แม่น้ำถูเหมิน (图们江) ไหลเรื่อยจากบนยอดทางตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาฉางไป๋ในภาษาจีน หรือ ภูเขาเบคดู (Baekdu Mountain) ในภาษาเกาหลี ลัดเลาะผืนแผ่นดินเป็นระยะทางกว่า 520 กิโลเมตร ผ่านดินแดนของ 3 ประเทศประกอบไปด้วย จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ก่อนไหลลงไปบรรจบกับผืนมหาสมุทรอันไพศาล ณ ทะเลญี่ปุ่น
ชื่อของแม่น้ำถูเหมิน เดิมทีมาจากภาษาแมนจู และมีความหมายว่าเป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำทั้งมวล (万水之源)
สำหรับชาวเกาหลีเหนือ ภูเขาเบคดู (หรือ ภูเขาฉางไป๋ในภาษาจีน) ต้นธารของแม่น้ำถูเหมินถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวเกาหลีเหนือ ทั้งยังเป็นสถานที่เกิดของ คิม จองอิล อดีตผู้นำที่เพิ่งล่วงลับ มิตรสหายชาวจีนของผมเล่าให้ฟังว่า ภูเขาแห่งนี้ในฝั่งจีนแม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนที่มีผู้เดินทางมาเยือนจำนวนนับไม่ถ้วนในแต่ละปี แต่ในฝั่งเกาหลีเหนือ ภูเขาเดียวกันนี้มิใช่ว่าใครก็จะสามารถขึ้นมาชมทิวทัศน์อันงดงามของ “เทียนฉือ (天池; ทะเลสาบสวรรค์)” หรือทะเลสาบอันมหัศจรรย์ ณ ยอดเขาแห่งนี้ได้ เพราะสำหรับชาวเกาหลีเหนือแล้ว ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถูกสงวนไว้ให้กับบุคคลสำคัญ หรือผู้ที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ เช่น นักกีฬาเกาหลีเหนือที่ไปคว้าเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาสำคัญๆ อย่างโอลิมปิกหรือเอเชียนเกมส์เท่านั้น
ในเชิงภูมิศาสตร์ด้วยความที่เป็นจุดเชื่อมต่อของพรมแดนของประเทศถึง 3 ประเทศ ทั้งยังเป็นเส้นทางในการสัญจรออกสู่มหาสมุทรที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำถูเหมินและเขตถูเหมิน จึงกลายเป็นเขตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในหลากหลายมิติ
นับตั้งแต่ในปี 2534 (ค.ศ.1991) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศจีนได้จับมือกับมองโกเลีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ เพื่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำถูเหมินขึ้นมา อันส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมากถึง 300 ล้านคน
ในแง่มุมของจีนเอง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำถูเหมิน” ตั้งอยู่ใน เขตปกครองตนเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียน (延边朝鲜族自治州) มณฑลจี๋หลิน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
“เหยียนเปียน” เป็น 1 ใน 9 เขตปกครองของมณฑลจี๋หลิน ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดถึง ราว 42,700 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดราว 1 ใน 12 ของประเทศไทยทั้งประเทศ มีประชากรทั้งสิ้นราว 2.18 ล้านคน โดยในจำนวนประชากรสองล้านกว่าคนนี้มีประชากรที่มีเชื้อสายเกาหลีมากถึงราว 798,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับประชากรทั้งหมดถึงร้อยละ 36.5
ด้วยความที่เหยียนเปียนเป็นถิ่นฐานของประชากรชาวจีนเชื้อสายเกาหลีจำนวนมากถึงเกือบ 8 แสนคน (หรือเท่ากับร้อยละ 43 ของชาวจีนเชื้อสายเกาหลีทั่วประเทศจีน) ประกอบกับลักษณะเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ติดชิดกันกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ รัสเซียและเกาหลีเหนือ ทำให้เหยียนเปียนมีพรมแดนที่มีความยาวถึง 768.5 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นพรมแดนจีน-เกาหลีเหนือ 522.5 กิโลเมตร พรมแดนจีน-รัสเซีย 246 กิโลเมตร และมีด่านบริเวณพรมแดนรวมทั้งสิ้น 12 ด่าน
ปี 2555 (ค.ศ.2012) นี้ ถือเป็นปีที่มีความสำคัญต่อเขตปกครองเหยียนเปียนมาก เพราะถือเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งเขต ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2495 (ค.ศ.1952) ด้วยเหตุนี้พวกเราคณะสื่อมวลชนไทยเมื่อเดินไปตามท้องถนนใน เมืองเหยียนจี๋ (延吉) เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียนจึงสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ความศิวิไลซ์ และความน่าตื่นตาตื่นใจที่หลั่งไหลเข้ามายังเมืองชายแดนแห่งตะวันออกไกลนี้อย่างที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นจากเมืองชายแดนแห่งหนึ่ง
ด้วยความที่เป็นพื้นที่ชายแดนหน้าด่าน ที่มีความหลากหลาย และเปิดรับเข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ค่อนข้างมาก ทำให้ประชากรของเหยียนเปียนค่อนข้างจะกระตือรือร้นและมีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง
คุณเว่ย ย่าลี่ รองผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเหยียนเปียนเปิดเผยกับเราว่า ครอบครัวของชาวจีนเชื้อสายฮั่นและชาวจีนเชื้อสายเกาหลีของเหยียนเปียนให้ความสำคัญกับการศึกษามาก โดยปกติแล้วคนที่นี่จะส่งลูกไปโรงเรียนสองภาษา คือ “จีน-เกาหลี” และมีการเรียนเพิ่มเติมภาษาต่างประเทศอื่นๆ โดยภาษาที่เป็นที่นิยมคือ อังกฤษ รัสเซีย หรือญี่ปุ่น เนื่องจากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำถูเหมินนี้ ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ฯลฯ
จากเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดังที่กล่าวมา ทำให้หน้าที่และภารกิจของ “สื่อสารมวลชน” ในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้มีความแตกต่างกับสื่อมวลชนในส่วนอื่นๆ ไปโดยปริยาย
สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเหยียนเปียน (延边卫视; YBTV) เริ่มดำเนินการแพร่ภาพผ่านดาวเทียมวันละ 24 ชั่วโมง ในปี 2549 (ค.ศ.2006) โดยในการสัดส่วนของการเผยแพร่แบ่งเป็นสองภาษาคือ ภาษาจีนกลาง และภาษาเกาหลีอย่างละครึ่ง โดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายคือ ชาวจีนทั่วไปและชาวจีนเชื้อสายเกาหลีที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ในเชิงเทคนิคขอบเขตพื้นที่การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งนี้ครอบคลุมจำนวนประชากรประมาณ 100 ล้านคน
คุณจิน หนานหลง (ในภาษาเกาหลีคือ แซ่คิม) ชาวจีนเชื้อสายเกาหลีรูปร่างสูงใหญ่ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเหยียนเปียน เปิดเผยว่า ทางโทรทัศน์เหยียนเปียนผลิตและถ่ายทอด ข่าว ละคร สารคดี รายการทั่วไป รายการสำหรับเด็ก ฯลฯ โดยเผยแพร่เป็นสองภาษาคือ จีนกลางและเกาหลีในรูปแบบของการพากษ์เสียงทับและใส่บทบรรยาย ขณะที่ข่าวภาคค่ำในช่วงเวลา 19.30น. ซึ่งเป็นช่วงข่าวที่สำคัญที่สุดในแต่ละวัน โทรทัศน์เหยียนเปียนใช้วิธีการดึงสัญญาณถ่ายทอดมาจากสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) ก่อนที่จะนำมาออกอากาศซ้ำโดยแปลภาษาเกาหลีอีกครั้งในช่วงเวลา 22.00น.
ตัวอย่างรายงานข่าวเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนฮ่องกงในเขตเหยียนเปียน โดยสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเหยียนเปียน
“พนักงานที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเกาหลี และพูดภาษาเกาหลีได้ แม้ว่าในแต่ละปีเราจะได้งบประมาณไม่มาก อย่างปีที่แล้วเราได้รับงบประมาณจากภาครัฐประมาณ 13.8 ล้านหยวน (ประมาณ 70 ล้านบาท) แต่ภารกิจของเราก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว”
ไม่เพียงแต่การใช้สื่อโทรทัศน์และวิทยุเพื่อเข้าถึงมวลชนในระดับท้องถิ่น รัฐบาลกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลของเขตปกครองตนเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียนยังให้ความสำคัญกับภารกิจของสื่อกระดาษ อย่างหนังสือพิมพ์อีกด้วย
หนังสือพิมพ์ถูเหมินเจียง (图们江报) ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายสื่อเพื่อตอบสนองภารกิจในการเผยแพร่ข่าวสาร สานสัมพันธ์กับมวลชนในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากภาครัฐ และเชื่อมสัมพันธ์กับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน
คุณอิ่น เซิงซาน บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ถูเหมินเจียง บอกว่าหนังสือพิมพ์ของเขาเป็นหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นเล็กๆ ที่มียอดจำหน่ายเพียงวันละหมื่นกว่าฉบับ และมีพนักงานทั้งหมดเพียง 50 กว่าคน อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็คือ ภารกิจในการเผยแพร่ข่าวสารออกเป็น 3 ภาษาคือ จีน-เกาหลี-รัสเซีย
“หนังสือพิมพ์รายวันถูเหมิน ภาคภาษาจีนของเราราคาฉบับละ 1 หยวน พิมพ์ออกจำหน่ายตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ ขณะที่เสาร์-อาทิตย์จะเป็นฉบับสุดสัปดาห์ โดยเนื้อหาในวันธรรมดาก็เน้นข่าวการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์ก็จะให้ความสำคัญกับข่าวบันเทิงและสังคมเป็นหลัก” บก.บห.นสพ.ถูเหมินเจียงระบุและว่า ส่วนหนังสือพิมพ์ถูเหมินฉบับภาษาเกาหลีและภาษารัสเซียนั้นเป็น Free Copy หรือแจกฟรี โดยออกวางแผงสัปดาห์ละหนึ่งครั้งในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย ในแถบรัฐพรีมอสกีไคร ซึ่งมีเมืองศูนย์กลางคือวลาดีวอสตอก (Vladivostok) และประเทศเกาหลีใต้
“แม้หนังสือพิมพ์ถูเหมินเจียงจะเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่สำนักงานขอเราถือเป็นสำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวในประเทศจีนที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่หนังสือพิมพ์ออกเป็นภาษาต่างๆ ถึง 3 ภาษา และแม้ว่าเราก็มีความยากลำบากบ้างในการจัดสรรบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อภารกิจในการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ออกเป็นภาษาต่างประเทศ แต่เราก็จะต้องขยายงานต่อไป โดยในช่วงปลายปีนี้ (2555) เราจะเปิดเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ถูเหมินเจียงอย่างเป็นทางการ” คุณอิ่นอธิบาย
ณ ฝั่งตรงกันข้ามกับสำนักงานของหนังสือพิมพ์ถูเหมินเจียง ......
ลำโพงของสถานีขนส่งผู้โดยสารนานาชาติหุนชุนกำลังประกาศเรียกผู้โดยสารขึ้นรถ ห่างออกไปไม่กี่สิบกิโลเมตรคือ “หมู่บ้านฝังชวน (防川; หมู่บ้านพิทักษ์ลำน้ำ)” จุดที่ดินแดนของ “จีน-รัสเซีย-เกาหลีเหนือ” สามประเทศ มาบรรจบพบกัน