xs
xsm
sm
md
lg

4 ล้านคน ไม่รู้หนังสือ!!! เรื่องจริงในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อจู่ๆ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือที่รู้จักกันดีในนาม กศน.ก็มาประกาศผลวิจัยที่สร้างแรงสั่นสะเทือนระบบการศึกษาในเมืองไทยอย่างรุนแรงที่สุด

เหตุเพราะองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ทำการสำรวจพบว่ามีประชากรไทยที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้สูงกว่า 4,000,000 คน หรือ 6.3 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งประเทศเลยทีเดียว หรือจะพูดง่ายๆ ว่าประเทศนี้มีคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากกว่าคนในจังหวัดนครราชสีมารวมกันเสียอีก

แน่นอน จากจำนวนที่เยอะแยะเช่นนี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนมากต่างเชื่อกันสนิทใจว่า ปัญหาดังกล่าวน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว หรือไม่ก็เหลือเพียงจำนวนเศษเสี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเป็นที่รับรู้กันถ้วนหน้าว่าระบบการศึกษาในเมืองไทยนั้นก็ไม่เป็นสองรองใคร เห็นได้จากหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีการปรับปรุงกันอยู่ตลอดเวลา แถมยังมีการศึกษาภาคบังคับ 12 ปีให้เป็นแนวปฏิบัติ

และไม่เพียงแค่นี้ เมื่อมองยังจำนวนของโรงเรียนในเมืองไทย ก็จะพบว่ามีเป็นหมื่นเป็นแสนโรงที่ซุกซ่อนไปทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ จนมีข่าวร่ำๆ มาว่ากระทรวงศึกษาธิการจะยุบพวกโรงเรียนเล็กๆ เหล่านี้ลงบ้าง เพื่อระบบการศึกษาที่เป็นมาตรฐานขึ้น

แต่เหตุไฉนจึงกลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นมาอีก ฉะนั้นงานนี้เพื่อความกระจ่าง จึงขอมาชี้เบาะแสกันแบบชัดๆ ไปเลยว่า ต้นตอของเรื่องนี้แท้จริงอยู่ที่ไหน และทำไมคนไม่รู้หนังสือในเมืองไทยจึงได้มากมายมหาศาลเช่นนี้

4 ล้านนั้นมาจากไหน?

กล้าพนันได้เลยว่า แค่ตัวเลขนี้หลายคนคงตกอกตกใจกันใหญ่ แต่ขอบอกก่อนเลยว่า ตัวเลขที่ว่านี้ไม่ได้มากันแบบลอยๆ หรือจับสลากมาได้ชัวร์

เพราะจากการพูดคุยกับ วัชรินทร์ จำปี รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อยู่ในชนบทห่างไกล และมีความยากจน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน เช่น ชาวเขา หรือในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์จะเข้าเรียน เนื่องจากอายุมาก หรือต้องทำงานทำการตลอดเวลา ทำให้ไม่มีเวลาไปเรียนหนังสือ

ซึ่งตัวเลข 4 ล้านที่ว่านี้ ก็เป็นตัวเลขที่ทางยูเนสโกเป็นคนสำรวจเข้ามา โดยทาง กศน.ไม่ทราบว่า ทางองค์กรของสหประชาชาติแห่งนี้มีวิธีการจัดเก็บข้อมูลเช่นใด แต่ที่ผ่านมา ทาง กศน.เองก็มีความพยายามสำรวจในเรื่องนี้เช่นกัน โดยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการให้ และยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลอยู่เลย

แต่อย่างว่า ตัวเลขที่เกิดก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้เช่นกันเมื่อรวบรวมข้อมูลไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการสำรวจแบบนี้ และตัวเลขก็ไม่เคยตรงกัน ตัวอย่างเช่นในปี 2550 ทาง กศน.ก็เคยเปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้ไม่รู้หนังสือประมาณ 3 ล้านคน หรือในปี 2551 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็เคยระบุคนไทยมีทั้งหมด 63 ล้านคน มีผู้รู้หนังสือ 58 ล้านคน ซึ่งสรุปได้ว่ามีผู้ไม่รู้หนังสือประมาณ 5 ล้านคนนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ทาง กศน.จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจประชากรที่ไม่รู้หนังสือชัดเจน เพื่อที่จะได้นำกลับมาทำเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวางแผนการว่าจะทำอะไรในอนาคตต่อไป

เรื่องเล่าจากคน 'อ่านไม่ออก'

อย่างไรก็ตาม แน่นอนถึงแม้ตัวเลขจะออกมาตรงบ้างไม่ตรงบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเมื่อนำไปเทียบกับว่า ตกลงเมืองไทยยังมีคนไม่รู้หนังสือหลงเหลือจริงๆ ด้วยหรือไม่

และจากการพูดคุยกับคนที่น่าจะอยู่ในกลุ่ม 1 ใน 4 ล้านบางคน สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ใช่คนไม่รู้หนังสือเสียทีเดียว แต่เป็นคนที่อ่านเขียนไม่คล่องมากกว่า โดยเฉพาะคนในรุ่นพ่อรุ่นแม่ เนื่องจากสมัยนั้น การศึกษาอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดเหมือนทุกวันนี้ ตัวอย่างเช่น นงนภัส พิทย์เลิศพิทักษ์ เจ้าของร้านขายของชำในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวนา ที่ไม่เห็นว่าการศึกษาจะสำคัญตรงไหน

“เรียนมาแค่ ป.4 เท่านั้นเอง ไม่ได้ว่าที่บ้านไม่ให้เรียนนะ แต่เราขี้เกียจเอง ดีใจด้วยซ้ำที่ออกจากโรงเรียน บ้านเราก็อยู่ที่บ้านนอก เป็นลูกชาวนา วันๆ ก็ทำนาเป็นหลักก็เลยคิดว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องสำคัญในขณะนั้น แต่มาทุกวันนี้ย้อนมองไปก็เสียดาย

“คือต้องเข้าใจก่อนว่า เราเป็นครอบครัวชาวนา ญาติพี่น้องส่วนมากเขาก็ไม่ได้เรียนกัน ก็มีบ้างที่ไปเรียนในชั้นสูงๆ กว่าอีกนิดหน่อย เราไม่รู้หรอกว่าการเรียนแค่ ป.4 มันพอหรือไม่พอ รู้แค่ว่าไม่อยากเรียนแล้ว เพราะเรียนไปก็ไม่รู้จะเอามาทำอะไร ตอนนี้ก็พออ่านหนังสือได้บ้างแต่ไม่คล่อง ส่วนเรื่องการเขียนนั้นก็พอไหวนะ แต่ถ้ายากๆ นี่ก็ไม่ได้เลย คือหลังออกจากโรงเรียนมา เราก็ไม่ได้หัดเพิ่มเลย เรียกว่าถ้าเจออะไรที่อ่านง่ายๆ ก็พอไหว แต่ถ้ามันยากเราก็ไม่อยากจะยุ่งเลย”

ซึ่งผลพวงจากการไม่รู้หนังสือ (แบบคล่องๆ) ในครั้งนี้ ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเธอมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องเกี่ยวพันกับราชการหรือเอกสารสัญญาทางกฎหมาย ซึ่งเธอยอมรับว่าแทบจะไม่กล้าทำเลย

“มันทำให้เป็นอุปสรรคอยู่บ้าง อย่างเช่นในการติดต่อราชการที่ต้องอ่านเอกสารเยอะๆ เราก็ต้องให้แฟนหรือลูกไปด้วย เพราะลูกเขาเรียนสูง อย่างแฟนเขาเรียน ม.ศ.3 ซึ่งสูงกว่าเราหน่อย ดังนั้นเวลาต้องทำอะไรเกี่ยวกับเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้าน เรื่องรถ ก็ต้องอาศัยลูกตลอด ไม่ไปคนเดียวแน่นอน ทุกวันนี้มันไม่ได้มีความจำเป็นต้องเขียนอะไรยาวๆ เลย อาศัยพูดเอา แต่บางทีก็นึกคำไม่ออกเหมือนกันนะ”

ไม่อ่านเพราะไร้วัฒนธรรม (การอ่าน)

ถึงตรงนี้ หลายคนคงสัมผัสได้แล้วว่า เรื่องอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้นมีอยู่จริงในสังคมไทย แต่เพื่ออธิบายให้เห็นต้นตอของปัญหามากขึ้น ฉะนั้นเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องขุดให้ลึกลงไปถึงแก่นกันเลยทีเดียว

แน่นอน หากหยิบกรณีของนงนภัสขึ้นมาถกกัน ก็จะพบว่าเรื่องนี้ถือเป็นภาพสะท้อนที่ดีว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำมาหากินมากกว่าการศึกษา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นต้นสมัยยุครัชกาล 5-8 แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่ไทยจำนวนไม่น้อยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และปัจจุบันก็เช่นเดียว ก่อนที่ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตเช่นนี้ การศึกษาภาคบังคับก็ไม่มี พ่อแม่อยากส่งลูกเรียนหรือไม่เรียนก็ไม่มีใครว่า ยิ่งกับพื้นที่ชนบท ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ มีลูกยั้วเยี้ย จึงมีคนรุ่นพ่อรุ่นแม่น้อยที่ประสบปัญหาดังกล่าว

แต่นั่นก็ถือเป็นเรื่องในอดีต เพราะคนยุคใหม่นั้นมีปัญหาที่ต่างออกไป นั่นคือ อ่านออกบ้าง เขียนได้บ้าง แต่ไม่มีอะไรคล่องสักอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบุคคลพวกนี้จะรวมในตัวเลข 4 ล้านคนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสาเหตุก็มาจาก คือ ประเทศไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่านเป็นพื้นฐานมาตั้งแต่ต้น แถมการส่งเสริมหรือต่อยอดในเรื่องนี้ก็ยังทำแบบกะปริบกะปรอย สัมผัสได้จากการที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ต่างก็มีวาระการอ่านเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาตลอดเวลาว่า จะทำให้ได้เท่านั้นเท่านี้ แต่สุดท้ายก็ลงอีหรอบเดิม นั่นคือไม่เห็นผลอะไร

“เราไม่ใช่สังคมการอ่าน และครูที่ดูแลเรื่องพวกนี้ก็เน้นเรื่องการอ่านน้อยไป เพราะฉะนั้นเด็ก 20-30 ปี ก็มีปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งก็ยังเป็นอยู่ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แล้วก็พร่ำเพ้ออยู่นั้นว่า การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ อยู่ 7-8 ครั้ง แต่ก็ไม่มีใครเห็นความสำคัญของมันจริงๆ ผมเลยถึงเรียกว่ามันเป็น 'วาระกระจอก' เพราะมันเป็นนามธรรมมากๆ เห็นได้จากการขับเคลื่อนและกิจกรรมโครงการ ก็มักจะไปอยู่ในซอกหลืบของกระทรวงศึกษาธิการ และปล่อยให้เป็นการขับเคลื่อนของภาคเอกชนเท่านั้น ซึ่งพอเป็นแบบนี้ก็เลยเคลื่อนได้เป็นแค่เศษส่วน เป็นบทบาทเล็กๆ ทำไปแบบกระจอกงอกง่อย” รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงต้นตอของปัญหา

ตัวอย่างหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือ เมื่อเด็กบางกลุ่มโดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ออกจากระบบการศึกษาได้ 1-2 ปี ศักยภาพในเรื่องนี้ก็จะต่ำลงเรื่อยๆ

“แม้ว่าโรงเรียนในเมืองไทยจะครอบคลุมทั่วประเทศ แต่เมื่อกิจกรรม อุปกรณ์ ตัวหนังสือและตัววัสดุต่างๆ ที่เด็กได้รับนั้นไม่ส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน รักการค้นคว้าแล้ว พอเด็กออกไปได้สักพัก เรื่องการอ่านก็จะค่อยๆ ละลายอ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อพออ่านไม่ค่อยได้ ความสนใจก็น้อยลงตามลำดับ ผลก็คือ ตอนแรกก็อาจจะเหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ พอปีต่อมาก็เหลือแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

แต่ถึงแม้ปัญหานี้จะหมักหมมมานานแสนนาน ก็ใช่ว่าจะหมดหนทางเยียวยาเสียทีเดียว โดยก่อนอื่น ภาครัฐเองจะต้องมองวิธีการจัดการเรื่องการอ่านอื่นๆ แทนการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างเดียว เพราะตลอดหลายปีมานี้เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีแล้วว่า ไม่ประสบความสำเร็จ

ทางออกที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ รัฐควรแก้ปัญหาจากบนลงล่าง แต่ควรใช้วิธีแก้จากล่างขึ้นบน คือทำให้ส่วนเล็กๆ อย่างท้องถิ่นหรือครอบครัวมีความเข้มแข็งก่อน มีวัฒนธรรมการอ่านเป็นนิสัย แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาสู่ระบบโรงเรียน จังหวัด และประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน ฯลฯ

เช่นเดียวกัน ความจริงจังในการพัฒนาต่อยอดระบบการอ่านก็ถือเป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้กัน โดยทางที่ดีรัฐควรจะต้องทุ่มงบประมาณในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีกำลังเพียงพอในการจัดหาหนังสือดีๆ และเหมาะสมกับช่วงอายุเข้าห้องสมุด และต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าการอ่านนั้นดีอย่างไร เกิดประโยชน์อย่างไร และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเช่นใด ไม่ใช่ประกาศปาวๆ ว่าการอ่านเป็นเรื่องดี แต่ไม่ได้บอกว่าดีเช่นใด เหมือนทุกวันนี้

อย่างไรก็ดีในแง่ของคนที่ปฏิบัติงานอย่าง วัชรินทร์ ก็บอกว่าทุกวันนี้ ทาง กศน.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้ได้วางยุทธศาสตร์หลักขับเคลื่อนให้คนไทยรู้หนังสือเอาไว้แล้ว ด้วยการมอบหมายใช้เครือข่ายในพื้นที่เป็นตัวหลักในการรณรงค์และจัดให้มีอาสาสมัครมาช่วยสอนหนังสือ โดยจะให้ค่าตอบแทนประมาณ 500 บาท/คนไม่รู้หนังสือ 1 คน ที่เขาจะเข้ามาช่วยสอน ซึ่งเขาเชื่อว่าภายในปี 2558 ซึ่งไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คนไทยทุกคนจะต้องรู้หนังสือ อ่าน ออกเขียนได้อย่างแน่นอน
...........

แม้ตัวเลขของผู้ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับเพราะเหตุใดสังคมไทยถึงปล่อยให้ปัญหานี้คาราคาซังมานานเป็นทศวรรษเช่นนี้

แน่นอนเรื่องวัฒนธรรมการอ่านอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่บางทีนั่นก็อาจจะเป็นโทษในสิ่งที่แก้ไม่ได้มากเกินไปหรือเปล่า เพราะสิ่งที่แก้ได้ ก็คือความจริงจังของทุกภาคส่วนต่างหาก ว่ามีแค่ไหนกันแน่ ซึ่งที่ผ่านมาคงเป็นประจักษ์พยานได้พอสมควรว่า แม้การศึกษาจะเป็นหัวใจหลักของนโยบายทุกชุด แต่สุดท้ายก็เป็นแค่ลมปากของคนที่เรียกตัวเองว่า 'ภาครัฐ' เท่านั้นเอง
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น