xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 6 งานวิจัยสื่อ ม.อ.ปัตตานี พบ “ใต้สันติสุข” มาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิด 6 งานวิจัยสื่อจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี พบเคเบิลทีวีขยายตัวเพียบ ชายแดนใต้มีให้ชมถึง 80 ช่อง โดยอุปสรรคใหญ่ คือ ขาดแคลนบุคลากรผลิตรายการท้องถิ่น และพบรายการวิทยุโทนสันติภาพมาแรง รายการสุดฮิต “ใต้สันติสุข” นำลิ่ว

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 09.00-12.00 น.ที่คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสารได้จัดเสวนา “ก้าวย่างสู่วาระชุมชน (STEP into the local Community)” ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในเขตภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation - STEP) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

ในการเสวนาครั้งนี้ มีการนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สื่อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของอาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสารรวม 6 หัวข้อ ประกอบด้วย

1.การสำรวจสถานภาพสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นและโทรทัศน์บอกรับสมาชิกใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดย นายภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา

2.สถานภาพบทบาทการดำเนินงานและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสื่อวิทยุเพื่อร่วมสร้างสันติภาพใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดย ผศ.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว

3.สถานภาพ บทบาท และศักยภาพของสื่อพื้นบ้านในฐานะสื่อทางเลือกเพื่อการพัฒนาสังคมภาคใต้ โดย นางจารียา ออรถนุชิต

4.ขีดความสามารถของสื่อและการนำเสนอข่าวออนไลน์ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย น.ส.ฐิติมา เทพญา

5.การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย อาจารย์สากีเราะ แยนา เบ็ญฮารูน

6.สื่อมวลชนกับการสร้างเสริมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทบาทที่เป็นจริง บทบาทที่ควรจะเป็น และเส้นทางการสื่อสารเพื่อสันติภาพ โดย นายสมัชชา และนางบัณฑิกา นิลปัทม์

โดย นายภีรกาญจน์ นำเสนอผลการวิจัยว่า ขณะนี้เคเบิลทีวีท้องถิ่นมีช่องให้ชมมากถึง 60-80 ช่องรายการ บางบริษัทมีการผลิตรายการตอบสนองความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในท้องถิ่นด้วย ขณะที่สมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนอยู่ระหว่าง 200-350 บาทต่อเดือน

โดยจากการสำรวจสถานภาพสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นและโทรทัศน์บอกรับสมาชิกใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) พบว่าจุดแข็งของเคเบิลท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างคือ ผู้ประกอบการมีพื้นฐานทางธุรกิจ มีรายได้ที่แน่นอนจากค่าสมาชิก สามารถนำมาวางแผนการประกอบการทางธุรกิจได้ สามารถขยายธุรกิจประเภทที่ใกล้เคียงกันได้ ทั้งยังสามารถขยายจำนวนสมาชิกในพื้นที่ใกล้เคียงเขตเมืองได้อีกด้วย

และสำหรับจุดอ่อนอยู่ที่ขาดแคลนบุคลากรในการผลิตเนื้อหาทั้งข่าวและรายการ บุคลากรขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงานทำให้มีการลาออกบ่อยครั้ง ขาดประสบการณ์และขาดความเป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบการขาดความรู้พื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ การบริหารองค์กรขาดหลักการ แต่มีความยืดหยุ่นสูง รายการท้องถิ่นมีน้อย ส่วนโอกาสการมีสื่อมวลชนท้องถิ่นที่สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและราคาถูกลง การมีสถาบันทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ในพื้นที่ทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาข่าวสารมากขึ้น หน่วยงานรัฐเริ่มให้ความสำคัญในการเป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น คู่แข่งธุรกิจในลักษณะเดียวกันน้อยลง และสามารถขยายตลาดออกไปได้อีก

ส่วนอุปสรรคของเคเบิลทีวีท้องถิ่น คือ การแข่งขันทางธุรกิจกับโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการถูกกว่า จ่ายเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องจ่ายรายเดือน ธุรกิจเคเบิลระดับชาติเดินเกมรุกด้านการตลาดมากขึ้น จัดทำโปรโมชันลดแลกแจกแถม โดยผูกกับโทรศัพท์มือถือ ทั้งกฎหมายยังขาดความชัดเจนในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ และประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคสื่ออื่นมากขึ้น นายภีรกาญจน์ กล่าว

ด้าน นางจารียา นำเสนอผลการวิจัยว่า การวิจัยสถานภาพ บทบาท และศักยภาพของสื่อพื้นบ้านในฐานะสื่อทางเลือกเพื่อการพัฒนาสังคมภาคใต้ พบว่า ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ ทั้งหนังตะลุง หนังตะลุงคน และดิเกร์ฮูลู ไม่สามารถหารายได้จากการประกอบอาชีพการแสดงได้เพียงอย่างเดียว ต้องประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วย แต่เนื่องจากสื่อพื้นบ้านเหล่านั้นมีใจรัก ผูกพัน และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสื่อพื้นบ้าน ทำให้ศิลปินพื้นบ้านมีภาระต้องสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เพื่อให้สื่อพื้นบ้านยังคงอยู่ แม้จะอยู่ในสภาพย่ำแย่ และต้องพึ่งพิงรายได้จากการประกอบอาชีพอื่นก็ตาม สื่อพื้นบ้านกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ ต้องการการหนุนช่วยทั้งด้านวัตถุ การเพิ่มช่องทาง และการเสริมความรู้ ความคิด และความเข้าใจ

จากรายงานการวิจัยศิลปินพื้นบ้าน ระบุว่า รายได้จากการแสดงมาจากหน่วยงานที่เชิญสื่อพื้นบ้านไปจัดแสดง ซึ่งมีตั้งแต่หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล สภาวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น วัด โรงเรียน กลุ่มประชาชน กลุ่มศิลปินพื้นบ้านเสนอแนะว่า หน่วยงานรับผิดชอบต้องตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของสื่อพื้นบ้านอย่างแท้จริง และต้องสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปอย่างจริงจัง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ยังเป็นอีกช่องทางที่ทำให้สื่อพื้นบ้านสามารถทำหน้าที่สืบทอดคุณค่าในฐานะของครูภูมิปัญญา ดังเช่น ที่คณะดิเกร์ฮูลูมะยะหา และคณะแหลมทรายได้ดำเนินการไปแล้ว

จากการศึกษาสื่อพื้นบ้านภาคใต้ ยังพบว่าผู้ที่เป็นศิลปินจะเอาใจใส่ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคม และนำเอามาสอดแทรกในเนื้อหาของสื่อ มีการแลกเปลี่ยนเคล็ดลับฝีมือการแสดงกับเครือข่ายเพื่อนศิลปินด้วยกัน โดยอาจจะถือโอกาสในช่วงของการประกวด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาความรู้ พบว่าความรู้ที่ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ต้องการจะเป็นความรู้ที่เป็นความสนใจหลักของศิลปิน เช่น การปรับปรุงศิลปะการแสดง และความรู้ทั่วไปในสังคมที่ศิลปินต้องติดตามเพื่อคงสถานภาพความเป็นผู้นำทางความคิดหรือความเป็นปัญญาชนของชุมชนเอาไว้

ด้าน ผศ.อรุณีวรรณ นำเสนอผลการวิจัยว่า พบว่ารายการที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะของการผลิตสื่อสันติภาพ คือ รายการใต้สันติสุข และยังมีรายการวิทยุอีกหลายรายการที่ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสังคม สาเหตุที่ทำให้รายการใต้สันติสุขกล่าวถึงกันมาก เพราะนอกจากเนื้อหาจะเน้นการสื่อสารเรื่องสันติภาพโดยตรงแล้ว การออกอากาศยังเป็นลักษณะของเครือข่ายโดยการสลับกันเป็นแม่ข่ายและเปิดโอกาสให้สถานีวิทยุอื่นๆ รับสัญญาณไปถ่ายทอดต่อได้ง่าย

“จากการศึกษายังพบอีกว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง มีสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก และสถานีเหล่านั้นก็มีความพร้อมในด้านการจัดการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากดึงสถานีวิทยุเหล่านั้นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาและสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆ ด้วย” ผศ.อรุณีวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น