xs
xsm
sm
md
lg

JDA โมเดล...แน่ใจหรือว่าประเทศได้ประโยชน์??? (2)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

                        ภาพประกอบที่ 1
ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่ยังค้างคาใจสำหรับผู้ที่ติดตามกรณีพื้นที่ JDA (พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) ก็คือ เราใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัวกำหนดพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ซึ่งหากเราดูตามแผนที่และลากเส้นจากฝั่งอ่าวไทยออกไปในทะเล ที่ระบุเป็นเส้นรุ้งเส้นแวงเราจะพบว่าพื้นที่บนสุดของพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว อยู่ตรงกับพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ตอนล่างสุดของพื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนนั้น อยู่ตรงกับอำเภอปานาเระ ในจังหวัดปัตตานี

คำถามจึงมีว่าพื้นที่ประเทศไทยยังมีจังหวัดนราธิวาสอีกหนึ่งจังหวัดจะถึงเขตแดนของมาเลเซีย แล้วประเทศมาเลเซียมามีผลประโยชน์ได้อย่างไร มันทับซ้อนจากการแบ่งพื้นที่โดยกติกาอะไร ใครเป็นผู้กำหนด มีการอ้างกฎกติการะหว่างประเทศมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือการลากเส้นตรงจากสายน้ำอันเป็นเขตแดนคือแม่น้ำสุไหงโก-ลก (ดูภาพประกอบที่ 1) ปรากฏว่าเส้นตรงถูกลากเฉียงขึ้นมาในพื้นที่ฝั่งไทย แต่ในขณะเดียวกันหากเราใช้ข้อกำหนดนี้ไปใช้ในฝั่งอันดามันที่เป็นการแบ่งเขตแดนในทะเลระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียที่จังหวัดสตูล เราก็จะพบว่าหากใช้มาตรฐานดังกล่าว เกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซียในปัจจุบันก็จะต้องเป็นของประเทศไทย..???

ถ้าฟังข้อมูลจากพื้นที่ยกกรณีพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียที่อำเภอสะเดา ตรงปาดังเบซาร์ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่สะท้อนมาตลอดว่าเคยเป็นพื้นที่ของเรามาแต่โบราณ แต่ในยุคหนึ่งฝ่ายทหารได้ตกลงกับฝ่ายมาเลเซียกันเขตแดนใหม่กินพื้นที่เข้ามาในฝั่งไทยจำนวนมาก ทำให้คนไทยที่เป็นชาวสวนต้องสูญเสียที่ดินอันเป็นของบรรพบุรุษ สุดท้ายมีพื้นที่เพียงเล็กน้อยที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่เรียกกันว่า No Man ’s Land ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในลักษณะของการสำรวจที่หาข้อยุติได้เพราะอยู่ในพื้นที่ชุมชนของทั้งสองประเทศ และมีกติการะหว่างประเทศมากมายที่จะนำมาตัดสินได้ ซึ่งน่าจะง่ายกว่าพื้นที่ในทะเล แต่เราก็ไม่สามารถจัดการได้ หรือผลประโยชน์มันไม่มากพอเหมือนแหล่งก๊าซและน้ำมันที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจะมาจัดสรรแบ่งปันกันใช่หรือไม่...???

การใช้วาทกรรมที่ว่า “แบ่งกันคนละครึ่ง” (50:50) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ดูจะทำให้ผู้ที่รับสาส์นรู้สึกดี รู้สึกว่ามีความเป็นธรรม มีความชอบธรรมที่ดีที่สุด ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายๆ กรณี กรณีพื้นที่พัฒนาร่วมในแหล่ง JDA ก็ได้นำเอาวาทกรรมนี้เข้ามาใช้เช่นกัน และกำลังจะนำเอาวาทกรรมนี้มาใช้กับพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาตามข้อเสนอของ UNDP ที่เคยเสนอไว้ใน นสพ.Mekong Times ของกัมพูชา ฉบับวันที่ 27 มี.ค. 51 ที่รายงานว่า ในการประชุมของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เรื่อง Fuelling Poverty Reduction with Oil and Gas Revenues ที่พนมเปญ จนท.UNDP เสนอแนะว่า รูปแบบพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ซึ่งไทย-มาเลเซีย ตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดอันจะนำไปสู่การเริ่มพัฒนาแหล่งทรัพยากรดังกล่าว เนื่องจากช่วยลดความตึงเครียดทางการเมือง และเพิ่มความเชื่อมั่นของนัก ลงทุน 
 
ที่นี้เรามาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงว่าเป็นอย่างไร ในสัญญาการแบ่งผลประโยชน์จากก๊าซในแหล่งพื้นที่ JDA ของแหล่งก๊าซแปลงที่ A-18 เป็นดังนี้ (ดูภาพประกอบที่ 2 )
                        ภาพประกอบที่ 2
1. ค่าภาคหลวง 10% (รับผ่านองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งจะนำมาแบ่งให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียฝ่ายละ 5%)

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซึ่งบริษัทผู้รับสัมปทานลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะนั้นจะถูกหักออกตามจริง แต่ไม่เกิน 50% (หากปีใดหักน้อยกว่า 50% ส่วนต่างที่เหลือจะนำไปเพิ่มในกำไรสุทธิตามข้อ 3)

3. กำไรสุทธิ 40% (หรือมากกว่า กรณีหักค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 ต่ำกว่า 50% จะแบ่งครึ่งระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 20% และกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทาน 20%)

เพราะบริษัทผู้รับสัมปทานก็คือบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซียกับบริษัทไตรตันออยล์ของอเมริกา

การแบ่งกันตามวาทกรรมที่ว่าฝ่ายละ 50:50 จริงๆ แล้วประเทศไทยได้รับผลประโยชน์โดยตรงไม่เกิน 15-20% นอกนั้นก็ได้ค่าภาษีบำรุงท้องที่สำหรับพื้นที่ที่ตั้งโครงการอีกเล็กน้อย ที่พอเป็นรายได้อื่นๆ เช่น ค่าผ่านท่อซึ่งอยู่ในมือของ ปตท.ซึ่งวันนี้ 49% ก็ถูกแปรรูปกลายเป็นของผู้ซื้อหุ้นเอากำไรไปแบ่งกัน ซึ่งวันนี้สังคมไทยก็รับรู้กันเป็นส่วนใหญ่แล้วว่ามีนักการเมือง กลุ่มทุนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับผลประโยชน์

ข้อสังเกตหนึ่งจาก นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์วัฒนา ที่ว่า “การกำหนดให้มาตั้งโรงแยกก๊าซที่ฝั่งประเทศไทย ในขบวนการแยกก๊าซจะเกิดสารก่อมลพิษหลายชนิด เช่น CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์), SO2 (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์), NO2 (ไนโตรเจนไดออกไซด์) ฯลฯ และสารเคมีอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยต้องเป็นผู้แบกภาระในการแก้ไขปัญหามลพิษดังกล่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แม้ว่ามาเลเซียจะร่วมออกเงิน 50% แต่มลพิษทั้งหลาย ประเทศมาเลเซียไม่ต้องแบกรับเลยสักนิดเดียว

โดยเฉพาะก๊าซ CO2 จะมีปริมาณที่แยกทิ้งสู่ชั้นบรรยากาศตกวันละ 4,900 ตัน/วัน/โรงแยก (มี 2 โรงแยกก๊าซ) รวมทั้งสิ้น 9,800 ตัน/วัน ก๊าซดังกล่าวเมื่อปล่อยทิ้งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะเกิดปัญหาภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) ซึ่งจะกลายเป็นภาระหนักที่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบตามสนธิสัญญาเกียวโต 1997 ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้ นั่นหมายความว่า ถ้าหากเราปล่อยก๊าซ CO2 มากเกินขนาดที่ได้ตกลงกันไว้ เราจะต้องไปลดก๊าซ CO2 ที่ปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต”

การพยายามเร่งรัดในการกำหนดพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซและน้ำมัน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมของประเทศ ไม่ว่าเรื่องเขตแดน เรื่องพื้นที่ทับซ้อนตามกฎกติกาที่เป็นสากล หรือการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายถึงความเป็นธรรมของฝ่ายประชาชนของทั้งสองประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียงของกลุ่มนักการเมืองของทั้งสองประเทศที่มีทุนข้ามชาติหนุนหลังเหมือนที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น