xs
xsm
sm
md
lg

“คลินตัน” เรียกร้องจีนเปิดเจรจาปัญหาทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงข่าวระหว่างการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ที่อาคารสันติภาพ ในกรุงพนมเปญ วันที่ 12 ก.ค. --AFP PHOTO/POOL/Brendan Smialowski . </font></b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนเปิดการประชุมเจรจากับกลุ่มอาเซียน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดต่อกรณีที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ที่มีลักษณะกลายเป็นกรณีพิพาททางการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนมีท่าทีอย่างไรต่อข้อเสนอนี้ รวมทั้งต่อความตกลงในข้อปฏิบัติในน่าน้ำที่สำคัญแห่งนี้ ที่อาเซียนกับจีนได้ร่วมกันลงนามรับหลักการตั้งแต่ปี 2545

นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เสนอเรื่องนี้ในกรุงพนมเปญ ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคในวันพฤหัสบดี 12 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานในวันศุกร์ 13 ก.ค.นี้

การออกมาเรียกร้องของ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังมีขึ้นหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับร่างกฎข้อปฏิบัติ (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้ ในการประชุมในเมืองหลวงของกัมพูชา และอาเซียนไม่มีการออกคำแถลงใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

โฆษกของจีนกล่าวที่กรุงปักกิ่งก่อนหน้านี้เตือนว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย) มิใช่เวทีสำหรับการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งนับเป็นท่าทีใหม่หลังจากจีนให้คำมั่นมาตลอดว่า จะร่วมมือกับอาเซียนหาทางแก้ไขข้อพิพาทในน่านน้ำสากลแห่งนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการร่างกฎข้อปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุมเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคด้วย สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มี “ถ้อยคำจำนวนหนึ่ง” ที่ทุกฝ่ายยังเห็นขัดแย้งกัน และจะยกไปพิจารณาต่อในปลายปี ซึ่งผู้นำกลุ่มจะประชุมกันในเดือน พ.ย.

รัฐมนตรีอาเซียนเคยประสบความล้มเหลวมาครั้งหนึ่ง ระหว่างการประชุมเมื่อต้นปีนี้ในกรุงพนมเปญเช่นกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ได้ตัดหัวข้อนี้ออกจากวาระการประชุม หลังได้รับความกดดันจากจีน ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศไทยแก้ต่างว่า อาเซียนจะต้องจัดเตรียมภายในกลุ่มให้พร้อมก่อน

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า กฎข้อปฏิบัติใดๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ควรจะกำหนดกรอบขึ้นมาเพื่อป้องกัน และแก้ไขข้อพิพาท และยังกล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาด้วยการเจรจาทวิภาคีนั้น “อาจจะนำไปสู่ความสับสน หรือกระทั่งการเผชิญหน้า”

ความบาดหมางระหงว่างจีนกับอีก 5 ประเทศ และดินแดน ซึ่งรวมทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน ได้นำไปสู่การแข่งขันอาวุธขึ้นในภูมิภาคนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา รอยเตอร์กล่าว

“ไม่มีชาติใดที่จะไม่ห่วงใยต่อความตึงเครียดที่เพิ่มทวี ความบาดหมางเก่าๆ ที่หวนกลับ และความไม่ลงรอยเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร” รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของนางคลินตันในการให้สัมภาษณ์ตอนค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

แต่จีนกับสหรัฐฯ มีท่าทีออมชอมกันมากยิ่งขึ้น นายหยางเจียจื่อ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน พบเจรจาทวิภาคีกับนางคลินตันในวันพฤหัสบดี และให้สัมภาษณ์ว่า จีนพร้อมจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ขยาย “ท่าทีทั่วไปของเรา เคารพซึ่งกันและกัน จัดการกับความแตกต่าง และกรณีล่อแหลมต่างๆ อย่างเหมาะสม แต่จะทำงานร่วมกันในเอเชีย”

อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงของนางคลินตัน ที่เรียกร้องให้แก้ปัญหานี้แบบ “หลายฝ่าย” อาจจะทำให้จีนไม่พอใจ ขณะที่จีนประสงค์จะแก้ไขกรณีพิพาทแบบสองต่อสองกับคู่กรณีเป็นรายๆ ไป

สหรัฐฯ ถือว่าทะเลจีนใต้เป็นน่านน้ำสากล และเป็นเส้นทางเดินเรือสากล ซึ่งจีนไม่สามารถจะกล่าวอ้างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวได้

ในปีนี้ กรณีพิพาทบานปลายมากขึ้นระหว่างจีน กับฟิลิปปินส์ ในการกล่าวอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะปะการังแห่งหนึ่ง ที่อยู่ห่างจากฝั่งฟิลิปปินส์ราว 200 กม. แต่ห่างจากฝั่งที่อยู่ใกล้ที่สุดของจีนกว่า 1,000 กม. ฟิลิปปินส์หันเข้าหาสหรัฐฯ กับแหล่งอื่นๆ ซื้ออาวุธ ทั้งเครื่องบินรบ และเรือรบทันสมัย เพื่อรับมือการคุกคามของจีน

ประธานาธิบดีเบนีกโน อะคีโน จูเนียร์ ให้สัมภาษณ์ในเดือน มิ.ย.ว่า หากจำเป็นก็อาจจะขอให้สหรัฐฯ ช่วยบินลาดตระเวนน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ บินลาดตระเวนเหนือทะเลญี่ปุ่น กับทะเลเหลือง คอยสอดส่องการรุกล้ำของเรือจีน

ตามรายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2551 เชื่อกันว่า อาณาบริเวณพิพาทระหว่าง 6 ฝ่ายในขณะนี้ จะมีน้ำมันดิบประมาณ 213,000 ล้านบาร์เรล รอยเตอร์กล่าว แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าทางการค้าประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และคิดเป็นปริมาณสินค้าครึ่งต่อครึ่งของทั้งโลกรวมกัน

ประธานาธิบดีบารัค โอบมา แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลกับจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมทั้งการเพิ่มกำลังทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายเลออน พลาเนตา รมว.กลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยในสิงคโปร์ ในเดือน มิ.ย.ว่า ราว 60% ของเรือรบสหรัฐฯ จะเข้าประจำการในเอเชียในช่วงปีข้างหน้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น