(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Lee puts Japan-Korea relations on the rocks
By Kosuke Takahashi
10/08/2012
ประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ของเกาหลีใต้ เดินทางไปเยือนหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งประเทศของเขากำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์อยู่กับญี่ปุ่นในวันศุกร์(10)ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันก่อนที่เกาหลีใต้จะรำลึกวาระที่ตนเองเป็นเอกราชหลุดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 การเลือกจังหวะเวลาอันอ่อนไหวเช่นนี้ ทางฝ่ายญี่ปุ่นมองว่า มันเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงแผนการของ ลี ที่จะจุดอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมให้ลุกฮือ เพื่อหันเหความสนใจของประชาชนเกาหลีใต้ ให้ออกไปจากปัญหาต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของเขากำลังประสบและถูกระบุว่าตกอยู่ในภาวะไร้น้ำยา อย่างไรก็ดี สำหรับฝ่ายโตเกียวแล้ว เวลานี้เท่ากับต้องเผชิญการท้าทายในเรื่องอธิปไตยอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากข้อพิพาทเดิมที่มีอยู่กับรัสเซียและจีน ท่ามกลางความรู้สึกภายในแดนอาทิตย์อุทัยที่ว่า พวกเพื่อนบ้านกำลังฉวยประโยชน์จากการที่อิทธิพลบารมีของญี่ปุ่นในภูมิภาคกำลังอ่อนแอลง
โตเกียว – วันที่ 10 สิงหาคม 2012 จะเป็นวันที่ถูกจดจำกันไปอีกนานในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี ว่าเป็นวันที่ฝ่ายเกาหลีใต้หว่านโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความวิบัติหายนะในอนาคต
ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องอย่างแข็งกร้าวจากโตเกียวให้ยุติแผนการคราวนี้ของเขา แต่ประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ของเกาหลีใต้ก็ไม่ฟัง และในวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2012 ก็ได้เดินทางไปเยือนหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยมีประมุขของโสมขาวคนใดเคยกระทำมาก่อน หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้โสมขาวกับแดนอาทิตย์อุทัยกำลังพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ โดยที่ฝ่ายเกาหลีเรียกชื่อว่า หมู่เกาะด็อคโด (Dokdo) ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเรียกขานว่า ทาเกชิมะ (Takeshima)
ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีเกาหลีใต้คราวนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นมองว่าจะส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ที่อยู่ในสภาพเย็นชาอยู่แล้ว ต้องย่ำแย่ลงอีกจนถึงจุดต่ำสุดในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาทีเดียว ผลสะท้อนสะเทือนซึ่งเกิดตามมาจะเป็นที่รู้สึกกันไม่เพียงเฉพาะในโซลหรือโตเกียวเท่านั้น หากแต่ในปักกิ่ง, วอชิงตัน, และเปียงยางอีกด้วย โดยที่เห็นชัดเจนก็คือจะส่งผลกระทบต่อการสร้างแนวร่วมที่สหรัฐฯวางแผนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการขยายกำลังทางนาวีของจีน ตลอดจนเพื่อคัดค้านความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo news agency) ญี่ปุ่นได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำโตเกียวมาพบเพื่อประท้วงการไปเยือนหมู่เกาะแห่งนั้นของประธานาธิบดีลี ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ โคอิชิโระ เกมบะ (Koichiro Gemba) ของญี่ปุ่น ได้เคยพูดปรามไว้แล้วว่า การเดินทางเยือนเช่นนั้น “จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” และญี่ปุ่นจะ “ต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างหนักแน่น”
ในส่วนของทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้เอง ออกมาแถลงว่าวัตถุประสงค์ในการเยือนพื้นที่บริเวณนั้นของประธานาธิบดีลี ส่วนหนึ่งก็เพื่อไปตรวจตราให้แน่ใจว่า สภาพแวดล้อมของเกาะอุลเลืองโด (Ulleungdo Island)ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน มีการคุ้มครองรักษากันเป็นอย่างดี ทั้งนี้พวกรัฐมนตรีทางสิ่งแวดล้อมและด้านวัฒนธรรมได้เดินทางไปพร้อมกับ ลี ด้วย ซึ่งดูจะเป็นการเน้นย้ำวัตถุประสงค์ในการตรวจงานด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และเพื่อที่จะปลอบประโลมเอาอกเอาใจโตเกียวบ้างนั่นเอง
การเยือนของเขาครั้งนี้บังเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้าวันที่ 15 สิงหาคม อันเป็นวันที่ชาวเกาหลีรำลึกวาระที่พวกเขาได้เป็นเอกราชจากการปกครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 ในแต่ละปีเมื่อถึงช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ แดนโสมก็มักจะระอุไปด้วยลัทธิชาตินิยม (nationalism) และลัทธิรักชาติ (patriotism) เกาหลี เรื่อยมา
นักวิเคราะห์จำนวนมากมองกันว่า ลี กำลังกลายเป็นผู้นำ “เป็ดง่อย”เสียแล้ว แม้ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนธันวาคมปีนี้ และเขาก็ดูมีความมุ่งหมายที่จะพลิกฟื้นฐานะของเขาและของพรรคการเมืองเขาในแวดวงแห่งอำนาจทางการเมืองแดนโสมขาว ด้วยการพึ่งพาการโหมกระพืออารมณ์ความรู้สึกทางเชื้อชาติ
นอกจากนั้นเขายังน่าจะต้องการหันเหความสนใจของสาธารณชนให้ออกห่างจากกรณีอื้อฉาวทุจริตคอร์รัปชั่นหลายกรณี ซึ่งพัวพันกับทั้ง ลี ซังดึค (Lee Sang-deuk) พี่ชายวัย 76 ปีที่เขาไว้วางใจถือเป็นที่ปรึกษาผู้ชี้แนะคนสนิท ตลอดจนพวกอดีตผู้ช่วยของเขาหลายต่อหลายคน บุคคลเหล่านี้ได้ถูกจับกุมตัวด้วยข้อหารับสินบนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตัวประธานาธิบดีลีเองก็ถูกบังคับให้ต้องกล่าวคำขอโทษต่อประชาชนออกอากาศทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ สืบเนื่องจากความฉาวโฉ่ดังกล่าว
“คณะรัฐบาลของลีซึ่งตกอยู่ในสภาพเป็นเป็ดง่อยในรอบปีที่ผ่านมา กำลังพยายามที่จะใช้ญี่ปุ่นเป็นแพะรับบาป” มาซาโอะ โอโกโนงิ (Masao Okonogi) ศาสตราจารย์กิตติคุณ (emeritus professor) แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ในกรุงโตเกียว และเป็นผู้เชี่ยวชาญชื่อดังในด้านกิจการของคาบสมุทรเกาหลี บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ในวันศุกร์ (10ส.ค.) ว่า “ในเกาหลีใต้นั้น สื่อมวลชนจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การเกาะกระแสประชานิยมเช่นนี้อย่างเปิดเผยหรอก ถ้าหากว่าเป้าหมายที่กำลังถูกเล่นงานคือญี่ปุ่น”
ทางด้าน ฮิเดชิ ทาเกซาดะ (Hideshi Takesada) อาจารย์ของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) ในเกาหลีใต้ ก็ให้ความเห็นที่เป็นการสะท้อนทัศนะของ โอโกโนงิ “ลีนั้นกลายเป็นเป็ดง่อยอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนๆ นอกจากนั้นความเสียหายจากกรณีอื้อฉาวรับสินบนพวกนี้ก็ใหญ่โตมโหฬารมากด้วย เพื่อทำให้สาธารณชนหวนกลับมาสนับสนุนเขาอีก เขาจำเป็นที่จะต้องใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวต่อญี่ปุ่น เพราะจุดยืนอย่างนี้เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมชมชื่นทั้งจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ทั้งจากพวกอนุรักษนิยมและพวกเสรีนิยม”
ในประเทศญี่ปุ่น การเดินหมากเช่นนี้ของประธานาธิบดีลี กำลังก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านเกาหลีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นเรื่องนี้อย่างหนึ่งได้แก่การที่คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักท่องอินเทอร์เน็ต กำลังตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า ลีไปเยือนหมู่เกาะพิพาทแห่งนั้นก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดความโกรธแค้นทางเชื้อชาติ เพราะเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นกำลังจะต้องแข่งขันชิงเหรียญทองแดงกันทั้งในกีฬาวอลเลย์บอลและฟุตบอล ในมหกรรมโอลิมปิกที่ลอนดอนขณะนี้
อันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็อยู่ในอาการขมึงตึงมานมนานแล้วสืบเนื่องจากประเด็นปัญหาในอดีตที่ยืดเยื้อแก้ไม่ตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ อดีต “สตรีบำเรอกาม” (comfort women) ซึ่งก็คือผู้หญิงที่ถูกระดม และบ่อยครั้งมักถูกบังคับ ให้เป็นทาสบำเรอกามของทหารในกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น (1930-1945)
ถึงแม้โซลเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องจัดการชดเชยทำขวัญแก่สตรีเหล่านี้ ทว่าโตเกียวก็ปฏิเสธเสมอมาด้วยข้ออ้างที่ว่า ตนไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายใดๆ ที่จะต้องชดเชยทำขวัญให้แก่บรรดาเหยื่อสงคราม ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้เป็นแรงงานและเป็นสตรีบำเรอกาม
ยิ่งกว่านั้น ในหนังสือ “สมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศประจำปี 2012” (2012 Defence White Paper) ของญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงกลาโหมแดนอาทิตย์อุทัยนำออกมาเผยแพร่ในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า หมู่เกาะที่พิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่นี้ เป็น “ดินแดนแต่ดั้งเดิม” ของญี่ปุ่น ทำให้เกิดการประท้วงอย่างแข็งขันจากฝ่ายเกาหลีใต้ในทันที สำหรับโซลแล้ว หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ไม่เพียงแค่เป็นหัวข้อของการพิพาททางดินแดนธรรมดาๆ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นมรดกตกทอดจากยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมและทำการปกครองอย่างโหดเหี้ยมเลวร้ายในระหว่างปี 1910-1945 อีกด้วย ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้แหละ ทำให้โตเกียวกับโซลอยู่บนเส้นทางที่จะต้องเข้าปะทะกัน
เกาหลีใต้นั้นได้มีการปรากฏตัวอย่างถาวรบนหมู่เกาะด็อคโดมาตั้งแต่ปี 1954 แล้ว ทว่าญี่ปุ่นก็ไม่เคยยกเลิกการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนแห่งนี้เลยนับตั้งแต่ที่ได้ประกาศอ้างเช่นนั้นเมื่อปี 1905 ทั้งสองประเทศต่างหยิบยกอ้างอิงหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังกลับไปได้หลายศตวรรษเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องกรรมสิทธิ์ของฝ่ายตน
สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว นี่ไม่ใช่เป็นกรณีพิพาททางดินแดนเพียงกรณีเดียวที่แดนอาทิตย์อุทัยกำลังประสบอยู่ ห่างออกไปทางด้านใต้ ญี่ปุ่นก็กำลังพัวพันกับการพิพาทกับจีนเพื่อช่วงชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku Islands เป็นชื่อในภาษาญี่ปุ่น ส่วนภาษาจีนเรียกขานว่าหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ Diaoyu Islands) โดยที่ทั้งสองชาติยังกำลังแข่งขันกันในเรื่องการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในบริเวณดังกล่าวของทะเลจีนตะวันออก ส่วนทางด้านเหนือขึ้นไป แดนอาทิตย์อุทัยก็มีประเด็นปัญหาอันยุ่งยากซับซ้อนอยู่กับรัสเซีย เกี่ยวกับดินแดนหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “ดินแดนทางตอนเหนือ” (Northern Territories) ซึ่งปัจจุบันตกอยู่ในความครอบครองของรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายหมีขาวเรียกขานดินแดนเหล่านี้ว่า “หมู่เกาะคูริวใต้” (Southern Kurils)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นก็กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ จากการที่นายกรัฐมนตรี ดมิตริ เมดเวเดฟ ของรัสเซีย เดินทางไปเยือนหมู่เกาะซึ่งกำลังพิพาทกันอยู่เหล่านี้หลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2010 เป็นต้นมา (ซึ่งก็คือตั้งแต่ที่เมดเวเดฟยังมีตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย ก่อนที่วลาดิมีร์ ปูติน จะกลับขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้งในปีนี้ แล้วตั้งให้เมดเวเดฟเป็นนายกรัฐมนตรี –ผู้แปล) ทำให้ฝ่ายโตเกียวทำการประท้วงอย่างเดือดดาล “ประธานาธิบดีลีของเกาหลีใต้ อาจจะเห็นตัวอย่างและใช้วิธีการเดียวกับที่เมดเวเดฟเดินทางไปเยือนดินแดนทางตอนเหนือนะ” โอโกโนงิ ตั้งข้อสันนิษฐาน
กรณีพิพาทต่างๆ เหล่านี้ทำให้เป็นที่รู้สึกกันว่า บรรดาเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นดูเหมือนกำลังฉวยประโยชน์จากการที่อิทธิพลบารมีทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ
“ญี่ปุ่นกำลังถูกจีนดูหมิ่น ดังนั้นเกาหลีใต้จึงคิดว่าตนไม่จำเป็นที่จะต้องทำการประนีประนอมกับญี่ปุ่นแล้ว” ทาเกซาดะ กล่าว “นี่คือแกนกลางในจุดยืนของโซลต่อญี่ปุ่น ตั้งแต่ที่จีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ คนทั้งหลายก็กำลังคิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ตราบใดที่โซลยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับปักกิ่งเอาไว้ ประเทศชาติก็จะไม่ประสบความยากลำบากใดๆ หรอก”
ในกรุงโตเกียว พวกผู้เชี่ยวชาญพูดกันว่า เกาหลีใต้กำลังหวังให้ญี่ปุ่นเป็นผู้เข้าแบกรับบทบาทอันตราย ในการลุกขึ้นยืนประจันหน้ากับจีน ขณะที่ฝ่ายโซลเองกลับจะพยายามทำดีกับปักกิ่งต่อไปเรื่อยๆ
โคสุเกะ ทากาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวญี่ปุ่นซึ่งพำนักอยู่ในกรุงโตเกียว สามารถติดตามทวิตเตอร์ของเขาได้ที่ @TakahashiKosuke
Lee puts Japan-Korea relations on the rocks
By Kosuke Takahashi
10/08/2012
ประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ของเกาหลีใต้ เดินทางไปเยือนหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งประเทศของเขากำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์อยู่กับญี่ปุ่นในวันศุกร์(10)ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันก่อนที่เกาหลีใต้จะรำลึกวาระที่ตนเองเป็นเอกราชหลุดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 การเลือกจังหวะเวลาอันอ่อนไหวเช่นนี้ ทางฝ่ายญี่ปุ่นมองว่า มันเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงแผนการของ ลี ที่จะจุดอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมให้ลุกฮือ เพื่อหันเหความสนใจของประชาชนเกาหลีใต้ ให้ออกไปจากปัญหาต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของเขากำลังประสบและถูกระบุว่าตกอยู่ในภาวะไร้น้ำยา อย่างไรก็ดี สำหรับฝ่ายโตเกียวแล้ว เวลานี้เท่ากับต้องเผชิญการท้าทายในเรื่องอธิปไตยอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากข้อพิพาทเดิมที่มีอยู่กับรัสเซียและจีน ท่ามกลางความรู้สึกภายในแดนอาทิตย์อุทัยที่ว่า พวกเพื่อนบ้านกำลังฉวยประโยชน์จากการที่อิทธิพลบารมีของญี่ปุ่นในภูมิภาคกำลังอ่อนแอลง
โตเกียว – วันที่ 10 สิงหาคม 2012 จะเป็นวันที่ถูกจดจำกันไปอีกนานในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี ว่าเป็นวันที่ฝ่ายเกาหลีใต้หว่านโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความวิบัติหายนะในอนาคต
ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องอย่างแข็งกร้าวจากโตเกียวให้ยุติแผนการคราวนี้ของเขา แต่ประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ของเกาหลีใต้ก็ไม่ฟัง และในวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2012 ก็ได้เดินทางไปเยือนหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยมีประมุขของโสมขาวคนใดเคยกระทำมาก่อน หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้โสมขาวกับแดนอาทิตย์อุทัยกำลังพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ โดยที่ฝ่ายเกาหลีเรียกชื่อว่า หมู่เกาะด็อคโด (Dokdo) ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเรียกขานว่า ทาเกชิมะ (Takeshima)
ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีเกาหลีใต้คราวนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นมองว่าจะส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ที่อยู่ในสภาพเย็นชาอยู่แล้ว ต้องย่ำแย่ลงอีกจนถึงจุดต่ำสุดในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาทีเดียว ผลสะท้อนสะเทือนซึ่งเกิดตามมาจะเป็นที่รู้สึกกันไม่เพียงเฉพาะในโซลหรือโตเกียวเท่านั้น หากแต่ในปักกิ่ง, วอชิงตัน, และเปียงยางอีกด้วย โดยที่เห็นชัดเจนก็คือจะส่งผลกระทบต่อการสร้างแนวร่วมที่สหรัฐฯวางแผนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการขยายกำลังทางนาวีของจีน ตลอดจนเพื่อคัดค้านความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo news agency) ญี่ปุ่นได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำโตเกียวมาพบเพื่อประท้วงการไปเยือนหมู่เกาะแห่งนั้นของประธานาธิบดีลี ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ โคอิชิโระ เกมบะ (Koichiro Gemba) ของญี่ปุ่น ได้เคยพูดปรามไว้แล้วว่า การเดินทางเยือนเช่นนั้น “จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” และญี่ปุ่นจะ “ต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างหนักแน่น”
ในส่วนของทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้เอง ออกมาแถลงว่าวัตถุประสงค์ในการเยือนพื้นที่บริเวณนั้นของประธานาธิบดีลี ส่วนหนึ่งก็เพื่อไปตรวจตราให้แน่ใจว่า สภาพแวดล้อมของเกาะอุลเลืองโด (Ulleungdo Island)ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน มีการคุ้มครองรักษากันเป็นอย่างดี ทั้งนี้พวกรัฐมนตรีทางสิ่งแวดล้อมและด้านวัฒนธรรมได้เดินทางไปพร้อมกับ ลี ด้วย ซึ่งดูจะเป็นการเน้นย้ำวัตถุประสงค์ในการตรวจงานด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และเพื่อที่จะปลอบประโลมเอาอกเอาใจโตเกียวบ้างนั่นเอง
การเยือนของเขาครั้งนี้บังเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้าวันที่ 15 สิงหาคม อันเป็นวันที่ชาวเกาหลีรำลึกวาระที่พวกเขาได้เป็นเอกราชจากการปกครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 ในแต่ละปีเมื่อถึงช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ แดนโสมก็มักจะระอุไปด้วยลัทธิชาตินิยม (nationalism) และลัทธิรักชาติ (patriotism) เกาหลี เรื่อยมา
นักวิเคราะห์จำนวนมากมองกันว่า ลี กำลังกลายเป็นผู้นำ “เป็ดง่อย”เสียแล้ว แม้ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนธันวาคมปีนี้ และเขาก็ดูมีความมุ่งหมายที่จะพลิกฟื้นฐานะของเขาและของพรรคการเมืองเขาในแวดวงแห่งอำนาจทางการเมืองแดนโสมขาว ด้วยการพึ่งพาการโหมกระพืออารมณ์ความรู้สึกทางเชื้อชาติ
นอกจากนั้นเขายังน่าจะต้องการหันเหความสนใจของสาธารณชนให้ออกห่างจากกรณีอื้อฉาวทุจริตคอร์รัปชั่นหลายกรณี ซึ่งพัวพันกับทั้ง ลี ซังดึค (Lee Sang-deuk) พี่ชายวัย 76 ปีที่เขาไว้วางใจถือเป็นที่ปรึกษาผู้ชี้แนะคนสนิท ตลอดจนพวกอดีตผู้ช่วยของเขาหลายต่อหลายคน บุคคลเหล่านี้ได้ถูกจับกุมตัวด้วยข้อหารับสินบนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตัวประธานาธิบดีลีเองก็ถูกบังคับให้ต้องกล่าวคำขอโทษต่อประชาชนออกอากาศทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ สืบเนื่องจากความฉาวโฉ่ดังกล่าว
“คณะรัฐบาลของลีซึ่งตกอยู่ในสภาพเป็นเป็ดง่อยในรอบปีที่ผ่านมา กำลังพยายามที่จะใช้ญี่ปุ่นเป็นแพะรับบาป” มาซาโอะ โอโกโนงิ (Masao Okonogi) ศาสตราจารย์กิตติคุณ (emeritus professor) แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ในกรุงโตเกียว และเป็นผู้เชี่ยวชาญชื่อดังในด้านกิจการของคาบสมุทรเกาหลี บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ในวันศุกร์ (10ส.ค.) ว่า “ในเกาหลีใต้นั้น สื่อมวลชนจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การเกาะกระแสประชานิยมเช่นนี้อย่างเปิดเผยหรอก ถ้าหากว่าเป้าหมายที่กำลังถูกเล่นงานคือญี่ปุ่น”
ทางด้าน ฮิเดชิ ทาเกซาดะ (Hideshi Takesada) อาจารย์ของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) ในเกาหลีใต้ ก็ให้ความเห็นที่เป็นการสะท้อนทัศนะของ โอโกโนงิ “ลีนั้นกลายเป็นเป็ดง่อยอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนๆ นอกจากนั้นความเสียหายจากกรณีอื้อฉาวรับสินบนพวกนี้ก็ใหญ่โตมโหฬารมากด้วย เพื่อทำให้สาธารณชนหวนกลับมาสนับสนุนเขาอีก เขาจำเป็นที่จะต้องใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวต่อญี่ปุ่น เพราะจุดยืนอย่างนี้เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมชมชื่นทั้งจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ทั้งจากพวกอนุรักษนิยมและพวกเสรีนิยม”
ในประเทศญี่ปุ่น การเดินหมากเช่นนี้ของประธานาธิบดีลี กำลังก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านเกาหลีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นเรื่องนี้อย่างหนึ่งได้แก่การที่คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักท่องอินเทอร์เน็ต กำลังตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า ลีไปเยือนหมู่เกาะพิพาทแห่งนั้นก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดความโกรธแค้นทางเชื้อชาติ เพราะเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นกำลังจะต้องแข่งขันชิงเหรียญทองแดงกันทั้งในกีฬาวอลเลย์บอลและฟุตบอล ในมหกรรมโอลิมปิกที่ลอนดอนขณะนี้
อันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็อยู่ในอาการขมึงตึงมานมนานแล้วสืบเนื่องจากประเด็นปัญหาในอดีตที่ยืดเยื้อแก้ไม่ตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ อดีต “สตรีบำเรอกาม” (comfort women) ซึ่งก็คือผู้หญิงที่ถูกระดม และบ่อยครั้งมักถูกบังคับ ให้เป็นทาสบำเรอกามของทหารในกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น (1930-1945)
ถึงแม้โซลเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องจัดการชดเชยทำขวัญแก่สตรีเหล่านี้ ทว่าโตเกียวก็ปฏิเสธเสมอมาด้วยข้ออ้างที่ว่า ตนไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายใดๆ ที่จะต้องชดเชยทำขวัญให้แก่บรรดาเหยื่อสงคราม ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้เป็นแรงงานและเป็นสตรีบำเรอกาม
ยิ่งกว่านั้น ในหนังสือ “สมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศประจำปี 2012” (2012 Defence White Paper) ของญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงกลาโหมแดนอาทิตย์อุทัยนำออกมาเผยแพร่ในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า หมู่เกาะที่พิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่นี้ เป็น “ดินแดนแต่ดั้งเดิม” ของญี่ปุ่น ทำให้เกิดการประท้วงอย่างแข็งขันจากฝ่ายเกาหลีใต้ในทันที สำหรับโซลแล้ว หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ไม่เพียงแค่เป็นหัวข้อของการพิพาททางดินแดนธรรมดาๆ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นมรดกตกทอดจากยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมและทำการปกครองอย่างโหดเหี้ยมเลวร้ายในระหว่างปี 1910-1945 อีกด้วย ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้แหละ ทำให้โตเกียวกับโซลอยู่บนเส้นทางที่จะต้องเข้าปะทะกัน
เกาหลีใต้นั้นได้มีการปรากฏตัวอย่างถาวรบนหมู่เกาะด็อคโดมาตั้งแต่ปี 1954 แล้ว ทว่าญี่ปุ่นก็ไม่เคยยกเลิกการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนแห่งนี้เลยนับตั้งแต่ที่ได้ประกาศอ้างเช่นนั้นเมื่อปี 1905 ทั้งสองประเทศต่างหยิบยกอ้างอิงหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังกลับไปได้หลายศตวรรษเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องกรรมสิทธิ์ของฝ่ายตน
สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว นี่ไม่ใช่เป็นกรณีพิพาททางดินแดนเพียงกรณีเดียวที่แดนอาทิตย์อุทัยกำลังประสบอยู่ ห่างออกไปทางด้านใต้ ญี่ปุ่นก็กำลังพัวพันกับการพิพาทกับจีนเพื่อช่วงชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku Islands เป็นชื่อในภาษาญี่ปุ่น ส่วนภาษาจีนเรียกขานว่าหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ Diaoyu Islands) โดยที่ทั้งสองชาติยังกำลังแข่งขันกันในเรื่องการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในบริเวณดังกล่าวของทะเลจีนตะวันออก ส่วนทางด้านเหนือขึ้นไป แดนอาทิตย์อุทัยก็มีประเด็นปัญหาอันยุ่งยากซับซ้อนอยู่กับรัสเซีย เกี่ยวกับดินแดนหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “ดินแดนทางตอนเหนือ” (Northern Territories) ซึ่งปัจจุบันตกอยู่ในความครอบครองของรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายหมีขาวเรียกขานดินแดนเหล่านี้ว่า “หมู่เกาะคูริวใต้” (Southern Kurils)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นก็กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ จากการที่นายกรัฐมนตรี ดมิตริ เมดเวเดฟ ของรัสเซีย เดินทางไปเยือนหมู่เกาะซึ่งกำลังพิพาทกันอยู่เหล่านี้หลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2010 เป็นต้นมา (ซึ่งก็คือตั้งแต่ที่เมดเวเดฟยังมีตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย ก่อนที่วลาดิมีร์ ปูติน จะกลับขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้งในปีนี้ แล้วตั้งให้เมดเวเดฟเป็นนายกรัฐมนตรี –ผู้แปล) ทำให้ฝ่ายโตเกียวทำการประท้วงอย่างเดือดดาล “ประธานาธิบดีลีของเกาหลีใต้ อาจจะเห็นตัวอย่างและใช้วิธีการเดียวกับที่เมดเวเดฟเดินทางไปเยือนดินแดนทางตอนเหนือนะ” โอโกโนงิ ตั้งข้อสันนิษฐาน
กรณีพิพาทต่างๆ เหล่านี้ทำให้เป็นที่รู้สึกกันว่า บรรดาเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นดูเหมือนกำลังฉวยประโยชน์จากการที่อิทธิพลบารมีทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ
“ญี่ปุ่นกำลังถูกจีนดูหมิ่น ดังนั้นเกาหลีใต้จึงคิดว่าตนไม่จำเป็นที่จะต้องทำการประนีประนอมกับญี่ปุ่นแล้ว” ทาเกซาดะ กล่าว “นี่คือแกนกลางในจุดยืนของโซลต่อญี่ปุ่น ตั้งแต่ที่จีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ คนทั้งหลายก็กำลังคิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ตราบใดที่โซลยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับปักกิ่งเอาไว้ ประเทศชาติก็จะไม่ประสบความยากลำบากใดๆ หรอก”
ในกรุงโตเกียว พวกผู้เชี่ยวชาญพูดกันว่า เกาหลีใต้กำลังหวังให้ญี่ปุ่นเป็นผู้เข้าแบกรับบทบาทอันตราย ในการลุกขึ้นยืนประจันหน้ากับจีน ขณะที่ฝ่ายโซลเองกลับจะพยายามทำดีกับปักกิ่งต่อไปเรื่อยๆ
โคสุเกะ ทากาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวญี่ปุ่นซึ่งพำนักอยู่ในกรุงโตเกียว สามารถติดตามทวิตเตอร์ของเขาได้ที่ @TakahashiKosuke