(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Cambodia as divide and rule pawn
By Sebastian Strangio
17/07/2012
การที่กัมพูชากำลังพึ่งพาอาศัยเงินกู้และการลงทุนแบบไร้เงื่อนไขผูกพันที่ได้รับจากประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลายปีหลังมานี้ ทำให้บังเกิดความสงสัยข้องใจกันไปทั่ว เมื่อพนมเปญออกมายืนยันว่าสิ่งต่างๆ ที่กระทำลงไปซึ่งส่งผลทำให้การประชุมของอาเซียนในสัปดาห์ที่แล้วต้องล้มเหลวลงไม่เป็นท่านั้น เป็นเพราะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของตนเองหรือของภูมิภาคแถบนี้โดยรวมเป็นสำคัญ จากการที่กัมพูชาดำเนินการต่างๆ ในลักษณะสอดรับประสานกันกับความต้องการของปักกิ่งเช่นนี้ พนมเปญก็กำลังรื้อฟื้นความวิตกกังวลที่เคยมีมาหลายสิบปีแล้ว ที่ว่า จะเกิด “ไส้ศึก” ซึ่งนิยมจีนขึ้นมา และยุติปิดฉากความเป็นอิสระในระดับภูมิภาคของสมาคมอาเซียน
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
พนมเปญ – ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่กัมพูชาอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ คำขวัญ (theme) อย่างเป็นทางการซึ่งพนมเปญประกาศออกมาเพื่อเป็นการระบุทิศทางที่จะผลักดันดำเนินการ ก็คือ “หนึ่งประชาคม หนึ่งเป้าหมายปลายทาง” (One Community, One Destiny) ทว่าสิ่งที่ออกมาจากการประชุมครั้งต่างๆ ในปีนี้กลับตอกย้ำให้เห็นว่า กลุ่มระดับภูมิภาคกลุ่มนี้กำลังเกิดความแตกแยกกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นเกี่ยวกับจีน
สัปดาห์ที่แล้วในเมืองหลวงของกัมพูชา การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนต้องยุติลงด้วยความดุเดือดเผ็ดร้อน เมื่อเหล่าผู้แทนจาก 10 ชาติสมาชิกประสบความล้มเหลวไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุม ดังที่ได้เคยปฏิบัติกันจนกลายเป็นธรรมเนียมประเพณี (ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในตลอดประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน ที่พวกเขาล้มเหลวไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้) ภายหลังจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้
จีนนั้นประกาศอ้างอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณเกือบจะทั่วทั้งทะเลที่อุดมด้วยทรัพยากรแห่งนี้ ขณะที่มีชาติสมาชิกอาเซียน 4 ราย ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, และบรูไน ต่างก็เดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบางส่วนของทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน ก่อนหน้าการประชุมในสัปดาห์ที่แล้วไม่นานนัก ได้เกิดความตึงเครียดจากการช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มหมู่เกาะปะการังเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในท้องมหานทีแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) หมู่เกาะปะการังที่มีปลาอุดมสมบูรณ์นี้ ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างก็ประกาศจับจองอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของ ตลอดช่วงระยะหลายเดือนก่อนหน้านี้ของปีนี้ ประเทศทั้งสองได้เกิดการประจันหน้าทางทหารกันขึ้นที่บริเวณดังกล่าว โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ส่งเรือชนิดต่างๆ ของทางการเข้าไปในพื้นที่นั้น
วาระสำคัญวาระหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญคราวนี้ ก็คือการจัดทำระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะเป็นกรอบในการควบคุมพฤติกรรมของเรือต่างๆ ในบริเวณน่านน้ำที่เกิดการพิพาทกันอยู่ และมะนิลาก็พยายามที่จะให้ที่ประชุมบรรจุอ้างอิงกรณีพิพาทช่วงชิงสคาร์โบโร โชล เข้าไปในแถลงการณ์ร่วมด้วย ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นเพราะถูกขัดขวางจากกัมพูชา ผู้เป็นเจ้าภาพและประธานการประชุม ตลอดจนเป็นพันธมิตรผู้ใกล้ชิดรายหนึ่งของจีน ทางด้าน เลขาธิการอาเซียน สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้เรียกผลที่ออกจากการประชุมคราวนี้ว่า “น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง” ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) ของอินโดนีเซีย แถลงว่า เป็น “การขาดไร้ความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง” จากการที่สมาคมอาเซียนไม่สามารถออกคำแถลงร่วมกันในเรื่องเกี่ยวกับกรณีพิพาททะเลจีนใต้ได้เช่นนี้
สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮง (Hor Namhong) ของกัมพูชาเอง ได้กล่าวประณาม “ประเทศสมาชิกหลายราย” โดยไม่ได้เอ่ยชื่อ ว่ากำลังพยายามที่จะบังคับให้มีการอ้างอิงรวมเอาประเด็นสคาร์โบโร โชล เข้าไปในแถลงการณ์สุดท้าย เขาเรียกคำขอเหล่านี้ว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” อีกทั้งบอกด้วยว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนี้ควรจะต้องประณาม “อาเซียนทั้งหมดโดยรวม”
ปรากฏว่าฟิลิปปินส์ไม่ยอมอยู่เฉย โดยได้ตอบโต้ด้วยการออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ฟิลิปปินส์รู้สึกเสียใจในเรื่องที่ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม”ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และเห็นว่าการกระทำต่างๆ ของกัมพูชาเป็น "ความผิดปกติอย่างชัดแจ้ง" นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า การกระทำต่างๆ เหล่านี้เป็นการทำลายความเห็นชอบร่วมกันในครั้งก่อนๆ ที่ว่าอาเซียนจะแก้ไขรับมือกับกรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ในฐานะที่เป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวกัน แทนที่จะให้อยู่ในลักษณะการทำความตกลงแบบทวิภาคี อย่างที่ฝ่ายจีนแสดงความปรารถนา รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) ของฟิลิปปินส์ บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ภาวะทางตันที่เกิดขึ้นมาเป็นผลเนื่องมาจากการที่จีนสร้าง “แรงกดดัน, การหลอกลวงตีสองหน้า, (และ) การข่มขู่คุกคาม”
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ในระหว่างการประชุมระดับสุดยอดประจำปีของสมาคมอาเซียนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ดูจะมีความตึงเครียดทำนองเดียวกันนี้ปรากฏออกมาเช่นกัน เมื่อกัมพูชากีดกันไม่ให้นำกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้บรรจุเข้าไว้ในระเบียบวาระอย่างเป็นทางการของการประชุม นักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ผู้เดินทางไปเยือนกัมพูชาในแบบรัฐพิธีเต็มขั้นและมีการประโคมข่าวอย่างเอิกเกริกเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าการเปิดประชุมสุดยอดคราวนั้น น่าจะเป็นผู้กดดันพนมเปญในประเด็นปัญหานี้
ความตึงเครียดในระยะหลังๆ มานี้ จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าอิทธิพลของจีนในกัมพูชาได้เพิ่มพูนขึ้นขนาดไหนแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การที่ปักกิ่งเสนอให้เงินกู้และการลงทุนมูลค่ามากมายมหึมาโดยที่ไม่มีการตั้งเงื่อนไขข้อผูกพันในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องธรรมาภิบาลให้พนมเปญต้องปฏิบัตินั้น ได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา ผู้ซึ่งขุ่นเคืองฝ่ายตะวันตกที่ชอบกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ผูกไว้กับความช่วยเหลือ
บรรดาธนาคารแห่งรัฐของจีน คือผู้ที่ปล่อยเงินให้แก่การก่อสร้างถนนหนทาง, สะพาน, เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ, โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, และโครงการพัฒนารีสอร์ทแหล่งท่องเที่ยวในกัมพูชา อยู่ในเวลานี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เงินกู้และเงินให้เปล่าเหล่านี้รวมกันแล้วก็อยู่ในระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในแต่ละปีคณะผู้แทนอย่างเป็นทางการของประเทศทั้งสอง ก็บินเข้าบินออกไปมาหาสู่กันอย่างคึกคัก
**สิ่งที่ติดมากับเงินช่วยเหลือ**
ถึงแม้ ฮุนเซน จะอวดอ้างครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จีนเสนอให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกัมพูชาโดยที่ไม่มีเงื่อนไขข้อผูกมัดใดๆ เลย แต่ในทางเป็นจริงแล้ว อิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจของปักกิ่งก็กำลังทำให้แดนมังกรสามารถเพิ่มพูนอิทธิพลบารมีทางการเมืองขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในกัมพูชา เรื่องนี้มีมีตัวอย่างสาธิตให้เห็นอย่างถนัดชัดเจนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2009 เมื่อกัมพูชาส่งตัวคนชาติพันธุ์อุยกูร์จำนวน 20 คนที่มาขอลี้ภัย กลับคืนไปให้จีน จังหวะเวลาของการเนรเทศส่งตัวกลับในคราวนี้ เกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนหน้าการเดินทางมาถึงกัมพูชาของเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งซึ่งกำลังนำเอาแพกเกจข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปให้เปล่าและในรูปเงินกู้รวมเป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์มาด้วย ก็ทำให้แทบไม่เหลือข้อสงสัยอะไรกันเลยว่ามีการใช้แรงกดดันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชต่อพนมเปญอย่างแน่นอน
การตกลงกันในลักษณะยื่นหมูยื่นแมวแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องพูดอะไรให้เอะอะเกรียวกราวเช่นนี้ อันที่จริงทั้งสองฝ่ายก็เคยกระทำกันมาก่อนหน้าปี 2009 เสียอีก โดยสามารถสาวย้อนหลังไปได้ไกลถึงเดือนกรกฎาคม 1997 เมื่อตอนที่ ฮุนเซน ดำเนินการขับไล่ เจ้านโรดมรณฤทธิ์ ปรปักษ์ทางการเมืองคนสำคัญของเขา ด้วยการก่อรัฐประหารปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งอย่างนองเลือด ในขณะที่พวกประเทศตะวันตกจำนวนมากแสดงท่าทีผิดหวังและต้องการให้ยุติการนองเลือดในพนมเปญ จีนกลับประกาศรับรองสิ่งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาโดยทันที พร้อมกับเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารอีกด้วย ทางด้าน ฮุนเซน ก็ได้ตอบแทนด้วยการสั่งปิดสำนักงานผู้แทนไต้หวันในกรุงพนมเปญ หลังจากกล่าวหาว่ามีคนของฝ่ายไต้หวันกำลังให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่พวกปรปักษ์ของเขา และในระยะหลายๆ ปีนับแต่นั้นมา ฮุนเซน ก็ออกมากล่าวเน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าสนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว”
“ผมเห็นว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะยืนกรานปฏิเสธว่าความช่วยเหลือต่างๆ และเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนในกัมพูชานั้นไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไรติดมาด้วยเลย” เล่า มอง เฮย์ (Lao Mong Hay) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระซึ่งพำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ กล่าวให้ความเห็น “ท่าทีและจุดยืนของกัมพูชาในระหว่างการประชุม (อาเซียน) ครั้งท้ายสุด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กัมพูชากำลังเชื่อฟังทำตามความต้องการของฝ่ายจีน”
สมาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวความคิดที่จะพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้พ้นจากแรงกดดันหรือการแทรกแซงจากภายนอก เวลานี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลา 1 ปีแห่งความไม่แน่นอนเสียแล้ว
นักวิเคราะห์หลายรายบอกว่า การที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยุติลงอย่างน่าผิดหวังเช่นนี้ อาจจะส่งผลในทางทำลายความสามัคคีเป็นเอกภาพของอาเซียน ในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดอย่างเรื่องทะเลจีนใต้ ทำให้อาเซียนยิ่งจะต้องประสบความลำบากขึ้นอีกมากในการเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้กับฝ่ายแดนมังกร
“การลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียวอย่างดื้อรั้นดันทุรังของกัมพูชาคราวนี้ คือการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของจีน มันไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ของกัมพูชาเลย” คาร์ไลล์ เธเยอร์ (Carlyle Thayer) นักวิเคราะห์แห่งวิทยาลัยการทหารออสเตรเลีย (Australian Defence Force Academy) ในนครซิดนีย์ กล่าว และให้ทัศนะต่อไปว่า ผลที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับ “การวางยาพิษ” การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียน จนกว่าจะถึงการประชุมซัมมิตรอบต่อไปในเดือนพฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม การพิพาทที่เกิดขึ้นคราวนี้อาจจะมีผลสะท้อนอย่างลึกซึ้งต่อสมาคมอาเซียนยิ่งกว่านั้นอีกก็เป็นไปได้ ในเมื่อมันกำลังสร้างรอยแตกร้าวในความสามัคคีเป็นเอกภาพของกลุ่ม และกำลังขยายความผิดแผกแตกต่างกันระหว่างรัฐสมาชิกของอาเซียนซึ่งอันที่จริงก็มีความไม่เหมือนกันอยู่มากแล้ว
เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในพนมเปญ สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Cambodia as divide and rule pawn
By Sebastian Strangio
17/07/2012
การที่กัมพูชากำลังพึ่งพาอาศัยเงินกู้และการลงทุนแบบไร้เงื่อนไขผูกพันที่ได้รับจากประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลายปีหลังมานี้ ทำให้บังเกิดความสงสัยข้องใจกันไปทั่ว เมื่อพนมเปญออกมายืนยันว่าสิ่งต่างๆ ที่กระทำลงไปซึ่งส่งผลทำให้การประชุมของอาเซียนในสัปดาห์ที่แล้วต้องล้มเหลวลงไม่เป็นท่านั้น เป็นเพราะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของตนเองหรือของภูมิภาคแถบนี้โดยรวมเป็นสำคัญ จากการที่กัมพูชาดำเนินการต่างๆ ในลักษณะสอดรับประสานกันกับความต้องการของปักกิ่งเช่นนี้ พนมเปญก็กำลังรื้อฟื้นความวิตกกังวลที่เคยมีมาหลายสิบปีแล้ว ที่ว่า จะเกิด “ไส้ศึก” ซึ่งนิยมจีนขึ้นมา และยุติปิดฉากความเป็นอิสระในระดับภูมิภาคของสมาคมอาเซียน
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
พนมเปญ – ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่กัมพูชาอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ คำขวัญ (theme) อย่างเป็นทางการซึ่งพนมเปญประกาศออกมาเพื่อเป็นการระบุทิศทางที่จะผลักดันดำเนินการ ก็คือ “หนึ่งประชาคม หนึ่งเป้าหมายปลายทาง” (One Community, One Destiny) ทว่าสิ่งที่ออกมาจากการประชุมครั้งต่างๆ ในปีนี้กลับตอกย้ำให้เห็นว่า กลุ่มระดับภูมิภาคกลุ่มนี้กำลังเกิดความแตกแยกกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นเกี่ยวกับจีน
สัปดาห์ที่แล้วในเมืองหลวงของกัมพูชา การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนต้องยุติลงด้วยความดุเดือดเผ็ดร้อน เมื่อเหล่าผู้แทนจาก 10 ชาติสมาชิกประสบความล้มเหลวไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุม ดังที่ได้เคยปฏิบัติกันจนกลายเป็นธรรมเนียมประเพณี (ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในตลอดประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน ที่พวกเขาล้มเหลวไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้) ภายหลังจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้
จีนนั้นประกาศอ้างอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณเกือบจะทั่วทั้งทะเลที่อุดมด้วยทรัพยากรแห่งนี้ ขณะที่มีชาติสมาชิกอาเซียน 4 ราย ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, และบรูไน ต่างก็เดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบางส่วนของทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน ก่อนหน้าการประชุมในสัปดาห์ที่แล้วไม่นานนัก ได้เกิดความตึงเครียดจากการช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มหมู่เกาะปะการังเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในท้องมหานทีแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) หมู่เกาะปะการังที่มีปลาอุดมสมบูรณ์นี้ ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างก็ประกาศจับจองอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของ ตลอดช่วงระยะหลายเดือนก่อนหน้านี้ของปีนี้ ประเทศทั้งสองได้เกิดการประจันหน้าทางทหารกันขึ้นที่บริเวณดังกล่าว โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ส่งเรือชนิดต่างๆ ของทางการเข้าไปในพื้นที่นั้น
วาระสำคัญวาระหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญคราวนี้ ก็คือการจัดทำระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะเป็นกรอบในการควบคุมพฤติกรรมของเรือต่างๆ ในบริเวณน่านน้ำที่เกิดการพิพาทกันอยู่ และมะนิลาก็พยายามที่จะให้ที่ประชุมบรรจุอ้างอิงกรณีพิพาทช่วงชิงสคาร์โบโร โชล เข้าไปในแถลงการณ์ร่วมด้วย ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นเพราะถูกขัดขวางจากกัมพูชา ผู้เป็นเจ้าภาพและประธานการประชุม ตลอดจนเป็นพันธมิตรผู้ใกล้ชิดรายหนึ่งของจีน ทางด้าน เลขาธิการอาเซียน สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้เรียกผลที่ออกจากการประชุมคราวนี้ว่า “น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง” ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) ของอินโดนีเซีย แถลงว่า เป็น “การขาดไร้ความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง” จากการที่สมาคมอาเซียนไม่สามารถออกคำแถลงร่วมกันในเรื่องเกี่ยวกับกรณีพิพาททะเลจีนใต้ได้เช่นนี้
สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮง (Hor Namhong) ของกัมพูชาเอง ได้กล่าวประณาม “ประเทศสมาชิกหลายราย” โดยไม่ได้เอ่ยชื่อ ว่ากำลังพยายามที่จะบังคับให้มีการอ้างอิงรวมเอาประเด็นสคาร์โบโร โชล เข้าไปในแถลงการณ์สุดท้าย เขาเรียกคำขอเหล่านี้ว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” อีกทั้งบอกด้วยว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนี้ควรจะต้องประณาม “อาเซียนทั้งหมดโดยรวม”
ปรากฏว่าฟิลิปปินส์ไม่ยอมอยู่เฉย โดยได้ตอบโต้ด้วยการออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ฟิลิปปินส์รู้สึกเสียใจในเรื่องที่ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม”ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และเห็นว่าการกระทำต่างๆ ของกัมพูชาเป็น "ความผิดปกติอย่างชัดแจ้ง" นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า การกระทำต่างๆ เหล่านี้เป็นการทำลายความเห็นชอบร่วมกันในครั้งก่อนๆ ที่ว่าอาเซียนจะแก้ไขรับมือกับกรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ในฐานะที่เป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวกัน แทนที่จะให้อยู่ในลักษณะการทำความตกลงแบบทวิภาคี อย่างที่ฝ่ายจีนแสดงความปรารถนา รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) ของฟิลิปปินส์ บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ภาวะทางตันที่เกิดขึ้นมาเป็นผลเนื่องมาจากการที่จีนสร้าง “แรงกดดัน, การหลอกลวงตีสองหน้า, (และ) การข่มขู่คุกคาม”
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ในระหว่างการประชุมระดับสุดยอดประจำปีของสมาคมอาเซียนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ดูจะมีความตึงเครียดทำนองเดียวกันนี้ปรากฏออกมาเช่นกัน เมื่อกัมพูชากีดกันไม่ให้นำกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้บรรจุเข้าไว้ในระเบียบวาระอย่างเป็นทางการของการประชุม นักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ผู้เดินทางไปเยือนกัมพูชาในแบบรัฐพิธีเต็มขั้นและมีการประโคมข่าวอย่างเอิกเกริกเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าการเปิดประชุมสุดยอดคราวนั้น น่าจะเป็นผู้กดดันพนมเปญในประเด็นปัญหานี้
ความตึงเครียดในระยะหลังๆ มานี้ จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าอิทธิพลของจีนในกัมพูชาได้เพิ่มพูนขึ้นขนาดไหนแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การที่ปักกิ่งเสนอให้เงินกู้และการลงทุนมูลค่ามากมายมหึมาโดยที่ไม่มีการตั้งเงื่อนไขข้อผูกพันในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องธรรมาภิบาลให้พนมเปญต้องปฏิบัตินั้น ได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา ผู้ซึ่งขุ่นเคืองฝ่ายตะวันตกที่ชอบกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ผูกไว้กับความช่วยเหลือ
บรรดาธนาคารแห่งรัฐของจีน คือผู้ที่ปล่อยเงินให้แก่การก่อสร้างถนนหนทาง, สะพาน, เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ, โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, และโครงการพัฒนารีสอร์ทแหล่งท่องเที่ยวในกัมพูชา อยู่ในเวลานี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เงินกู้และเงินให้เปล่าเหล่านี้รวมกันแล้วก็อยู่ในระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในแต่ละปีคณะผู้แทนอย่างเป็นทางการของประเทศทั้งสอง ก็บินเข้าบินออกไปมาหาสู่กันอย่างคึกคัก
**สิ่งที่ติดมากับเงินช่วยเหลือ**
ถึงแม้ ฮุนเซน จะอวดอ้างครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จีนเสนอให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกัมพูชาโดยที่ไม่มีเงื่อนไขข้อผูกมัดใดๆ เลย แต่ในทางเป็นจริงแล้ว อิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจของปักกิ่งก็กำลังทำให้แดนมังกรสามารถเพิ่มพูนอิทธิพลบารมีทางการเมืองขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในกัมพูชา เรื่องนี้มีมีตัวอย่างสาธิตให้เห็นอย่างถนัดชัดเจนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2009 เมื่อกัมพูชาส่งตัวคนชาติพันธุ์อุยกูร์จำนวน 20 คนที่มาขอลี้ภัย กลับคืนไปให้จีน จังหวะเวลาของการเนรเทศส่งตัวกลับในคราวนี้ เกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนหน้าการเดินทางมาถึงกัมพูชาของเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งซึ่งกำลังนำเอาแพกเกจข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปให้เปล่าและในรูปเงินกู้รวมเป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์มาด้วย ก็ทำให้แทบไม่เหลือข้อสงสัยอะไรกันเลยว่ามีการใช้แรงกดดันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชต่อพนมเปญอย่างแน่นอน
การตกลงกันในลักษณะยื่นหมูยื่นแมวแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องพูดอะไรให้เอะอะเกรียวกราวเช่นนี้ อันที่จริงทั้งสองฝ่ายก็เคยกระทำกันมาก่อนหน้าปี 2009 เสียอีก โดยสามารถสาวย้อนหลังไปได้ไกลถึงเดือนกรกฎาคม 1997 เมื่อตอนที่ ฮุนเซน ดำเนินการขับไล่ เจ้านโรดมรณฤทธิ์ ปรปักษ์ทางการเมืองคนสำคัญของเขา ด้วยการก่อรัฐประหารปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งอย่างนองเลือด ในขณะที่พวกประเทศตะวันตกจำนวนมากแสดงท่าทีผิดหวังและต้องการให้ยุติการนองเลือดในพนมเปญ จีนกลับประกาศรับรองสิ่งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาโดยทันที พร้อมกับเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารอีกด้วย ทางด้าน ฮุนเซน ก็ได้ตอบแทนด้วยการสั่งปิดสำนักงานผู้แทนไต้หวันในกรุงพนมเปญ หลังจากกล่าวหาว่ามีคนของฝ่ายไต้หวันกำลังให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่พวกปรปักษ์ของเขา และในระยะหลายๆ ปีนับแต่นั้นมา ฮุนเซน ก็ออกมากล่าวเน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าสนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว”
“ผมเห็นว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะยืนกรานปฏิเสธว่าความช่วยเหลือต่างๆ และเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนในกัมพูชานั้นไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไรติดมาด้วยเลย” เล่า มอง เฮย์ (Lao Mong Hay) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระซึ่งพำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ กล่าวให้ความเห็น “ท่าทีและจุดยืนของกัมพูชาในระหว่างการประชุม (อาเซียน) ครั้งท้ายสุด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กัมพูชากำลังเชื่อฟังทำตามความต้องการของฝ่ายจีน”
สมาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวความคิดที่จะพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้พ้นจากแรงกดดันหรือการแทรกแซงจากภายนอก เวลานี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลา 1 ปีแห่งความไม่แน่นอนเสียแล้ว
นักวิเคราะห์หลายรายบอกว่า การที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยุติลงอย่างน่าผิดหวังเช่นนี้ อาจจะส่งผลในทางทำลายความสามัคคีเป็นเอกภาพของอาเซียน ในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดอย่างเรื่องทะเลจีนใต้ ทำให้อาเซียนยิ่งจะต้องประสบความลำบากขึ้นอีกมากในการเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้กับฝ่ายแดนมังกร
“การลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียวอย่างดื้อรั้นดันทุรังของกัมพูชาคราวนี้ คือการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของจีน มันไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ของกัมพูชาเลย” คาร์ไลล์ เธเยอร์ (Carlyle Thayer) นักวิเคราะห์แห่งวิทยาลัยการทหารออสเตรเลีย (Australian Defence Force Academy) ในนครซิดนีย์ กล่าว และให้ทัศนะต่อไปว่า ผลที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับ “การวางยาพิษ” การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียน จนกว่าจะถึงการประชุมซัมมิตรอบต่อไปในเดือนพฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม การพิพาทที่เกิดขึ้นคราวนี้อาจจะมีผลสะท้อนอย่างลึกซึ้งต่อสมาคมอาเซียนยิ่งกว่านั้นอีกก็เป็นไปได้ ในเมื่อมันกำลังสร้างรอยแตกร้าวในความสามัคคีเป็นเอกภาพของกลุ่ม และกำลังขยายความผิดแผกแตกต่างกันระหว่างรัฐสมาชิกของอาเซียนซึ่งอันที่จริงก็มีความไม่เหมือนกันอยู่มากแล้ว
เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในพนมเปญ สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)