xs
xsm
sm
md
lg

UNDP รุกวิจัยกฎหมายชายแดนใต้ เทียบรัฐ-NGO ใครเข้าถึงชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - UNDP ร่วม STEP และ ศอ.บต. หนุนวิทยาลัยอิสลาม ม.อ.ทำแผนช่วยประชาชนด้านกฎหมายชายแดนใต้ ศึกษารูปแบบการให้ความรู้ของรัฐและภาคเอกชน เผยทั้ง 2 ฝ่ายยังทำงานไร้เอกภาพ ผู้ใช้กฎหมายมีปัญหา ภาคประชาชนยังมองแคบ แต่ช่วยอุดช่องโหว่กระบวนการยุติธรรม

วานนี้ (23 พ.ค.) ที่ห้องประชุมอีหม่ามฆอซาลีย์ อาคารนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยอิสลามศึกษาได้จัดเวทีระดมความเห็น “แผนยุทธศาสตร์การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเชิญรุก” โครงการเสริมสร้างการตระหนักด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประจำชาติ (UNDP) โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

น.ส.วิปัญจิต เกตุนุติ ผู้จัดการ STEP เปิดเผยว่า UNDP ร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษา จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักด้านการให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมด้านกฎหมายของคนในชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะศึกษารูปแบบการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เช่น มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสิลม สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ อัยการ ตำรวจ และศาล

จากนั้น ทางโครงการจะสรุปจากการระดมความคิดเห็นเป็นรายงาน และทำข้อนำเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อหน่วยงานส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการนี้มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2555

นายสุทธิศักดิ์ ดือเระ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างการตระหนักด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า โครงการนี้ มีผลผลิต 4 ชิ้น ได้แก่

1.การทำแผนที่ (Mapping) ขององค์กรที่ช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2.จัดทำแผนยุทธศาสตร์การช่วยเหลือเชิงรุกทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3.จัดทำแผนยุทธศาสตร์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความตระหนักในด้านกฎหมาย

4.จัดทำคู่มือสำหรับผู้ช่วยทนาย หรือผู้คู่มือกฎหมายสำหรับผู้สนใจเรื่องกฎหมาย

โดยทั้ง 4 ชิ้นจะต้องส่งให้ UNDP ภายในเดือนกรกฎาคม 2555 จากนั้นจะแบ่งกลุ่มองค์กรช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการระดมความคิดเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเชิงรุก
เวทีระดมความเห็นของกลุ่มภาครัฐ ในโครงการเสริมสร้างการตระหนักด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ผศ.ดร.นิเลาะ แวอุเซ็ง อาจารย์คณะวิทยาลัยอิสลามศึกษาและทีมงานโครงการ กล่าวสรุปการระดมความเห็นของกลุ่มภาครัฐว่า มีจุดแข็ง คือ มีงบประมาณ มีบุคลากรที่มีความรู้ มีความพร้อมที่จะทำงานเชิงรุก ส่วนจุดอ่อน คือ บุคลากรโดยเฉพะเจ้าหน้าที่ระดับชุมชนไม่มีความรู้เรื่องการบังคับกฎหมาย ขาดในจิตสำนึก มีความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน กับเจ้าหน้าที่กันเอง และกับประชาชนกันเอง ไม่สามารถบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานได้ ขาดความเป็นทีม และการประสานระหว่างหน่วยงานมีปัญหามีขั้นตอนที่ล่าช้า

ผศ.ดร.นิเลาะ สรุปอีกว่า ประชาชนในพื้นที่ยังไม่สามารถใช้กฎหมายเป็นประโยชน์ได้ ถือเป็นโอกาส เพราะประชาชนที่นี่เป็นมุสลิม 80 เปอร์เซ็นต์ มีวิถีอิสลาม และยึดหลักความเป็นพี่น้อง หากสามารถใช้โอกาสนี้นำกฎหมายมาสร้างความเข้มแข็งในการแก้ปัญหาได้ จะสร้างความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานภาครัฐได้ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ให้เครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนรวมมากที่สุด มีเจ้าภาพที่ชัดเจน สร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐ สามารถบูรณาการและทำงานเป็นทีม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว

นายฮาฟิต สาและ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี และทีมงานของโครงการ กล่าวสรุปของกลุ่มภาคประชาชนว่า จุดแข็ง คือมีบุคลากรที่เป็นคนในพื้นที่ รู้ภาษาของคนในพื้นที่ มีจิตอาสาจึงได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน มีการลงพื้นที่แม้พื้นที่เสี่ยง บางองค์กรมีการพัฒนาองค์กรและบุคลากรทีเป็นมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับข้อมูล มีการศึกษาวิจัย และนำผลวิจัยมาใช้

ส่วนจุดอ่อน คือ ไม่มีการประสานงานระหว่างองค์กรในพื้นที่ ไม่มีงบประมาณ บางองค์กรไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย ขาดนักวิชาการมาอธิบายปรากฏการณ์ โดยเฉพาะมิติทางสังคม เพราะองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายเองก็ยังมีความคิดที่จำกัด มองแต่ในเชิงคดี ไม่มีความแหลมคมในภาพกว้าง

นายฮาฟิต กล่าวสรุปด้วยว่า ส่วนโอกาสคือมีเครือข่ายกว้างขวางและชาวบ้านยอมรับมากขึ้น เพราะมีการพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งเป็นที่ค้นหาของคนในพื้นที่มาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามพัฒนากระบวนการยุติธรรม และพยายามอุดช่องโหว่ให้กระบวนการยุติธรรมของภาครัฐ ที่สำคัญ ประชาชนเริ่มเข้มแข็งและกล้าหาญมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการทำงานของภาคประชาสังคม

ส่วนอุปสรรค คือ การทำงานของเครือข่ายยังไม่มีเอกภาพเช่นเดียวกับภาครัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ ขณะที่ผู้ใช้กฎหมายเองก็มีปัญหา เพราะใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมองอีกฝ่ายว่าให้ความช่วยเหลือฝ่ายตรงข้าม

กองบรรณาธิการ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น