(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Cambodia as divide and rule pawn
By Sebastian Strangio
17/07/2012
การที่กัมพูชากำลังพึ่งพาอาศัยเงินกู้และการลงทุนแบบไร้เงื่อนไขผูกพันที่ได้รับจากประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลายปีหลังมานี้ ทำให้บังเกิดความสงสัยข้องใจกันไปทั่ว เมื่อพนมเปญออกมายืนยันว่าสิ่งต่างๆ ที่กระทำลงไปซึ่งส่งผลทำให้การประชุมของอาเซียนในสัปดาห์ที่แล้วต้องล้มเหลวลงไม่เป็นท่านั้น เป็นเพราะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของตนเองหรือของภูมิภาคแถบนี้โดยรวมเป็นสำคัญ จากการที่กัมพูชาดำเนินการต่างๆ ในลักษณะสอดรับประสานกันกับความต้องการของปักกิ่งเช่นนี้ พนมเปญก็กำลังรื้อฟื้นความวิตกกังวลที่เคยมีมาหลายสิบปีแล้ว ที่ว่า จะเกิด “ไส้ศึก” ซึ่งนิยมจีนขึ้นมา และยุติปิดฉากความเป็นอิสระในระดับภูมิภาคของสมาคมอาเซียน
*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
สมาคมอาเซียนนั้น ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1967 ในฐานะเป็นป้อมปราการที่จะต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่รัฐสมาชิกประกอบด้วย อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, และไทย ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 กลุ่มนี้แสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในความพยายามซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้นำที่จะโดดเดี่ยวเวียดนามที่สามารถรวมประเทศอยู่ใต้การปกครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และภายหลังปี 1979 เมื่อมีรัฐบาลกัมพูชาที่สถาปนาขึ้นโดยเวียดนาม หลังจากเข้าโค่นล้มระบอบปกครองอันเต็มไปด้วยการประหัตประหารผู้คนนำโดยเขมรแดงไปแล้ว อาเซียนในเวลานั้นก็มุ่งต่อต้านระบอบปกครองในพนมเปญด้วย อย่างไรก็ตาม การยุติลงของสงครามเย็นในระดับโลก ก็ทำให้ท่าทีต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยของอาเซียนจบสิ้นลงไปเช่นกัน โดยที่ในที่สุดแล้วอาเซียนก็ขยายรับเอาเวียดนาม (ปี1995), ลาวและพม่า (ปี 1997), และกัมพูชา (ปี 1999) เข้าเป็นสมาชิกสมาคม
กระนั้นความตึงเครียดระหว่างพวกสมาชิกเก่ากับสมาชิกใหม่ก็ยังดำรงอยู่ ในปี 2007 ลีกวนยู ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ได้พูดอย่างชัดเจนถึงการแบ่งแยกแตกร้าวกันระหว่างบรรดารัฐสมาชิกดั้งเดิมของอาเซียน กับพวกชาติที่ยากจนกว่าซึ่งเพิ่งเข้าร่วมสมาคมในช่วงทศวรรษ 1990 ตามรายงานลับที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสิงคโปร์ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้วรั่วไหลออกมาผ่านทางเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” ลีกวนยูได้บอกกับพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯว่า อาเซียนไม่ควรรับกัมพูชา, พม่า, ลาว, และเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกเลย เขายังแสดงความหวาดกลัวว่า อาจจะมีบางรายในประเทศเหล่านี้แสดงตัวเป็นไส้ศึกผู้นิยมจีน อยู่ภายในสมาคมอาเซียนก็ได้
“พวกสมาชิกเดิมๆ ของอาเซียน เป็นพวกที่มีค่านิยมในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน และมีความเกลียดชังเป็นศัตรูกับลัทธิคอมมิวนิสต์” รายงานลับฉบับนี้อ้างสิ่งที่ระบุว่าเป็นความคิดเห็นของลี “ค่านิยมเหล่านี้กำลังถูกพวกสมาชิกใหม่ๆ ทำ 'แปดเปื้อนยุ่งเหยิง' อีกทั้งปัญหาต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคมของชาติเหล่านี้ก็ทำให้เป็นที่น่าสงสัยข้องใจว่า พวกเขาจะสามารถประพฤติตนได้เหมือนกับพวกสมาชิกหน้าเดิมๆ ของอาเซียนได้หรือ”
ลีเน้นหนักให้ความสนใจเป็นพิเศษไปที่ลาว โดยเรียกประเทศนี้ว่าเป็น “ด่านชั้นนอก” แห่งหนึ่งของจีน ซึ่งคอยรายงานเนื้อหาของการประชุมอาเซียนทุกๆ อย่างกลับไปยังปักกิ่ง – แต่ถ้าเป็นในเวลานี้ เขาก็น่าจะเอ่ยถึงกัมพูชาได้ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อกัมพูชากำลังกลายเป็นพันธมิตรที่ต้องพึ่งพาอาศัยปักกิ่งมากที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ไปอย่างรวดเร็ว
ทางด้านเธเยอร์แห่งวิทยาลัยการทหารออสเตรเลียบอกว่า การเกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายในสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังจากที่มีแต่ถ้อยคำโวหารแสดงถึงความสามัคคีเป็นเอกภาพกันมาเป็นปีๆ ถือได้ว่าเป็น “รอยแตกร้าวสำคัญรอยแรกของเขื่อนแห่งความเป็นอิสระในภูมิภาคแถบนี้” ซึ่งอาเซียนสร้างขึ้นมา “เวลานี้จีนสามารถเจาะเข้าไปจนถึงห้องลับส่วนในสุดของอาเซียนได้แล้ว และสามารถที่จะเล่นเกมจากความแตกแยกภายในหมู่สมาชิกสมาคมอาเซียนได้แล้ว” เขาสำทับ
นักวิจัยแห่งวิทยาลัยการทหารออสเตรเลียผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ภาพสมมุติสถานการณ์อย่างเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นมาได้ก็คือ สมาชิกอาเซียนยังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบ่อนทำลายการก่อตั้ง “ประชาคมทางการเมือง-ทางความมั่นคงแห่งอาเซียน” (ASEAN Political-Security Community) ตามที่ได้มีการวางแผนเอาไว้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแบ่งแยกโดยพฤตินัย ระหว่างพวกรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้แก่ เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา, ไทย, และพม่า กับพวกรัฐในเขตทะเลของอาเซียน “ผมไม่ทราบหรอกว่าการแตกร้าวเช่นนี้จะเยียวยาแก้ไขได้อย่างไร” เขากล่าว
มันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ความชะงักงันที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วจะกลายเป็นลางมรณะสำหรับคำมั่นสัญญาเรื่องการไปสู่ความเป็น “หนึ่งประชาคม” ของอาเซียนหรือไม่ นักวิเคราะห์การเมือง เล่า มอง เฮย์ เป็นผู้หนึ่งซึ่งเชื่อว่า มี “พวกผู้นำ (ในอาเซียน) ที่เอาจริงเอาจัง ผู้ซึ่งจะมองหาหนทางซ่อมแซมแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น” แต่มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นทุกทีว่า การที่พนมเปญต้องพึ่งพาอาศัยเงินกู้และเงินให้เปล่าจากจีนนั้น เป็นพัฒนาการที่มีผลต่อเนื่องสร้างความกระทบกระเทือนในระดับทั่วทั้งภูมิภาค
เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในพนมเปญ สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com
**หมายเหตุผู้แปล**
ในวันเดียวกับที่เสนอข้อเขียนเรื่อง Cambodia as divide and rule pawn ของ Sebastian Strangio ทางเอเชียไทมส์ออนไลน์ยังมีข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่เสนอความคิดเห็นในประเด็นเดียวกัน นั่นคือ เรื่อง Sea of trouble for ASEAN เขียนโดย David Brown
ข้อเขียนของ เดวิด บราวน์ ชิ้นนี้ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างไปจากของ เซบาสเตียน สตรันจิโอ จึงขอแปลเก็บความเนื้อหาประมาณครึ่งหลังของข้อเขียนดังกล่าว มาเสนอเอาไว้ในที่นี้:
ทั้งรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่างปรารถนาให้ตนเองมีความสามารถมากกว่านี้ในการสกัดขัดขวางการคืบคลานลงใต้ของอำนาจทางทะเลของแดนมังกร ทว่าเหล่าเสนาธิการทหารของพวกเขา หรือไม่ก็บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติของพวกเขา ต่างทราบดีว่ากองทัพของพวกเขายังห่างชั้นจากจีนมากมายเหลือเกิน
กองทัพฟิลิปปินส์นั้น หลังจากถูกละเลยทอดทิ้งมาหลายปี ก็มีสมรรถนะอันจำกัดในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยยังไม่ต้องไปพูดถึงการดำเนินการป้องปรามการรุกล้ำเข้ามาของจีน สำหรับกองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ ของเวียดนาม ได้พัฒนาก้าวหน้าไปหลายอย่างหลายประการทีเดียวในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และน่าที่จะสามารถประคับประคองรักษาตัวเองได้ในการทะเลาะเบาะแว้งกับพวกยานตรวจการณ์ในเขตทะเลหลวงและการรักษากฎหมายด้านการประมงของจีน อย่างไรก็ดี ถ้าหากเกิดการประจันหน้ากันด้วยกำลังอาวุธ ก็ย่อมเปิดโอกาสให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีเหตุผลข้ออ้างในการ “สั่งสอนเวียดนาม” (อย่างที่พวกนักปลุกปั่นยุยงชาวจีนชอบออกมาเรียกร้องอยู่บ่อยๆ)
เพื่อทำให้ดุลกำลังของตนเสียเปรียบน้อยลง ทั้งมะนิลาและฮานอยต่างเที่ยวเสาะแสวงหาความช่วยเหลือทางการทหารจากที่ไหนก็ได้ตามแต่จะค้นพบ ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ แสดงท่าทีไว้วางใจเป็นพิเศษที่จะพึ่งพาอาศัยความพร้อมของสหรัฐฯในการยกระดับความร่วมมือระดับทวิภาคีฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาร่วมป้องกันที่ได้ลงนามกันมา 60 ปีแล้ว ส่วนเวียดนามนั้นพยายามกระจายเครือข่ายของตนให้กว้างขวางยิ่งกว่า โดยจัดหาซื้ออาวุธทั้งจากรัสเซีย, ฝรั่งเศส, แคนาดา, และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากอินเดียในด้านการฝึกอบรมการทำสงครามเรือดำน้ำ และขยับขยายเพิ่มพูนการติดต่อระหว่างทหารกับทหาร ทั้งกับสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และญี่ปุ่น
วอชิงตันนั้นมีความยินดีให้ความสนับสนุนการฝึกซ้อมรบทั้งหลายที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเสริมสมรรถนะของพวกพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ขึ้นสู่ระดับที่สามารถใช้ป้องปรามจีนได้อย่างน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงยืนกรานไม่เอาด้วยกับเสียงเสนอแนะที่ว่า ควรให้กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของอเมริกันเข้ารับบทบาทเป็นผู้ตรวจตราเฝ้าระวังอย่างแข็งขันในบริเวณทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นภายใต้สภาพการณ์ในปัจจุบันก็ไม่มีช่องทางที่สหรัฐฯจะสามารถตกลงขายอาวุธประเภทร้ายแรงให้แก่เวียดนาม รัฐสภาอเมริกันซึ่งมีความกังวลที่จะต้องออกไปผจญภัยทางทหารในต่างแดนแบบชนิดไม่รู้จุดสิ้นสุดอีกคำรบหนึ่งอยู่แล้วนั้น จะต้องเรียกร้องตั้งเงื่อนไขให้ระบอบคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องปฏิบัติต่อพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศของตนเองด้วยความบันยะบันยังอย่างชนิดเห็นได้ชัดเจน อันเป็นข้อแลกเปลี่ยนซึ่งฮานอยไม่มีทางยินยอม
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องหันมาใช้วิธีทางการทูต –แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีนี้จะใช้ได้จริงหรือ หลังจากกัมพูชาแล้ว ก็จะถึงวาระของบรูไนที่จะขึ้นเป็นประธานสมาคมอาเซียนรายถัดไป จากนั้นก็ตามมาด้วยชาติพันธมิตรของจีน 2 ราย ได้แก่ พม่า ในปี 2014 และ ลาว ในปี 2015 พูดง่ายๆ ก็คือ จากตัวอย่างที่เห็นกันในสัปดาห์ที่แล้ว คงจะต้องรอคอยกันไปอีกนานแสนนาน ถ้าหากต้องการเห็นอาเซียนมีปฏิบัติการอันทรงประสิทธิภาพเพื่อขจัดปัดเป่าไม่ให้เกิดการปะทะกันในทะเลจีนใต้ หรือจะให้มีการเกลี้ยกล่อมชาติที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่จนยินยอมที่จะทำการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้อย่างแท้จริง
วิธีการที่อาจนำมาใช้แบบขัดตาทัพไปก่อน น่าจะเป็นการที่พวกรัฐสมาชิกอาเซียนกลุ่มย่อย อันได้แก่ พวก 5-6 รายซึ่งคัดค้านอย่างแข็งขันที่สุดต่อการที่ทะเลจีนใต้จะถูกนำไปรวมเข้าไว้ในมหาอาณาจักรจีน จะต้องก้าวออกมาเสนอแผนการริเริ่มของพวกตนกันเอง โดยอุดมคติเลย เวียดนาม, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และบรูไน ซึ่งมี อินโดนีเซีย กับ สิงคโปร์ คอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ จะต้องหาทางอภิปรายถกเถียงในหมู่พวกเขากันเองก่อนว่า พวกเขาอ้างกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง และไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง เหมือนอย่างที่พวกนักวิเคราะห์อิสระได้เสนอเอาไว้ในบทความที่เผยแพร่ออกมาไม่นานมานี้
พวกนักวิเคราะห์เหล่านี้บอกว่า ในจุดนี้ยังจะไม่มีการให้ผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายใดต้องถอนการกล่าวอ้างของพวกตน แต่ด้วยการทำความกระจ่างชัดเจนเกี่ยวกับพื้นฐานทางกฎหมายของข้ออ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนทางทะเลของพวกเขา และแยกข้ออ้างเหล่านี้ออกมาจากพวกกรณีพิพาทที่อิงอาศัยข้ออ้างเกี่ยวกับลักษณะของภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นกรณีพิพาทที่ยุ่งยากกว่าและเป็นการพิพาทกันในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดเล็กกว่ากันมาก พวกเขาก็จะสามารถเสนอรวมตัวเป็นแนวร่วมอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อสู้กับจีนในจุดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ พื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับกันได้เพียงประการเดียวสำหรับใช้อ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลในทะเลจีนใต้ ก็คือ กฎหมายระหว่างประเทศ
กระบวนการที่เพิ่งกล่าวมานี้ จะท้าทายความเฉลียวฉลาดและไหวพริบทางการเมืองของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 6 รายที่พูดเอาไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม และ มาเลเซีย ในกรณีของเวียดนาม ถึงแม้ฮานอยได้ประกาศยืนยันว่าพร้อมที่จะอิงอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศมาแก้ไขการอ้างกรรมสิทธิ์ซึ่งทับซ้อนกันอยู่ ทว่าถ้าหากทำเช่นนั้นจริงๆ ก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้แก่พลเมืองเวียดนาม ซึ่งมีความคิดจิตใจคล้ายคลึงกับพลเมืองของจีน กล่าวคือ ยังยึดมั่นอยู่กับแนวความคิดแบบมุ่งขยายอาณาเขตทางทะเลให้ทัดเทียมกับที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ ส่วนสำหรับมาเลเซียนั้น เรื่องง่ายๆ ที่จะต้องทำก็คือกล้าลุกขึ้นประกาศตัวให้ชัดเจน เท่าที่เป็นมาจนถึงเวลานี้ มาเลเซียและบรูไนดูเหมือนยินยอมให้ตนเองฝันเฟื่องสร้างจินตนาการไปเองว่า หลังจากที่จีนได้ต่อสู้ช่วงชิงน่านน้ำบริเวณนอกชายฝั่งเวียดนามและฟิลิปปินส์จนหนำใจแล้ว ก็จะรู้สึกอิ่มและไม่ยุ่งกับบริเวณอื่นๆ อีก
จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์ของตนโดยอิงอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า กลาสีและชาวประมงของตนได้เคยเดินทางไปๆ มาๆ ใน “ทะเลทางทิศใต้ของจีน” ในอดีตกาล ทั้งนี้แดนมังกรมองว่าหลักฐานในเรื่องนี้และบวกด้วยความแข็งแกร่งทางนาวีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของตนก็น่าจะเป็นข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักเพียงพอแล้ว ตราบใดที่การอ้างกรรมสิทธิ์ของรัฐชายฝั่งทะเลรายอื่นๆ ยังคงกำกวมคลุมเครือ ภาวะทางตันในเชิงยุทธศาสตร์ก็จะดำรงคงอยู่ต่อไป และนั่นก็เป็นสถานการณ์ซึ่งสร้างเงื่อนไขอันดีเยี่ยมให้แก่จีน สำหรับการสร้าง “ข้อเท็จจริงต่างๆ” เพิ่มมากขึ้นอีก และหาทางทำความตกลงแบบทวิภาคี โดยที่ทำให้ผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ ที่ไม่ยอมตกลงด้วยกลายเป็นฝ่ายสูญเสีย
ตรงกันข้าม ถ้าหากรัฐอาเซียนที่มีส่วนใดส่วนเสียมากที่สุด สามารถผนึกรวมตัวโดยมีจุดยืนร่วมกันอย่างหนักแน่นในเรื่องการยึดหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว พวกเขาก็จะมีข้ออ้างอันมั่นคงซึ่งสามารถเรียกความสนับสนุนจากชาติอื่นๆ ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสหรัฐอเมริกา
เดวิด บราวน์ เป็นนักการทูตอเมริกันเกษียณอายุ ซึ่งสนใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศเวียดนามร่วมสมัย สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ atnworbd@gmail.com
Cambodia as divide and rule pawn
By Sebastian Strangio
17/07/2012
การที่กัมพูชากำลังพึ่งพาอาศัยเงินกู้และการลงทุนแบบไร้เงื่อนไขผูกพันที่ได้รับจากประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลายปีหลังมานี้ ทำให้บังเกิดความสงสัยข้องใจกันไปทั่ว เมื่อพนมเปญออกมายืนยันว่าสิ่งต่างๆ ที่กระทำลงไปซึ่งส่งผลทำให้การประชุมของอาเซียนในสัปดาห์ที่แล้วต้องล้มเหลวลงไม่เป็นท่านั้น เป็นเพราะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของตนเองหรือของภูมิภาคแถบนี้โดยรวมเป็นสำคัญ จากการที่กัมพูชาดำเนินการต่างๆ ในลักษณะสอดรับประสานกันกับความต้องการของปักกิ่งเช่นนี้ พนมเปญก็กำลังรื้อฟื้นความวิตกกังวลที่เคยมีมาหลายสิบปีแล้ว ที่ว่า จะเกิด “ไส้ศึก” ซึ่งนิยมจีนขึ้นมา และยุติปิดฉากความเป็นอิสระในระดับภูมิภาคของสมาคมอาเซียน
*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
สมาคมอาเซียนนั้น ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1967 ในฐานะเป็นป้อมปราการที่จะต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่รัฐสมาชิกประกอบด้วย อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, และไทย ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 กลุ่มนี้แสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในความพยายามซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้นำที่จะโดดเดี่ยวเวียดนามที่สามารถรวมประเทศอยู่ใต้การปกครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และภายหลังปี 1979 เมื่อมีรัฐบาลกัมพูชาที่สถาปนาขึ้นโดยเวียดนาม หลังจากเข้าโค่นล้มระบอบปกครองอันเต็มไปด้วยการประหัตประหารผู้คนนำโดยเขมรแดงไปแล้ว อาเซียนในเวลานั้นก็มุ่งต่อต้านระบอบปกครองในพนมเปญด้วย อย่างไรก็ตาม การยุติลงของสงครามเย็นในระดับโลก ก็ทำให้ท่าทีต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยของอาเซียนจบสิ้นลงไปเช่นกัน โดยที่ในที่สุดแล้วอาเซียนก็ขยายรับเอาเวียดนาม (ปี1995), ลาวและพม่า (ปี 1997), และกัมพูชา (ปี 1999) เข้าเป็นสมาชิกสมาคม
กระนั้นความตึงเครียดระหว่างพวกสมาชิกเก่ากับสมาชิกใหม่ก็ยังดำรงอยู่ ในปี 2007 ลีกวนยู ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ได้พูดอย่างชัดเจนถึงการแบ่งแยกแตกร้าวกันระหว่างบรรดารัฐสมาชิกดั้งเดิมของอาเซียน กับพวกชาติที่ยากจนกว่าซึ่งเพิ่งเข้าร่วมสมาคมในช่วงทศวรรษ 1990 ตามรายงานลับที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสิงคโปร์ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้วรั่วไหลออกมาผ่านทางเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” ลีกวนยูได้บอกกับพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯว่า อาเซียนไม่ควรรับกัมพูชา, พม่า, ลาว, และเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกเลย เขายังแสดงความหวาดกลัวว่า อาจจะมีบางรายในประเทศเหล่านี้แสดงตัวเป็นไส้ศึกผู้นิยมจีน อยู่ภายในสมาคมอาเซียนก็ได้
“พวกสมาชิกเดิมๆ ของอาเซียน เป็นพวกที่มีค่านิยมในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน และมีความเกลียดชังเป็นศัตรูกับลัทธิคอมมิวนิสต์” รายงานลับฉบับนี้อ้างสิ่งที่ระบุว่าเป็นความคิดเห็นของลี “ค่านิยมเหล่านี้กำลังถูกพวกสมาชิกใหม่ๆ ทำ 'แปดเปื้อนยุ่งเหยิง' อีกทั้งปัญหาต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคมของชาติเหล่านี้ก็ทำให้เป็นที่น่าสงสัยข้องใจว่า พวกเขาจะสามารถประพฤติตนได้เหมือนกับพวกสมาชิกหน้าเดิมๆ ของอาเซียนได้หรือ”
ลีเน้นหนักให้ความสนใจเป็นพิเศษไปที่ลาว โดยเรียกประเทศนี้ว่าเป็น “ด่านชั้นนอก” แห่งหนึ่งของจีน ซึ่งคอยรายงานเนื้อหาของการประชุมอาเซียนทุกๆ อย่างกลับไปยังปักกิ่ง – แต่ถ้าเป็นในเวลานี้ เขาก็น่าจะเอ่ยถึงกัมพูชาได้ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อกัมพูชากำลังกลายเป็นพันธมิตรที่ต้องพึ่งพาอาศัยปักกิ่งมากที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ไปอย่างรวดเร็ว
ทางด้านเธเยอร์แห่งวิทยาลัยการทหารออสเตรเลียบอกว่า การเกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายในสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังจากที่มีแต่ถ้อยคำโวหารแสดงถึงความสามัคคีเป็นเอกภาพกันมาเป็นปีๆ ถือได้ว่าเป็น “รอยแตกร้าวสำคัญรอยแรกของเขื่อนแห่งความเป็นอิสระในภูมิภาคแถบนี้” ซึ่งอาเซียนสร้างขึ้นมา “เวลานี้จีนสามารถเจาะเข้าไปจนถึงห้องลับส่วนในสุดของอาเซียนได้แล้ว และสามารถที่จะเล่นเกมจากความแตกแยกภายในหมู่สมาชิกสมาคมอาเซียนได้แล้ว” เขาสำทับ
นักวิจัยแห่งวิทยาลัยการทหารออสเตรเลียผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ภาพสมมุติสถานการณ์อย่างเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นมาได้ก็คือ สมาชิกอาเซียนยังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบ่อนทำลายการก่อตั้ง “ประชาคมทางการเมือง-ทางความมั่นคงแห่งอาเซียน” (ASEAN Political-Security Community) ตามที่ได้มีการวางแผนเอาไว้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแบ่งแยกโดยพฤตินัย ระหว่างพวกรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้แก่ เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา, ไทย, และพม่า กับพวกรัฐในเขตทะเลของอาเซียน “ผมไม่ทราบหรอกว่าการแตกร้าวเช่นนี้จะเยียวยาแก้ไขได้อย่างไร” เขากล่าว
มันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ความชะงักงันที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วจะกลายเป็นลางมรณะสำหรับคำมั่นสัญญาเรื่องการไปสู่ความเป็น “หนึ่งประชาคม” ของอาเซียนหรือไม่ นักวิเคราะห์การเมือง เล่า มอง เฮย์ เป็นผู้หนึ่งซึ่งเชื่อว่า มี “พวกผู้นำ (ในอาเซียน) ที่เอาจริงเอาจัง ผู้ซึ่งจะมองหาหนทางซ่อมแซมแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น” แต่มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นทุกทีว่า การที่พนมเปญต้องพึ่งพาอาศัยเงินกู้และเงินให้เปล่าจากจีนนั้น เป็นพัฒนาการที่มีผลต่อเนื่องสร้างความกระทบกระเทือนในระดับทั่วทั้งภูมิภาค
เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในพนมเปญ สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com
**หมายเหตุผู้แปล**
ในวันเดียวกับที่เสนอข้อเขียนเรื่อง Cambodia as divide and rule pawn ของ Sebastian Strangio ทางเอเชียไทมส์ออนไลน์ยังมีข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่เสนอความคิดเห็นในประเด็นเดียวกัน นั่นคือ เรื่อง Sea of trouble for ASEAN เขียนโดย David Brown
ข้อเขียนของ เดวิด บราวน์ ชิ้นนี้ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างไปจากของ เซบาสเตียน สตรันจิโอ จึงขอแปลเก็บความเนื้อหาประมาณครึ่งหลังของข้อเขียนดังกล่าว มาเสนอเอาไว้ในที่นี้:
ทั้งรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่างปรารถนาให้ตนเองมีความสามารถมากกว่านี้ในการสกัดขัดขวางการคืบคลานลงใต้ของอำนาจทางทะเลของแดนมังกร ทว่าเหล่าเสนาธิการทหารของพวกเขา หรือไม่ก็บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติของพวกเขา ต่างทราบดีว่ากองทัพของพวกเขายังห่างชั้นจากจีนมากมายเหลือเกิน
กองทัพฟิลิปปินส์นั้น หลังจากถูกละเลยทอดทิ้งมาหลายปี ก็มีสมรรถนะอันจำกัดในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยยังไม่ต้องไปพูดถึงการดำเนินการป้องปรามการรุกล้ำเข้ามาของจีน สำหรับกองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ ของเวียดนาม ได้พัฒนาก้าวหน้าไปหลายอย่างหลายประการทีเดียวในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และน่าที่จะสามารถประคับประคองรักษาตัวเองได้ในการทะเลาะเบาะแว้งกับพวกยานตรวจการณ์ในเขตทะเลหลวงและการรักษากฎหมายด้านการประมงของจีน อย่างไรก็ดี ถ้าหากเกิดการประจันหน้ากันด้วยกำลังอาวุธ ก็ย่อมเปิดโอกาสให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีเหตุผลข้ออ้างในการ “สั่งสอนเวียดนาม” (อย่างที่พวกนักปลุกปั่นยุยงชาวจีนชอบออกมาเรียกร้องอยู่บ่อยๆ)
เพื่อทำให้ดุลกำลังของตนเสียเปรียบน้อยลง ทั้งมะนิลาและฮานอยต่างเที่ยวเสาะแสวงหาความช่วยเหลือทางการทหารจากที่ไหนก็ได้ตามแต่จะค้นพบ ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ แสดงท่าทีไว้วางใจเป็นพิเศษที่จะพึ่งพาอาศัยความพร้อมของสหรัฐฯในการยกระดับความร่วมมือระดับทวิภาคีฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาร่วมป้องกันที่ได้ลงนามกันมา 60 ปีแล้ว ส่วนเวียดนามนั้นพยายามกระจายเครือข่ายของตนให้กว้างขวางยิ่งกว่า โดยจัดหาซื้ออาวุธทั้งจากรัสเซีย, ฝรั่งเศส, แคนาดา, และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากอินเดียในด้านการฝึกอบรมการทำสงครามเรือดำน้ำ และขยับขยายเพิ่มพูนการติดต่อระหว่างทหารกับทหาร ทั้งกับสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และญี่ปุ่น
วอชิงตันนั้นมีความยินดีให้ความสนับสนุนการฝึกซ้อมรบทั้งหลายที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเสริมสมรรถนะของพวกพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ขึ้นสู่ระดับที่สามารถใช้ป้องปรามจีนได้อย่างน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงยืนกรานไม่เอาด้วยกับเสียงเสนอแนะที่ว่า ควรให้กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของอเมริกันเข้ารับบทบาทเป็นผู้ตรวจตราเฝ้าระวังอย่างแข็งขันในบริเวณทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นภายใต้สภาพการณ์ในปัจจุบันก็ไม่มีช่องทางที่สหรัฐฯจะสามารถตกลงขายอาวุธประเภทร้ายแรงให้แก่เวียดนาม รัฐสภาอเมริกันซึ่งมีความกังวลที่จะต้องออกไปผจญภัยทางทหารในต่างแดนแบบชนิดไม่รู้จุดสิ้นสุดอีกคำรบหนึ่งอยู่แล้วนั้น จะต้องเรียกร้องตั้งเงื่อนไขให้ระบอบคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องปฏิบัติต่อพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศของตนเองด้วยความบันยะบันยังอย่างชนิดเห็นได้ชัดเจน อันเป็นข้อแลกเปลี่ยนซึ่งฮานอยไม่มีทางยินยอม
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องหันมาใช้วิธีทางการทูต –แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีนี้จะใช้ได้จริงหรือ หลังจากกัมพูชาแล้ว ก็จะถึงวาระของบรูไนที่จะขึ้นเป็นประธานสมาคมอาเซียนรายถัดไป จากนั้นก็ตามมาด้วยชาติพันธมิตรของจีน 2 ราย ได้แก่ พม่า ในปี 2014 และ ลาว ในปี 2015 พูดง่ายๆ ก็คือ จากตัวอย่างที่เห็นกันในสัปดาห์ที่แล้ว คงจะต้องรอคอยกันไปอีกนานแสนนาน ถ้าหากต้องการเห็นอาเซียนมีปฏิบัติการอันทรงประสิทธิภาพเพื่อขจัดปัดเป่าไม่ให้เกิดการปะทะกันในทะเลจีนใต้ หรือจะให้มีการเกลี้ยกล่อมชาติที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่จนยินยอมที่จะทำการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้อย่างแท้จริง
วิธีการที่อาจนำมาใช้แบบขัดตาทัพไปก่อน น่าจะเป็นการที่พวกรัฐสมาชิกอาเซียนกลุ่มย่อย อันได้แก่ พวก 5-6 รายซึ่งคัดค้านอย่างแข็งขันที่สุดต่อการที่ทะเลจีนใต้จะถูกนำไปรวมเข้าไว้ในมหาอาณาจักรจีน จะต้องก้าวออกมาเสนอแผนการริเริ่มของพวกตนกันเอง โดยอุดมคติเลย เวียดนาม, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และบรูไน ซึ่งมี อินโดนีเซีย กับ สิงคโปร์ คอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ จะต้องหาทางอภิปรายถกเถียงในหมู่พวกเขากันเองก่อนว่า พวกเขาอ้างกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง และไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง เหมือนอย่างที่พวกนักวิเคราะห์อิสระได้เสนอเอาไว้ในบทความที่เผยแพร่ออกมาไม่นานมานี้
พวกนักวิเคราะห์เหล่านี้บอกว่า ในจุดนี้ยังจะไม่มีการให้ผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายใดต้องถอนการกล่าวอ้างของพวกตน แต่ด้วยการทำความกระจ่างชัดเจนเกี่ยวกับพื้นฐานทางกฎหมายของข้ออ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนทางทะเลของพวกเขา และแยกข้ออ้างเหล่านี้ออกมาจากพวกกรณีพิพาทที่อิงอาศัยข้ออ้างเกี่ยวกับลักษณะของภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นกรณีพิพาทที่ยุ่งยากกว่าและเป็นการพิพาทกันในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดเล็กกว่ากันมาก พวกเขาก็จะสามารถเสนอรวมตัวเป็นแนวร่วมอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อสู้กับจีนในจุดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ พื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับกันได้เพียงประการเดียวสำหรับใช้อ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลในทะเลจีนใต้ ก็คือ กฎหมายระหว่างประเทศ
กระบวนการที่เพิ่งกล่าวมานี้ จะท้าทายความเฉลียวฉลาดและไหวพริบทางการเมืองของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 6 รายที่พูดเอาไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม และ มาเลเซีย ในกรณีของเวียดนาม ถึงแม้ฮานอยได้ประกาศยืนยันว่าพร้อมที่จะอิงอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศมาแก้ไขการอ้างกรรมสิทธิ์ซึ่งทับซ้อนกันอยู่ ทว่าถ้าหากทำเช่นนั้นจริงๆ ก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้แก่พลเมืองเวียดนาม ซึ่งมีความคิดจิตใจคล้ายคลึงกับพลเมืองของจีน กล่าวคือ ยังยึดมั่นอยู่กับแนวความคิดแบบมุ่งขยายอาณาเขตทางทะเลให้ทัดเทียมกับที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ ส่วนสำหรับมาเลเซียนั้น เรื่องง่ายๆ ที่จะต้องทำก็คือกล้าลุกขึ้นประกาศตัวให้ชัดเจน เท่าที่เป็นมาจนถึงเวลานี้ มาเลเซียและบรูไนดูเหมือนยินยอมให้ตนเองฝันเฟื่องสร้างจินตนาการไปเองว่า หลังจากที่จีนได้ต่อสู้ช่วงชิงน่านน้ำบริเวณนอกชายฝั่งเวียดนามและฟิลิปปินส์จนหนำใจแล้ว ก็จะรู้สึกอิ่มและไม่ยุ่งกับบริเวณอื่นๆ อีก
จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์ของตนโดยอิงอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า กลาสีและชาวประมงของตนได้เคยเดินทางไปๆ มาๆ ใน “ทะเลทางทิศใต้ของจีน” ในอดีตกาล ทั้งนี้แดนมังกรมองว่าหลักฐานในเรื่องนี้และบวกด้วยความแข็งแกร่งทางนาวีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของตนก็น่าจะเป็นข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักเพียงพอแล้ว ตราบใดที่การอ้างกรรมสิทธิ์ของรัฐชายฝั่งทะเลรายอื่นๆ ยังคงกำกวมคลุมเครือ ภาวะทางตันในเชิงยุทธศาสตร์ก็จะดำรงคงอยู่ต่อไป และนั่นก็เป็นสถานการณ์ซึ่งสร้างเงื่อนไขอันดีเยี่ยมให้แก่จีน สำหรับการสร้าง “ข้อเท็จจริงต่างๆ” เพิ่มมากขึ้นอีก และหาทางทำความตกลงแบบทวิภาคี โดยที่ทำให้ผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ ที่ไม่ยอมตกลงด้วยกลายเป็นฝ่ายสูญเสีย
ตรงกันข้าม ถ้าหากรัฐอาเซียนที่มีส่วนใดส่วนเสียมากที่สุด สามารถผนึกรวมตัวโดยมีจุดยืนร่วมกันอย่างหนักแน่นในเรื่องการยึดหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว พวกเขาก็จะมีข้ออ้างอันมั่นคงซึ่งสามารถเรียกความสนับสนุนจากชาติอื่นๆ ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสหรัฐอเมริกา
เดวิด บราวน์ เป็นนักการทูตอเมริกันเกษียณอายุ ซึ่งสนใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศเวียดนามร่วมสมัย สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ atnworbd@gmail.com