xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’รุกทดสอบปีกด้านตะวันออกของ‘จีน’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan tests China’s eastern flank
By Brendan O'Reilly
17/07/2012

จีนระแวงสงสัยว่า การที่กรณีพิพาทซึ่งมีอยู่กับญี่ปุ่นในเรื่องการช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก กำลังเพิ่มทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น จนอาจกลายเป็นวิกฤต “อันสาหัสร้ายแรงยิ่ง” นั้น คือผลพวงต่อเนื่องจากความต้องการของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ผู้กำลังตกอยู่ในฐานะลำบากและปรารถนาที่จะหันเหความสนใจของผู้คนในประเทศให้ออกจากความย่ำแย่ทางการเมืองในโตเกียว ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ดูจะมีจุดมุ่งหมายต้องการทำให้การต่อสู้ของตนในเรื่องนี้ กลายเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ร่วมกันของเหล่าชาติเพื่อนบ้านในเอเชีย ซึ่งกำลังพยายามต้านทานการเดินหน้าอย่างแข็งกร้าวของแดนมังกรในเขตทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี ความปรารถนาเช่นนี้ของแดนอาทิตย์อุทัยอาจจะประสบอุปสรรคจากลัทธิล่าเมืองขึ้นในอดีตของตนเอง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องตั้งสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ปักกิ่งมิได้เป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อกระแสทำให้การช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพินนาเคิลที่เกิดขึ้นมานานแล้วนี้ ยิ่งทวีความดุเดือดเข้มข้นจนกำลังบานปลายอยู่ในปัจจุบัน การพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเลตรงนี้ ปะทุขึ้นมาอย่างน้อยที่สุดก็หลายสิบปีแล้ว แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปักกิ่งดูพออกพอใจอยู่กับการใช้วิธีประท้วงในทางการทูตต่อการอ้างอธิปไตยของฝ่ายญี่ปุ่น ขณะที่ยอมรับให้ทุกอย่างในพื้นที่พิพาทดำรงสถานะเดิมไปก่อน การที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำให้การพิพาทที่มีมายาวนานแล้วนี้บังเกิดความเข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลทั้งในทางภูมิยุทธศาสตร์และในทางการเมืองนั่นแหละ กำลังบังคับให้จีนต้องออกมาแสดงปฏิกิริยา การตอบโต้ในทางการเมืองและในทางการทหารของฝ่ายจีนต่อสิ่งที่แดนมังกรเห็นว่าเป็นการยั่วยุของฝ่ายญี่ปุ่นในคราวนี้ ดูไปแล้วก็มีความละม้ายคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับยุทธศาสตร์ต่างๆ ของฝ่ายจีนที่ใช้ในการต่อต้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของฝ่ายเวียดนาม

มูลเหตุจูงใจที่ทำให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างปรารถนาที่จะเข้าควบคุมหมู่เกาะพินนาเคิล มิใช่เป็นเพราะตัวหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้เองสักเท่าใดนัก เสน่ห์ดึงดูดที่สำคัญกว่านั้นอยู่ที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาณาบริเวณนี้ ซึ่งสามารถทำการประมงเชิงพาณิชย์ รวมทั้งน่าจะมีแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ การมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้จะทำให้มีสิทธิที่จะทำการขุดเจาะสำรวจและหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ในปัจจุบันทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างต้องอาศัยพลังงานที่มาจากการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ หากสามารถที่จะนำเอาแหล่งน้ำมันและก๊าซสำรองในทะเลจีนตะวันออกขึ้นมาใช้ ย่อมทำให้พวกเขาลดทอนการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซซึ่งขนส่งผ่านน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่กำลังมีการช่วงชิงแข่งขันกันอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม ความเสียเปรียบที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการเปิดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมา น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าผลประโยชน์ที่เป็นไปได้จากการได้เข้าควบคุมหมู่เกาะแห่งนี้ ปัจจุบันนี้จีนเป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของญี่ปุ่น และในเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงซวนเซง่อนแง่นอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ประเทศทั้งสองต่างต้องการตลาดของกันและกันเพื่อให้สามารถพยุงตัวยืนอยู่ได้ ผลประโยชน์ร่วมกันในทางการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศนั้น มีมากมายมหาศาลเกินกว่ามูลค่าราคาของน้ำมัน, ก๊าซ, และปลา ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว

ความทะเยอทะยานในด้านต่างๆ ในระดับภูมิภาคของญี่ปุ่น ยังถูกจำกัดตัดรอนสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์อันน่าเกลียดน่าชังของแดนอาทิตย์อุทัยเองอีกด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะทำข้อตกลงทางการทหารกับเกาหลีใต้ต้องประสบความล้มเหลวลง โดยเหตุผลที่สำคัญมาจากมรดกทางประวัติศาสตร์อันเลวร้ายในยุคที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองและปกครองเกาหลีแบบเมืองขึ้นนั่นเอง ในสายตาของบางฝ่าย จีนอาจจะดูก้าวร้าวชอบก่อเรื่องในกรณีพิพาทที่แดนมังกรมีอยู่กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม แต่สำหรับกรณีการพิพาทกับญี่ปุ่นแล้ว แดนอาทิตย์อุทัยจะต้องเป็นฝ่ายประสบความลำบากมากกว่า ถ้าหากพยายามที่จะเสาะแสวงหาความเห็นอกเห็นใจภายในภูมิภาค ในกรณีที่เหตุการณ์ความขัดแย้งบานปลายถึงขั้นเกิดการสู้รบทางการทหารขึ้นมา ถึงแม้ยังดูมีโอกาสน้อยมากๆ ที่เหตุการณ์จะพัฒนาไปไกลถึงขนาดนั้น

**อเมริกาจับจ้องมองเขม็ง**

สหรัฐอเมริกากำลังเฝ้าติดตามการต่อสู้ทางการเมืองและทางการทูตเพื่อช่วงชิงหมู่เกาะพินนาเคิลในคราวนี้อย่างใกล้ชิด เมื่อพิจารณาจากความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ สหรัฐฯมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับอาณาบริเวณดังกล่าวนี้อย่างมากมายทีเดียว สหรัฐฯเป็นผู้ที่ยึดครองหมู่เกาะแห่งนี้เอาไว้ตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองไปจนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อมีการส่งมอบกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ เหล่านี้ “กลับคืน” ไปให้อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น ทั้งจีนและไต้หวันต่างไม่ยอมรับการส่งมอบความรับผิดชอบคราวนี้ โดยถือว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของจีน

ในระหว่างการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมของสมาคมอาเซียนที่กัมพูชาเมื่อกลางเดือนนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ได้หยุดแวะที่ญี่ปุ่น เธอได้สอบถามเกี่ยวกับแผนการของฝ่ายญี่ปุ่นที่จะทำให้กรณีหมู่เกาะพินนาเคิลกลายเป็น “เรื่องระดับชาติ”ดูเหมือนว่าคลินตันมีความวิตกเกี่ยวกับเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จากนั้นเธอยังได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในการประชุมข้างเคียงการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยที่คลินตันได้กล่าวย้ำว่า สหรัฐฯจะ “ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีพิพาทต่างๆ เกี่ยวกับดินแดนทางทะเล หรือเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล” [5]

ท่าทีเช่นนี้คือการเปลี่ยนน้ำเสียงอย่างชัดเจนจากระยะเวลาก่อนหน้าของสัปดาห์นั้นเอง ในตอนที่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯผู้หนึ่งออกมาพูดว่า สหรัฐฯจะต้องได้รับการร้องขอ จึงจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือญี่ปุ่นในกรณีที่ถูกโจมตีจากฝ่ายที่สามสืบเนื่องจากเรื่องหมู่เกาะที่พิพาทกันอยู่นี้ ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กระทรวงซึ่งไม่มีการระบุชื่อผู้นี้กล่าวว่า “หมู่เกาะเซนกากุถือว่าเป็นดินแดนที่อยู่ภายในขอบเขตการบังคับใช้ของมาตรา 5 แห่งสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกันสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ปี 1960 (the 1960 US-Japan Treaty of Mutual Cooperation and Security) เนื่องจากหมู่เกาะเซนกากุอยู่ภายใต้การควบคุมปกครองบริหารของรัฐบาลญี่ปุ่น นับตั้งแต่ที่ได้มีการส่งคืนหมู่เกาะแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการมอบคืนดินแดนโอกินาวะในปี 1972”

มาตรา 5 ของสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกันสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ปี 1960 โดยเนื้อหาสาระแล้ว เป็นการระบุเงื่อนไขต่างๆ ที่ผูกพันให้ประเทศทั้งสองต้องดำเนินการป้องกันร่วมกัน มันเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของนโยบายในเอเชียของสหรัฐฯ เนื่องจากทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นเกิดความมั่นคงเหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม การนำเอามาตรานี้มาประยุกต์ใช้ในกรณีที่เกิดการปะทะกันประปรายจากการพิพาทช่วงชิงหมู่เกาะพินนาเคิล ย่อมสามารถที่จะนำไปสู่ผลพวงสืบเนื่องที่อาจเป็นความหายนะได้ทีเดียว

สหรัฐฯนั้น ไม่ต้องการที่จะถูกมองว่าเป็นพันธมิตรที่ไร้น้ำยา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามจากการปะทะทางทะเลกันเล็กๆ น้อยๆ ความพยายามของคลินตันในการเข้าไปเจรจาหารือถึงตัวรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลจีน ตลอดจนการที่เธอระบุว่าสหรัฐฯไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่งที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน คือส่วนหนึ่งของความพยายามอันประสานสอดคล้องต่อเนื่องกัน เพื่อที่จะปลดชนวนถังดินระเบิดที่อาจจะเกิดบึ้มตูมตามขึ้นมานั่นเอง

จีนนั้นมีความไม่สบายใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของฝ่ายอเมริกันในภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่สหรัฐฯประกาศปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์โดยที่จะหันมาเน้นหนักอยู่ที่เอเชีย ความพยายามใดๆ ก็ตามของสหรัฐฯที่จะหนุนหลังญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยในกรณีพิพาททางทะเลซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นมานานแล้วเช่นนี้ จะถูกปักกิ่งมองว่าเป็นการเข้าแทรกแซงในกิจการภายในของจีน และสามารถที่จะผลักดันให้จีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันบังเกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น ลัทธิชาตินิยมนั้นยังคงมีพลังที่จะเอาชนะภูมิรัฐศาสตร์ตามแบบประเพณีนิยมในภูมิภาคแถบนี้ ดังที่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นแล้วจากกรณีความล้มเหลวในการทำข้อตกลงทางทหารระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น

รัฐบาลจีนมีความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะพยายามสร้างกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคขึ้นมา เพื่อต่อต้านอิทธิพลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นของแดนมังกร ถึงแม้จีนย่อมไม่ได้ผลประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ใดๆ ถ้าหากเริ่มต้นก่อให้เกิดความขัดแย้งสู้รบขึ้นในขณะที่อำนาจทางเศรษฐกิจของตนก็กำลังผงาดโลดลิ่วอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงเหตุผลในทางการเมืองและในทางยุทธศาสตร์ ถ้าหากเกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนขึ้นมา คณะผู้นำจีนย่อมไม่สามารถที่จะอยู่เฉยๆ ได้ จีนนั้นต้องการที่จะให้ฝ่ายอื่นๆ ปฏิบัติกับตนด้วยความกลัวและด้วยความเคารพ เฉกเช่นเดียวกับที่อภิมหาอำนาจรายใดรายหนึ่งสมควรจะได้รับ และพวกที่มีแนวความคิดสายเหยี่ยวภายในแดนมังกรบางส่วนก็เชื่อว่า การสำแดงแสนยานุภาพทางทหารน่าจะเป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ได้รับความเคารพดังกล่าว

ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับหมู่เกาะพินนาเคิล เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ยังน่าที่จะอยู่ภายในปริมณฑลของสงครามน้ำลายในทางการเมืองเท่านั้น ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือจีน ต่างก็ใช่ว่าจะได้รับประโยชน์อะไรมากมาย จนถึงขั้นสมเหตุสมผลเพียงพอแก่การเสี่ยงที่จะก่อการปะทะกันอย่างเปิดเผย แล้วก็แบกรับผลต่อเนื่องอันมหาศาลที่จะเกิดตามมาจากความขัดแย้งดังกล่าว แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลทั้งสองก็ไม่ต้องการที่จะให้ตนเองแลดูอ่อนแอเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตในอดีตและเป็นปรปักษ์คู่แข่งขันกันในปัจจุบัน

การที่ญี่ปุ่นประสบวิกฤตทางการเมืองซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างอ่อยอิ่งแบบสโลว์โมชั่น, การที่ปักกิ่งกำลังจะมีการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำ, และการที่สหรัฐฯกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เหล่านี้ทำให้เราแทบจะรับประกันได้ทีเดียวว่า ความขัดแย้งแม้จะยังดำเนินต่อไปไม่หนีหายไปไหน แต่ก็จะอยู่ในลักษณะที่เป็นเพียงสัญลักษณ์แท้ๆ ขณะที่ปัญหาร้ายแรงของเศรษฐกิจระดับโลกก็ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้ช่วยกันหลีกเลี่ยงลัทธิสุ่มเสี่ยง ซึ่งยากที่จะคาดเดาทำนายผล กระนั้นก็ตามที ความขัดแย้งในเชิงสัญลักษณ์ย่อมเป็นช่องทางอันสำคัญในการเดินหน้าไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างแท้จริงในเรื่องดุลแห่งอำนาจ ระลอกคลื่นอันรุนแรงในทะเลจีนตะวันออกเวลานี้ จึงเป็นการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเรื่องกระแสน้ำ ในขณะที่จีนยังคงกำลังเดินหน้าแผ่ขยายอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจและทางการทหารของตนอย่างรวดเร็วต่อไป

หมายเหตุ

[1] ดูเรื่อง Japan Weighs Buying Islands Also Claimed by China, NASDAQ, Jul 9, 2012.
[2] ดูเรื่อง China: Japan can't purchase Diaoyu Islands, China Digital Times, Jul 9, 2012.
[3] ดูเรื่อง Japan plans ASEAN sea security summit, Japan Times, Jul 11, 2012.
[4] ดูเรื่อง US urged to respect China's interests, China Daily, Jul 13, 2012.
[5] ดูเรื่อง Japan plans ASEAN sea security summit, Japan Times, Jul 11, 2012.

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาจากเมืองซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
กำลังโหลดความคิดเห็น