xs
xsm
sm
md
lg

มะริกันจ้องเขม็งมุ่งกระพือกรณีพิพาทญี่ปุ่น-จีน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยน จวินโป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US eyes spoiler role in Japan-China dispute
By Jian Junbo
04/09/2012

ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างยินยอมปล่อยให้ลัทธิชาตินิยมเข้าครอบงำมีอิทธิพลเหนือผลประโยชน์แห่งชาติที่แท้จริงของพวกเขา ในกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ซึ่งยังคงกำลังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แทนที่โตเกียวและปักกิ่งจะอนุญาตให้ความขมึงตึงกันในเรื่องอธิปไตยนี้มาส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายซึ่งกำลังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนส่งผลบั่นทอนความเป็นไปได้ที่เอเชียจะสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อต้านคัดค้านการวางตัวเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ ประเทศทั้งสองควรที่จะเก็บเอาข้อพิพาทนี้เข้าลิ้นชักไปก่อน เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นต่อๆ ไปสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศซึ่งทั้งความคำนึงถึงแต่ชาติตนเอง, การมุ่งทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว, ตลอดจนการแส่เข้าแทรกแซงของสหรัฐฯ ต่างก็ลดความเข้มข้นขึงตึงลง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เซี่ยงไฮ้ – รัฐบาลท้องถิ่นของมหานครโตเกียว ตัดสินใจส่งคณะนักสำรวจจำนวน 25 คนเดินทางไปยังหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (ในญี่ปุ่น หมู่เกาะแห่งนี้รู้จักกันในนาม เซงกากุ) [1] เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่กรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งนี้ ที่นับถึงเวลานี้ได้ยืดเยื้อยาวนานเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว

คณะนักสำรวจจากมหานครโตเกียวดังกล่าว ต้องดำเนินกิจกรรมการวิจัยของพวกตนจากเรือที่แล่นอยู่ใกล้ๆ หมู่เกาะ เนื่องจากรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นได้ปฏิเสธไม่ยินยอมอนุญาตให้พวกเขาขึ้นไปสำรวจบนบกได้ตามคำขอ อย่างไรก็ดี ในประเทศจีนก็มองภารกิจนี้ว่าเป็นการยั่วยุท้าทายครั้งใหม่จากแดนอาทิตย์อุทัยอยู่นั่นเอง

ความขมึงตึงเกี่ยวกับหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ เริ่มคุโชนขึ้นมาใหม่อีกรอบหนึ่งในคราวนี้ ด้วยฝีมือของผู้ว่าราชการมหานครโตเกียว ชินตาโร อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) ระหว่างที่เขาไปเยือนกรุงวอชิงตันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยการที่เขาประกาศว่าจะขอซื้อหมู่เกาะแห่งนี้จากเจ้าของผู้ถือครองซึ่งเป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น

เนื่องจากในตอนนั้น คำแถลงของอิชิฮาระ ไม่ได้เป็นการริเริ่มและไม่ได้รับการยินยอมเห็นชอบจากรัฐบาลกลางของแดนอาทิตย์อุทัย ด้วยเหตุนี้ ในช่วงแรกๆ ทีเดียว จึงก่อให้เกิดความสับสนงุนงงขึ้นในโตเกียว เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนแสดงอาการตระหนกตกใจ ขณะที่บางคนแสดงการสนับสนุนความคิดนี้

สำหรับตัวนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ถึงแม้เขาได้แถลงในเดือนเมษายนว่า รัฐบาลของเขาจะใช้มาตรการอันถูกต้องเหมาะสมมาจัดการกับประเด็นปัญหานี้ โดยที่ไม่ได้มีการพาดพิงเอ่ยถึงเรื่องการทำให้มันกลายเป็นประเด็นระดับชาติขึ้นมา อย่างไรก็ตาม พอถึงเดือนกรกฎาคม โนดะก็เปลี่ยนเสียงหันมาประกาศว่า รัฐบาลกลางญี่ปุ่นกำลังถือว่ากรณีนี้เป็นเรื่องระดับชาติ ซึ่งก็คือเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ไม่ใช่ของรัฐบาลท้องถิ่น

อิชิฮาระ ผู้ว่าราชการมหานครโตเกียวคนนี้ เป็นผู้ที่รู้จักกันดีมานมนานในเรื่องมีทัศนะแบบขวาจัดสุดโต่ง ตลอดจนจุดยืนแบบนักชาตินิยมและท่าทีต่อต้านคัดค้านจีน ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเมื่อได้ยินเขาออกมาพูดจาเรื่องจะขอซื้อหมู่เกาะแห่งนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นที่คาดหมายกันหรอกว่า การแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้นี้เพียงคนเดียวเช่นนี้ จะถึงกับสามารถชักนำญี่ปุ่นให้ก่อวิกฤตการณ์ทางการทูตระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกขึ้นมา

แท้ที่จริงแล้วกรณีพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในการช่วงชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการวางหมากกลอันสลับซับซ้อนในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยที่สหรัฐฯคือผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องพัวพันอย่างลึกซึ้งยิ่ง ถ้าไม่ขนาดเป็นแหล่งที่มาต้นตอแรกเริ่มของกรณีการวิวาทช่วงชิงนี้

ในอดีตกาลนานโพ้นนั้น แทบไม่มีการพิพาทโต้แย้งอะไรเลยในเรื่องที่ว่าหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็นดินแดนของจีน จวบจนกระทั่งมาถึงปี 1885 ภายหลังจากจีนในยุคราชวงศ์ชิง เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น (Chinese-Japanese War) ครั้งแรก ในปี 1884 ราชวงศ์ชิงก็จำเป็นต้องลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) [2] และยกเกาะไต้หวัน ตลอดจนหมู่เกาะเล็กๆ ที่ขึ้นต่อเกาะไต้หวันให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นไปในปี 1885 จีนกับญี่ปุ่นในทุกวันนี้ยังคงมีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องที่ว่าสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวครอบคลุมถึงหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ด้วยหรือไม่ ทว่าแม้กระทั่งถือว่าจีนต้องยกหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ให้แก่ญี่ปุ่นภายใต้สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ญี่ปุ่นก็ยังควรที่จะต้องส่งคืนดินแดนแห่งนี้กลับมาให้จีนภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองอยู่ดี ทั้งนี้เป็นไปตามเนื้อหาของปฏิญญาไคโร (Cairo Declaration) [3] และ ประกาศแห่งปอตสดัม (Potsdam Proclamation) [4] ซึ่งลงนามโดยสหรัฐฯ, อังกฤษ, และจีน ในปี 1943 และ 1945 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นในเวลานั้นอ้างว่า หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์อยู่ภายใต้เขตอำนาจบริหารปกครองของเกาะโอกินาวาของตนตั้งแต่ก่อนสงครามแปซิฟิกจะสิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้นญี่ปุ่นจึงไม่ได้ส่งมอบหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ให้แก่จีน หากแต่ส่งมอบให้แก่สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าตามสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก (San Francisco Peace Treaty) [5] ของสหประชาชาติ สหรัฐฯได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิทักษ์ดูแล (trustee) โอกินาวา

ด้วยเหตุนี้หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐฯนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งถึงตอนต้นทศวรรษ 1970 กระนั้นก็ตามที ควรที่จะต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ทั้งปักกิ่งและไทเปไม่เคยยอมรับเลยว่าสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกเป็นข้อตกลงที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากปักกิ่งและไทเปต่างมิได้ส่งตัวแทนใดๆ ไปเข้าร่วมการประชุมคราวนั้น หรือร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนั้น

ในปี 1971 สหรัฐฯตัดสินใจที่จะส่งมอบอำนาจการปกครองเกาะโอกินาวาและหมู่เกาะริวกิว (Ryukyu Islands) กลับคืนให้แก่ญี่ปุ่น ตามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก โดยไม่สนใจใยดีต่อการประท้วงของจีน นอกจากนั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นเจตนาจงใจหรือว่าเป็นการกระทำด้วยความผิดพลาด ปรากฏว่าสหรัฐฯยังได้ตัดสินใจส่งมอบอำนาจบริหารปกครองหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ให้แก่ญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งทำให้ชาวจีนตามที่ต่างๆ พากันประท้วงคัดค้านอย่างฉับพลันทันควัน ในปี 1972 ญี่ปุ่นก็รื้อฟื้นอำนาจในการควบคุมเหนือหมู่เกาะเตึ้ยวอี๋ว์

เมื่อต้องเผชิญกับการประท้วงคัดค้านอย่างไม่หยุดไม่หย่อนของฝ่ายจีน ในเวลาต่อมาวอชิงตันได้แถลงว่า ตนเองเพียงแค่ส่งมอบอำนาจในการบริหารปกครองหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ให้แก่ญี่ปุ่นเท่านั้น โดยที่ไม่ได้ถือหางเข้าข้างฝ่ายใดในกรณีพิพาทช่วงชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้

ทุกวันนี้ สหรัฐฯยังคงแถลงย้ำจุดยืนเช่นนี้ แต่ก็ยืนกรานที่จะเรียกชื่อหมู่เกาะนี้ว่าเซงกากุ ตามชื่อเรียกขานของฝ่ายญี่ปุ่น แถมยังป่าวประกาศไปเรื่อยว่า สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น (US-Japan Security Treaty) [6] นั้นมีอำนาจบังคับครอบคลุมถึงหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ด้วย ดูเหมือนว่าสหรัฐฯมีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้เห็นการพิพาทช่วงชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้บานปลายยกระดับใหญ่โตยิ่งขึ้น เพราะมองว่านั่นจะเป็นการสนองผลประโยชน์ให้แก่ตนเองมากที่สุด วอชิงตันยังมีความสุขที่จะได้เห็นจีนเกิดความตึงเครียดเขม็งเกลียวกับพวกประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังมีการพูดจากันอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะจีนจะแซงหน้าและเข้าแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ เป็นเรื่องแน่นอนทีเดียวว่ากรณีพิพาทเรื่องดินแดนย่อมจะหันเหสมาธิความมุ่งมั่นของจีน และกระทั่งอาจทำให้การพัฒนาของแดนมังกรต้องล่าช้าลงไปตามความมุ่งหวังของวอชิงตัน ยิ่งไปกว่านั้น ความตึงเครียดในภูมิภาคแถลงนี้ ยังสามารถที่จะกลายเป็น “ความชอบธรรม” เพิ่มมากขึ้น ให้แก่ “การหวนกลับคืนสู่เอเชีย” ของสหรัฐฯ

ดร.เจี่ยน จวินโป เป็นรองศาสตราจารย์ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา (Institute of International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) นครเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น