xs
xsm
sm
md
lg

มะริกันจ้องเขม็งมุ่งกระพือกรณีพิพาทญี่ปุ่น-จีน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยน จวินโป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US eyes spoiler role in Japan-China dispute
By Jian Junbo
04/09/2012

ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างยินยอมปล่อยให้ลัทธิชาตินิยมเข้าครอบงำมีอิทธิพลเหนือผลประโยชน์แห่งชาติที่แท้จริงของพวกเขา ในกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ซึ่งยังคงกำลังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แทนที่โตเกียวและปักกิ่งจะอนุญาตให้ความขมึงตึงกันในเรื่องอธิปไตยนี้มาส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายซึ่งกำลังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนส่งผลบั่นทอนความเป็นไปได้ที่เอเชียจะสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อต้านคัดค้านการวางตัวเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ ประเทศทั้งสองควรที่จะเก็บเอาข้อพิพาทนี้เข้าลิ้นชักไปก่อน เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นต่อๆ ไปสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศซึ่งทั้งความคำนึงถึงแต่ชาติตนเอง, การมุ่งทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว, ตลอดจนการแส่เข้าแทรกแซงของสหรัฐฯ ต่างก็ลดความเข้มข้นขึงตึงลง

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งก็คือ 1 วันก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ จะเดินทางไปเยือนปักกิ่ง สำนักข่าวซินหวาของทางการจีน ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า จุดยืนของสหรัฐฯในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ที่จีนกำลังพิพาทอยู่กับญี่ปุ่นนั้น เป็นจุดยืนที่ “มีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง” และ “ไม่ได้เป็นไปเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแต่อย่างใด” บทบรรณาธิการชิ้นนี้กล่าวว่า ถึงแม้สหรัฐฯป่าวประกาศว่าตนมิได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ แต่สหรัฐฯก็ใช้ชื่อญี่ปุ่นในการเรียกขานหมู่เกาะแห่งนี้ รวมทั้งยังอ้างด้วยว่าสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นครอบคลุมถึงประเด็นปัญหานี้ด้วย “ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว จุดยืนเช่นนี้ย่อมมีความหมายอย่างหนักแน่นจริงจังในการยอมรับ (ว่าหมู่เกาะที่พิพาทกันอยู่แห่งนี้เป็นดินแดนของฝ่ายญี่ปุ่น)”

ด้วยเหตุฉะนี้ บทบรรณาธิการของซินหวาชิ้นนี้บอกว่า มีเหตุผลหลายๆ ประการที่จะทำให้จีนเกิดความรู้สึกวิตกกังวลว่า อเมริกากำลังเข้าแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้งในประเด็นปัญหาว่าด้วยหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ รวมทั้งเกิดความห่วงใยว่าการที่สหรัฐฯให้การหนุนหลังญี่ปุ่นเช่นนี้ จะยิ่งเพิ่มความเหนียวแน่นให้แก่จุดยืนแบบแข็งกร้าวของรัฐบาลญี่ปุ่น ตลอดจนจะยิ่งส่งเสริมให้กำลังใจแก่ท่าทีเย่อหยิ่งโอหังมุ่งต่อต้านจีนของพวกฝ่ายขวาของญี่ปุ่น สภาพเช่นนี้ย่อมจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยองค์รวม

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ความตึงเครียดเกี่ยวกับหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์จะยิ่งบานปลายยกระดับใหญ่โตขึ้นไปอีกนั้น ไม่ได้บังเกิดผลดีใดๆ ให้แก่จีนหรือญี่ปุ่นเอาเลย ในฐานะที่เป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก ประเทศทั้งสองยังมีการพึ่งพาอาศัยและขึ้นต่อกันและกันในทางเศรษฐกิจอย่างล้ำลึกและกว้างขวาง ทั้งนี้ยิ่งไม่ต้องเอ่ยอ้างอิงถึงความเชื่อมโยงกันในทางวัฒนธรรมของประเทศทั้งสอง ตัวอย่างเช่น จีนคือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นก็คือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนหากนับกันเป็นรายรัฐเดี่ยวๆ ถ้าหากความตึงเครียดในปัจจุบันเกิดบานปลายยกระดับขึ้นไปเป็นวิกฤตใหญ่โตในทำนองเดียวกับวิกฤตยุคสงครามเย็น หรือกระทั่งกลายเป็นการขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ประเทศทั้งสองจะต้องประสบความเสียหายและต้องถอยหลังกลับในเชิงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สภาพเช่นนั้นยังอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในภูมิภาคแถบนี้ยังจะเป็นอันตรายต่อความพากเพียรพยายามทั้งหลาย ที่มุ่งจะบ่มเพาะสนับสนุนการบูรณาการของเอเชียตะวันออกอีกด้วย

ในช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกิจกรรมยั่วยุใดๆ เกี่ยวกับหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์บังเกิดขึ้นมา ตลอดจนไม่มีความตึงเครียดอันร้ายแรงใดๆ ในภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย ภาวะแวดล้อมอันสันติเช่นนี้เองกลายเป็นหลักประกันให้แก่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างราบรื่นในภูมิภาคนี้

เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน มีความจำเป็นที่ทั้งปักกิ่งและโตเกียวจะต้องใช้ความพยายามเพื่อบรรเทาลดทอนอารมณ์ความรู้สึกแบบชาตินิยมที่กำลังพุ่งพล่านเพิ่มพูนขึ้นภายในประเทศของตนเองให้ลดระดับลงมา โดยที่ในทางเป็นจริงแล้ว อารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมเช่นนี้แหละ กำลัง “จี้จับเอาผลประโยชน์แห่งชาติไปเป็นตัวประกัน”

ถึงแม้ลัทธิชาตินิยมในเอเชียตะวันออกกำลังเพิ่มความแรงกล้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากเหตุผลหลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อยาวนานในญี่ปุ่น และการแบ่งปันความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างไม่เสมอภาคกันในประเทศจีน แต่คณะผู้นำของญี่ปุ่นและคณะผู้นำของจีนก็ควรที่จะต้องตื่นตัวระมัดระวังคอยควบคุมการโหมกระพือของลัทธิชาตินิยมในประเทศของพวกตน และจะต้องมีความตระหนักรับรู้ว่า การทำให้ภูมิภาคแถบนี้มีเสถียรภาพ, สันติภาพ, และการพัฒนา คือสิ่งที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่ากิจกรรมยั่วยุในทางชาตินิยมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ความพยายามดังกล่าวนี้จะต้องเป็นสิ่งที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้างขึ้นมา เพราะไมตรีจิตและการยอมผ่อนปรนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีประโยชน์บังเกิดผลขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการตอบสนองในเชิงบวกจากอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากกรอบความคิดเช่นนี้แล้ว วิถีทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับการพิพาทกันเกี่ยวกับหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ก็ยังคงเป็นวิถีทางที่ทั้งสองฝ่ายได้เคยตกลงเห็นพ้องกันมาก่อนแล้ว กล่าวคือ การเก็บข้อพิพาทเข้าลิ้นชักแล้วหันมาเน้นเรื่องการพัฒนาร่วมกัน –ซึ่งเป็นวิธีการที่เสนอออกมาโดยผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 1979 และได้รับความสนับสนุนจากพวกผู้นำญี่ปุ่นในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากความตึงเครียดที่กำลังไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ อยู่ในปัจจุบัน การร่วมกันพัฒนายังดูจะห่างไกลจากความเป็นไปได้ แม้กระทั่งเมื่อทั้งสองฝ่ายเกิดตกลงกันได้ที่จะนำเอากรณีพิพาทเรื่องอธิปไตยเก็บเข้าลิ้นชักไปก่อน แต่อย่างน้อยที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็ควรที่จะระงับยับยั้งไม่เดินหมากไปในทางที่จะกลายเป็นการเพิ่มการยั่วยุ เป็นต้นว่า การพยายามที่จะขึ้นไปบนหมู่เกาะ และเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมของพื้นที่เหล่านี้

เมื่อใช้ทัศนะมุมมองเช่นนี้แล้ว มันก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเป็นอย่างมากมาก ที่ในด้านหนึ่งเราได้เห็นคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ สั่งห้ามพลเมืองชาวญี่ปุ่นไม่ให้ขึ้นไปบนหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลชุดนี้กลับกำลังพูดถึงการทำให้หมู่เกาะที่เกิดการพิพาทกันเหล่านี้กลายเป็นทรัพย์สินของชาติ

เพื่อที่จะทำให้ภูมิภาคแถบนี้บังเกิดเสถียรภาพ, สันติภาพ, และการพัฒนาขึ้นมา และเพื่อที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะปล่อยให้กรณีพิพาทเรื่องอธิปไตยนี้ ได้รับการคลี่คลายแก้ไขโดยผ่านกระบวนการบูรณาการในระดับภูมิภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือไม่ก็โดยอาศัยสติปัญญาของคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต แทนที่จะพยายามแก้ไขกันภายใต้สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่อุดมไปด้วยลัทธิชาตินิยม, ลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว, และการแทรกแซงระหว่างประเทศ

**หมายเหตุผู้แปล**
[1] หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ (ภาษาจีนนั้น ทางจีนแผ่นดินใหญ่เรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ Diaoyu ขณะที่ไต้หวันเรียกว่า เตี้ยวอี่ว์ไถ Tiaoyutai ส่วนภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซงกากุ Senkaku นอกจากนั้นยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า พินนาเคิล Pinnacle) เป็นชื่อของกลุ่มหมู่เกาะที่ไม่มีผู้พำนักอาศัยซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก และปัจจุบันอยู่ใต้การควบคุมดูแลของญี่ปุ่น กลุ่มหมู่เกาะแห่งนี้ประกอบด้วยเกาะเล็กๆ 5 เกาะ และโขดหินที่ไม่มีพืชพรรณ 3 แห่ง ตั้งอยู่ห่างจากไต้หวันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 120 ไมล์ทะเล, ห่างจากแผ่นดินใหญ่จีนไปทางตะวันออกราว 200 ไมล์ทะเล, และห่างจากเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 200 ไมล์ทะเล ฝ่ายจีนนั้นอ้างว่าได้ค้นพบและเข้าควบคุมหมู่เกาะแห่งนี้เรื่อยมานับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ขณะที่ญี่ปุ่นเข้าควบคุมหมู่เกาะแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1895 (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) เป็นสนธิสัญญาที่จักรวรรดิญี่ปุ่นกับจักรวรรดิจีนในยุคราชวงศ์ชิง จัดทำขึ้นเพื่อยุติสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก (ปี 1894-1895) โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะ ในสนธิสัญญาฉบับนี้ จีนยอมรับความเป็นเอกราชของเกาหลี และยกเลิกการอ้างสิทธิใดๆ ต่อประเทศนี้ นอกจากนั้น จีนยังยอมสละอธิปไตยในแหลมเหลียวตง (ปัจจุบันคือดินแดนตอนใต้ของมณฑลเหลียวหนิง), เกาะไต้หวัน และหมู่เกาะเผิงหู (Penghu) ในช่องแคบไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่น รวมทั้งยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ตลอดจนเปิดเมืองท่าหลายแห่งให้ญี่ปุ่นเข้าไปทำการค้า (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[3] ปฏิญญาไคโร (Cairo Declaration) คือผลที่ได้จากการเจรจาหารือ ณ การประชุมไคโร (Cairo Conference) ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1943 ระหว่างประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ ของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ของสหราชอาณาจักร, และ จอมพล เจียงไคเช็ก ของสาธารณรัฐจีน ประเด็นหลักๆ ของเอกสารฉบับนี้ ได้แก่การแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้แรงกดดันทางทหารต่อญี่ปุ่นจนกว่าจะยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข, การตกลงให้เกาหลีเป็นประเทศเอกราช, การที่ญี่ปุ่นจะต้องคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดไปจากจีน เป็นต้นว่า แมนจูเรีย ไต้หวัน เผิงหู, การขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกไปจากดินแดนอื่นๆ ที่เข้าไปยึดครอง ทั้งนี้ ปฏิญญาไคโร ได้รับการอ้างอิงเอาไว้ใน ประกาศแห่งปอตสดัม (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[4] ประกาศแห่งปอตสดัม (Potsdam Proclamation หรือ ปฏิญญาปอตสดัม Potsdam Declaration หรือ ประกาศกำหนดเงื่อนไขสำหรับการยอมจำนนของญี่ปุ่น Proclamation Defining Terms for Japanese Surrender) คือคำแถลงเรียกร้องให้จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส ทรูแมน แห่งสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล แห่งสหราชอาณาจักร และ จอมพล เจียงไคเช็ก ของสาธารณรัฐจีน เป็นผู้ออกเอกสารฉบับนี้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1945 ตามที่ได้ตกลงเห็นพ้องกัน ณ การประชุมปอตสดัม (Potsdam Conferrence) เมืองปอตสดัม ในเขตเยอรมันที่ตกอยู่ในความยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร สำหรับเงื่อนไขหลักๆ ที่กำหนดให้ญี่ปุ่นต้องยินยอมปฏิบัติในการยอมจำนน มีดังเช่น ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองจุดต่างๆ ในดินแดนญี่ปุ่นตามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะกำหนด, อธิปไตยของญี่ปุ่นจะจำกัดอยู่เฉพาะเกาะฮอนชู เกาะฮอกไกโด เกาะคิวชู และเกาะชิโกกุ ตลอดจนหมู่เกาะรองๆ ลงมาอื่นๆ ตามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรวินิจฉัยตัดสิน ตามที่ได้ประกาศไว้ใน ปฏิญญาไคโร ปี 1943, กองทัพญี่ปุ่นต้องถูกปลดอาวุธทั้งหมด, กำจัดอำนาจและอิทธิพลของพวกที่หลอกลวงและชักนำอย่างผิดๆ ให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นดำเนินการพิชิตยึดครองโลก ประกาศปอตสดัมซึ่งมีลักษณะเป็นการยื่นคำขาด ยังย้ำว่าถ้าญี่ปุ่นไม่ยอมจำนน ก็จะต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง ปรากฏว่าในเบื้องต้นญี่ปุ่นปฏิเสธคำขาดนี้ จึงนำไปสู่การที่ประธานาธิบดีทรูแมนของสหรัฐฯตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมตามลำดับ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[5] สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก (San Francisco Peace Treaty) หรือบางทีก็เรียกว่า สนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่น (Treaty of Peace with Japan) เป็นสนธิสัญญาระหว่างญี่ปุ่นกับส่วนหนึ่งของเหล่าชาติสัมพันธมิตร เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ และมีการลงนามอย่างเป็นทางการโดย 48 ชาติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1951 ณ นครซานฟรานซิสโก, สหรัฐอเมริกา เอกสารฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เมษายน 1952 ทั้งสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่จีน ต่างไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากจีนกำลังเกิดสงครามกลางเมือง และเหล่ามหาอำนาจของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถเห็นพ้องกันได้ว่าฝ่ายใดสมควรเป็นตัวแทนของจีน ทางด้านสหภาพโซเวียตซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย ได้แสดงการคัดค้านเนื้อหาของร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ที่ร่างโดยสหรัฐฯกับสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ นั้น สหภาพโซเวียตบอกว่าร่างสนธิสัญญานี้ละเมิดสิทธิของจีนที่มีต่อเกาะไต้หวันและหมู่เกาะอื่นๆ อีกมากมาย ขณะเดียวกันหมู่เกาะจำนวนมากของญี่ปุ่นก็ถูกโอนไปให้สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯไม่ได้มีข้ออ้างอันชอบด้วยกฎหมายใดๆ ที่จะรับมอบ ทางด้านสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ออกคำแถลงในวันที่ 15 สิงหาคม 1951 และในวันที่ 18 กันยายน 1951 ประณามสนธิสัญญาฉบับนี้ว่าละเมิดกฎหมายและไม่ควรรับรอง (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[6] สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น (US-Japan Security Treaty ชื่ออย่างเป็นทางการคือ สนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น Treaty of Mutual Cooperation and Security between the United States and Japan) เป็นสนธิสัญญาที่สหรัฐฯกับญี่ปุ่นลงนามกันในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1960 เนื้อหาสำคัญของเอกสารฉบับนี้ ได้แก่การที่ทั้งสองฝ่ายต่างถือเป็นพันธะผูกพันของตนที่จะธำรงรักษาและพัฒนาสมรรถนะของพวกตนในการต้านทานการโจมตีด้วยกำลังอาวุธร่วมกัน และจะช่วยเหลือกันและกันในกรณีที่มีการโจมตีด้วยกำลังอาวุธต่อดินแดนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองบริหารของญี่ปุ่น (ข้อมูลจาก Wikipedia)

ดร.เจี่ยน จวินโป เป็นรองศาสตราจารย์ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา (Institute of International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) นครเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น