัยชนะแล้ว หุย ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี แต่ได้ลาออกในปี 2007 เพื่อรับหน้าที่ในสภาบริหารซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประธานผู้บริหารของฮ่องกง โดยที่เขาทำหน้าที่นี้เป็นเวลา 2 ปี

ในระหว่างเวลาเหล่านี้ หุย ยังได้รับตำแหน่งเป็นประธานของคณะกรรมการนำร่อง ซึ่งมีหน้าที่จัดทำแผนให้แก่ เขตวัฒนธรรมเกาลูนตะวันตก (West Kowloon Cultural District) [4] ที่มีพื้นที่ประมาณ 40 เฮกตาร์ (ราว 250 ไร่) นับเป็นโครงการที่จะกลายเป็นธุรกิจซึ่งสร้างกำไรมหาศาลให้แก่พวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง เอสเอชเคพี โดยที่ประมาณการกันไว้ว่าจะต้องใช้จ่ายเงินในการก่อสร้างอย่างน้อยที่สุด 25,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

เรื่องที่ หุย มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับตระกูลกว็อก และกับพวกที่สามารถช่วยเหลือให้เข้าสู่แวดวงอำนาจของทางการนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันมานานแล้ว แต่ไม่มีใครเลยที่เคยตั้งคำถามเอากับเขาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการคบหาสมาคมเหล่านี้ จนกระทั่งถึงตอนนี้ จากการเคลื่อนไหวครั้งที่ห้าวหาญที่สุดครั้งหนึ่งของ ไอซีเอซี นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1974 หน่วยงานนี้ก็กำลังลากเอาตัวเจ้าพ่อธุรกิจผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง 2 คนขึ้นศาลด้วยข้อหาให้สินบน แถมยังพ่วงด้วยผู้อาวุโสในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองที่ได้รับความยกย่องชมเชยอย่างกว้างขวาง ซึ่งเมื่อไม่นามานี้ยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ใหญ่อันดับ 2 ของนครแห่งนี้อยู่เลย

ไอซีเอซีนั้น แรกเริ่มเดิมทีได้รับการจัดตั้งขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่ชำระล้างกรมตำรวจของฮ่องกงซึ่งมีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างเหม็นโฉ่เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ปรากฏว่าพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด โดยสามารถเปลี่ยนแปลงฮ่องกงจากนครที่เกลื่อนกลาดไปด้วยการทุจริต ให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ มานี้ ชื่อเสียงเกียรติคุณของคณะกรรมการอิสระแห่งนี้กำลังหม่นหมองลงไปไม่ใช่น้อยๆ ในขณะที่ตัวเลขอัตราส่วนการส่งฟ้องแล้วจำเลยถูกศาลตัดสินว่าผิดจริง (อยู่ในระดับ 88% ในปี 2010) ก็ลดต่ำลงท่ามกลางภาวะการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ทำงาน และการทำงานสอบสวนอย่างสะเพร่าผิดพลาด

กระทั่งพวกนักวิจารณ์ถึงกับตั้งคำถามขึ้นมาว่า จากการที่ผู้อำนวยการของ ไอซีเอซี (คนปัจจุบันนี้คือ ไซมอน เป่ย หยุนหลู Simon Peh Yun-lu ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเป็นข้าราชการมืออาชีพ) ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งโดยประธานผู้บริหารของนคร ดังนั้นหน่วยงานนี้สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความเป็นอิสระอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงอีกแขนขาหนึ่งของระบบราชการเท่านั้น

เคนต์ อีวิ่ง เป็นอาจารย์และนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ในฮ่องกง สามารถติดต่อเขาทางอีเมลที่ kewing56@gmail.com และติดตามเขาทาง Twitter: @KentEwing1

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
‘คดีคอร์รัปชั่น’พัวพันจนท.ระดับสูงและธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง(ตอนจบ)
ครั้งหนึ่งคณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของฮ่องกง (ไอซีเอซี) เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนครแห่งนี้ จากการเป็นแหล่งโสมมแห่งการทุจริต ให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทว่าในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ผลงานของหน่วยงานแห่งนี้ไม่ค่อยเข้าตาเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี เวลานี้ ไอซีเอซี กำลังกระโจนเข้าสู่สมรภูมิที่ใหญ่มาก ในระดับเป็นสมรภูมิแห่งชีวิตของตนเองทีเดียว เมื่อประกาศศึกกับตระกูลกว็อก เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีฐานะร่ำรวยเงินทองเหลือล้น แถมยังตั้งข้อหาเอากับอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสอันดับ 2 ของรัฐบาลฮ่องกงว่ากระทำผิดในคดีเดียวกันอีกด้วย การไต่สวนพิจารณาคดีคราวนี้จึงไม่ใช่มีเพียงจำเลยผู้ทรงอำนาจอิทธิพลเหล่านี้เท่านั้นที่นั่งอยู่ในคอกจำเลย หากแต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของฮ่องกงอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น