(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Japan tests China’s eastern flank
By Brendan O'Reilly
17/07/2012
จีนระแวงสงสัยว่า การที่กรณีพิพาทซึ่งมีอยู่กับญี่ปุ่นในเรื่องการช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก กำลังเพิ่มทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น จนอาจกลายเป็นวิกฤต “อันสาหัสร้ายแรงยิ่ง” นั้น คือผลพวงต่อเนื่องจากความต้องการของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ผู้กำลังตกอยู่ในฐานะลำบากและปรารถนาที่จะหันเหความสนใจของผู้คนในประเทศให้ออกจากความย่ำแย่ทางการเมืองในโตเกียว ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ดูจะมีจุดมุ่งหมายต้องการทำให้การต่อสู้ของตนในเรื่องนี้ กลายเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ร่วมกันของเหล่าชาติเพื่อนบ้านในเอเชีย ซึ่งกำลังพยายามต้านทานการเดินหน้าอย่างแข็งกร้าวของแดนมังกรในเขตทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี ความปรารถนาเช่นนี้ของแดนอาทิตย์อุทัยอาจจะประสบอุปสรรคจากลัทธิล่าเมืองขึ้นในอดีตของตนเอง
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
ขณะที่ความตึงเครียดยังคงดำเนินไปอย่างสับสนยุ่งเหยิงในเขตทะเลจีนใต้อยู่นั้น ความกดดันก็ยังกำลังตั้งเค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณปีกทางด้านตะวันออกของจีน แดนมังกรกับแดนอาทิตย์อุทัยนั้นมีกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกลุ่มเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออกมาช้านานแล้ว แต่การที่ประเด็นปัญหานี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นไปอีกระดับหนึ่งในช่วงเวลาไม่นานมานี้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในดุลแห่งอำนาจ ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ระลอกคลื่นแห่งความปั่นป่วนจากน่านน้ำระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ท่ามกลางพายุร้าย กำลังเป็นที่รู้สึกกันไปตลอดทั่วทั้งพิภพ
ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหมู่เกาะพินนาเคิล (Pinnacle Islands ในภาษาจีนเรียกกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งไม่มีประชากรพำนักอาศัยอยู่แห่งนี้ว่า เตี้ยวอี๋ว์ ส่วนในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซนกากุ) หมู่เกาะเล็กๆ เหล่านี้ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น ทว่าทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน ต่างโต้แย้งการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งนี้ของฝ่ายญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นได้ “เช่า” หมู่เกาะพินนาเคิล จากเอกชนที่เป็นพลเมืองญี่ปุ่นรายหนึ่ง และได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ขึ้นไปบนหมู่เกาะแห่งนี้ ด้วยความประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตในทางการทูตกับจีน
กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นมานานแล้วนี้ กลับทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นอีกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อผู้ว่าการมหานครโตเกียว ชินตาโร อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) ประกาศแผนการว่า รัฐบาลท้องถิ่นของมหานครโตเกียวจะเข้าไปซื้อหมู่เกาะแห่งนี้จากเอกชนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ขอรับเงินบริจาคเพื่อใช้ในการซื้อหาคราวนี้ ซึ่งระดมเงินทุนมาได้แล้วกว่า 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้รัฐบาลกลางของญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อ เมื่อต้องรับมือคลี่คลายปัญหาที่รัฐบาลระดับท้องถิ่น (ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นของเขตเมืองหลวง และผู้ว่าการก็เป็นนักการเมืองที่มีบารมีสูงมาก) กำลังพยายามส่งอิทธิพลต่อกรณีพิพาทระดับระหว่างประเทศ
ในวันที่ 8 มิถุนายน นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ (Yoshihiko Noda) ก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานี้ ด้วยการเรียกร้องให้จัดการกับหมู่เกาะแห่งนี้ในฐานะที่เป็น “เรื่องระดับชาติ” โดยเขากล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของเขาว่า “เซนกากุเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของประเทศเราอย่างแน่นอน เรื่องนี้ไม่มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้น ... เมื่อพิจารณาจากแง่มุมที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะธำรงรักษาและบริหารจัดการหมู่เกาะเซนกากุ ด้วยความสงบเรียบร้อยและมีเสถียรภาพ เราจึงกำลังทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน โดยที่มีการติดต่อกับเอกชนผู้เป็นเจ้าของครอบครองอยู่เรื่อยๆ ...” [1]
ปรากฏว่ารัฐบาลจีนได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างโกรธกริ้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำนายได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แดนมังกรออกมาแถลงแสดงความไม่พอใจอย่างเป็นทางการ ในวันเดียวกับที่ โนดะ พูดกับคณะรัฐมนตรีของเขา โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หลิว เว่ยหมิน (Liu Weimin) ระบุว่า “เราไม่สามารถอนุญาตให้ใครก็ตามที ทำการซื้อหรือขายดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศจีนได้” [2] มีเรือตรวจการณ์ของจีนหลายลำแล่นเข้าไปใกล้ๆ หมู่เกาะแห่งนี้ โดยในเบื้องต้นทีเดียวปฏิเสธไม่ยอมถอยไป หลังจากถูกฝ่ายญี่ปุ่นสั่งให้ออกจากบริเวณดังกล่าว เหตุการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นรีบเรียกเอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่นมาพบเพื่อแสดงความไม่พอใจ แต่กระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรยังคงยืนกรานว่า หมู่เกาะแห่งนี้เป็นอาณาเขตของจีน และ “ไม่ยอมรับฐานะของญี่ปุ่น” ในประเด็นปัญหานี้
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้พบปะกันในการประชุมข้างเคียง ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเจรจาเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีฝ่ายใดแสดงถึงความปรารถนาที่จะประนีประนอมเกี่ยวกับการประกาศอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพิพาทแห่งนี้
ในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม ญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า การที่เรือของจีน 3 ลำแล่นเข้าไปในเขตน่านน้ำซึ่งญี่ปุ่นควบคุมอยู่ บริเวณใกล้ๆ กับหมู่เกาะพินนาเคิล เป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” อูอิชิโร นิระ (Uichiro Nira) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำจีน ถูกเรียกตัวกลับกรุงโตเกียวในระหว่างสุดสัปดาห์นั้น เพื่อปรึกษาหารือในระดับสูงกับรัฐบาลกลางของญี่ปุ่น ตัวเอกอัครราชทูตนิระเองได้กล่าวเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “วิกฤตอันสาหัสร้ายแรงยิ่ง” ระหว่างชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชียทั้งสอง
**ยุทธศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยง**
จังหวะเวลาของการทะเลาะเบาะแว้งที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ต้องนับว่ามีความน่าสนใจเป็นพิเศษทีเดียว ในช่วงไม่นานมานี้เอง จีนก็ต้องเผชิญกับการที่กรณีพิพาทกับฟิลิปปินส์และเวียดนามในเรื่องกรรมสิทธิ์ในเขตทะเลจีนใต้ เกิดปะทุดุเดือดเข้มข้นเพิ่มขึ้นมาเช่นกัน รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะต้องการหาทางกดดันปักกิ่งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ก็ได้ เพื่อให้การต่อสู้ของตนเองมีความผูกพันร่วมกันกับการต่อสู้ของพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียที่มีขนาดเล็กกว่าเหล่านี้ โดยที่ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือว่าฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ก็ล้วนแต่กำลังรู้สึกลำบากอึดอัดจากการที่จีนขยายอิทธิพลบารมีทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารออกไปอย่างรวดเร็ว
อันที่จริงแล้ว ญี่ปุ่นเพิ่งประกาศแผนการที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตครั้งพิเศษกับสมาคมอาเซียนขึ้นในปีหน้าโดยเน้นเรื่องความมั่นคง ถึงแม้ในปัจจุบันญี่ปุ่นก็มีการประชุมหารือกับอาเซียนหลายต่อหลายวาระซึ่งจัดกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่คราวนี้จะเป็นการประชุมครั้งแรกที่โฟกัสเป็นการเฉพาะเจาะจงไปที่เรื่อง “ความมั่นคงทางทะเล” [3] เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามที่จะเกาะเกี่ยวเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตรกันกับชาติในอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก จะได้ร่วมกันออกแรงกดดันคัดง้างการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของฝ่ายจีน
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจจะเป็นความผิดพลาด จีนนั้นมีท่าทีต่อต้านเสมอมาต่อเสียงเรียกร้องให้แก้ไขข้อพิพาทที่แดนมังกรมีกับชาติอื่นๆ ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกันอยู่ ในลักษณะของการดำเนินการแบบพหุภาคี รัฐบาลจีนนั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า ตนเองสามารถที่จะแผ่อิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ ได้มากกว่านักหนา ถ้าหากใช้การดำเนินการในแบบทวิภาคี ยิ่งกว่านั้น ภายในสมาคมอาเซียนเองก็เกิดความแตกแยกกันอยู่ในประเด็นปัญหาเรื่องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้นี้
กัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของจีน มีความลังเลอย่างยิ่งที่จะให้หยิบเอาประเด็นปัญหานี้มาพิจารณาในบริบทของการที่สมาคมอาเซียนโดยองค์รวมเป็นคู่กรณีอยู่กับจีน สำหรับประเทศไทยก็แสดงความปรารถนาว่าขออย่าให้กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ทั้งหลาย ส่งผลกระทบกระเทือนความร่วมมือที่อาเซียนมีอยู่กับจีนเลย นอกจากนั้นแล้ว ถึงแม้เวียดนามกับฟิลิปปินส์ต่างโต้แย้งการกล่าวอ้างอธิปไตยของจีนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทั้งสองประเทศก็โต้แย้งกันเองด้วย เนื่องจากบริเวณที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ก็มีการทับซ้อนกันอยู่เช่นกัน
จังหวะเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทำให้กรณีหมู่เกาะพินนาเคิล กลายเป็น “เรื่องระดับชาติ” ยังบังเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการเมืองภายในประเทศของแดนอาทิตย์อุทัยเองด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีโนดะ เพิ่งประกาศใช้นโยบายหลายอย่างหลายประการทีเดียวที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมาก เป็นต้นว่า การเปิดไฟเขียวให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับเดินเครื่องใหม่ได้อีกครั้ง และการขึ้นภาษีการขาย (sales tax เป็นภาษีซึ่งจัดเก็บในทำนองเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม) อิชิโร โอซาวะ (Ichiro Ozawa) อดีตประธานพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) ซึ่งมีสมญานามว่า “โชกุนเงา” (Shadow Shogun) ได้ประกาศประท้วงด้วยการลาออกจากพรรคที่เป็นแกนนำคณะรัฐบาลผสมของญี่ปุ่นชุดปัจจุบันแห่งนี้ โดยดึงเอาสมาชิกรัฐสภาของ DPJ จำนวน 48 คนไปกับเขาด้วย เพื่อไปอยู่ในพรรคการเมืองใหม่ที่เขาจัดตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า พรรค “ชีวิตประชาชนต้องมาก่อน” (People's Life Comes First)
โนดะอาจจะคาดหวังมุ่งหาแรงสนับสนุนภายในประเทศให้ได้มากขึ้น ด้วยการแสดงตนเป็นนักชาตินิยม สาธารณชนของญี่ปุ่นนั้นมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจเป็นอย่างมากอยู่แล้ว ต่อการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วของแดนมังกร โดยที่เมื่อไม่นานมานี้เองจีนก็เพิ่งสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นชิงเอาตำแหน่งประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกไปครอบครอง อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า แดนมังกรยังมีประวัติศาสตร์อันลำบากยุ่งเหยิงพัวพันอยู่กับแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่โบราณกาล การหาทางจัดการให้มีการเผชิญหน้าในขอบเขตจำกัดกับจีน จึงอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับความมุ่งมาตรปรารถนาในทางการเมืองของโนดะ
เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาจากเมืองซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Japan tests China’s eastern flank
By Brendan O'Reilly
17/07/2012
จีนระแวงสงสัยว่า การที่กรณีพิพาทซึ่งมีอยู่กับญี่ปุ่นในเรื่องการช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก กำลังเพิ่มทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น จนอาจกลายเป็นวิกฤต “อันสาหัสร้ายแรงยิ่ง” นั้น คือผลพวงต่อเนื่องจากความต้องการของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ผู้กำลังตกอยู่ในฐานะลำบากและปรารถนาที่จะหันเหความสนใจของผู้คนในประเทศให้ออกจากความย่ำแย่ทางการเมืองในโตเกียว ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ดูจะมีจุดมุ่งหมายต้องการทำให้การต่อสู้ของตนในเรื่องนี้ กลายเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ร่วมกันของเหล่าชาติเพื่อนบ้านในเอเชีย ซึ่งกำลังพยายามต้านทานการเดินหน้าอย่างแข็งกร้าวของแดนมังกรในเขตทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี ความปรารถนาเช่นนี้ของแดนอาทิตย์อุทัยอาจจะประสบอุปสรรคจากลัทธิล่าเมืองขึ้นในอดีตของตนเอง
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
ขณะที่ความตึงเครียดยังคงดำเนินไปอย่างสับสนยุ่งเหยิงในเขตทะเลจีนใต้อยู่นั้น ความกดดันก็ยังกำลังตั้งเค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณปีกทางด้านตะวันออกของจีน แดนมังกรกับแดนอาทิตย์อุทัยนั้นมีกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกลุ่มเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออกมาช้านานแล้ว แต่การที่ประเด็นปัญหานี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นไปอีกระดับหนึ่งในช่วงเวลาไม่นานมานี้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในดุลแห่งอำนาจ ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ระลอกคลื่นแห่งความปั่นป่วนจากน่านน้ำระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ท่ามกลางพายุร้าย กำลังเป็นที่รู้สึกกันไปตลอดทั่วทั้งพิภพ
ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหมู่เกาะพินนาเคิล (Pinnacle Islands ในภาษาจีนเรียกกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งไม่มีประชากรพำนักอาศัยอยู่แห่งนี้ว่า เตี้ยวอี๋ว์ ส่วนในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซนกากุ) หมู่เกาะเล็กๆ เหล่านี้ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น ทว่าทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน ต่างโต้แย้งการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งนี้ของฝ่ายญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นได้ “เช่า” หมู่เกาะพินนาเคิล จากเอกชนที่เป็นพลเมืองญี่ปุ่นรายหนึ่ง และได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ขึ้นไปบนหมู่เกาะแห่งนี้ ด้วยความประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตในทางการทูตกับจีน
กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นมานานแล้วนี้ กลับทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นอีกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อผู้ว่าการมหานครโตเกียว ชินตาโร อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) ประกาศแผนการว่า รัฐบาลท้องถิ่นของมหานครโตเกียวจะเข้าไปซื้อหมู่เกาะแห่งนี้จากเอกชนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ขอรับเงินบริจาคเพื่อใช้ในการซื้อหาคราวนี้ ซึ่งระดมเงินทุนมาได้แล้วกว่า 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้รัฐบาลกลางของญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อ เมื่อต้องรับมือคลี่คลายปัญหาที่รัฐบาลระดับท้องถิ่น (ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นของเขตเมืองหลวง และผู้ว่าการก็เป็นนักการเมืองที่มีบารมีสูงมาก) กำลังพยายามส่งอิทธิพลต่อกรณีพิพาทระดับระหว่างประเทศ
ในวันที่ 8 มิถุนายน นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ (Yoshihiko Noda) ก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานี้ ด้วยการเรียกร้องให้จัดการกับหมู่เกาะแห่งนี้ในฐานะที่เป็น “เรื่องระดับชาติ” โดยเขากล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของเขาว่า “เซนกากุเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของประเทศเราอย่างแน่นอน เรื่องนี้ไม่มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้น ... เมื่อพิจารณาจากแง่มุมที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะธำรงรักษาและบริหารจัดการหมู่เกาะเซนกากุ ด้วยความสงบเรียบร้อยและมีเสถียรภาพ เราจึงกำลังทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน โดยที่มีการติดต่อกับเอกชนผู้เป็นเจ้าของครอบครองอยู่เรื่อยๆ ...” [1]
ปรากฏว่ารัฐบาลจีนได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างโกรธกริ้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำนายได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แดนมังกรออกมาแถลงแสดงความไม่พอใจอย่างเป็นทางการ ในวันเดียวกับที่ โนดะ พูดกับคณะรัฐมนตรีของเขา โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หลิว เว่ยหมิน (Liu Weimin) ระบุว่า “เราไม่สามารถอนุญาตให้ใครก็ตามที ทำการซื้อหรือขายดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศจีนได้” [2] มีเรือตรวจการณ์ของจีนหลายลำแล่นเข้าไปใกล้ๆ หมู่เกาะแห่งนี้ โดยในเบื้องต้นทีเดียวปฏิเสธไม่ยอมถอยไป หลังจากถูกฝ่ายญี่ปุ่นสั่งให้ออกจากบริเวณดังกล่าว เหตุการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นรีบเรียกเอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่นมาพบเพื่อแสดงความไม่พอใจ แต่กระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรยังคงยืนกรานว่า หมู่เกาะแห่งนี้เป็นอาณาเขตของจีน และ “ไม่ยอมรับฐานะของญี่ปุ่น” ในประเด็นปัญหานี้
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้พบปะกันในการประชุมข้างเคียง ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเจรจาเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีฝ่ายใดแสดงถึงความปรารถนาที่จะประนีประนอมเกี่ยวกับการประกาศอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพิพาทแห่งนี้
ในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม ญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า การที่เรือของจีน 3 ลำแล่นเข้าไปในเขตน่านน้ำซึ่งญี่ปุ่นควบคุมอยู่ บริเวณใกล้ๆ กับหมู่เกาะพินนาเคิล เป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” อูอิชิโร นิระ (Uichiro Nira) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำจีน ถูกเรียกตัวกลับกรุงโตเกียวในระหว่างสุดสัปดาห์นั้น เพื่อปรึกษาหารือในระดับสูงกับรัฐบาลกลางของญี่ปุ่น ตัวเอกอัครราชทูตนิระเองได้กล่าวเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “วิกฤตอันสาหัสร้ายแรงยิ่ง” ระหว่างชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชียทั้งสอง
**ยุทธศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยง**
จังหวะเวลาของการทะเลาะเบาะแว้งที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ต้องนับว่ามีความน่าสนใจเป็นพิเศษทีเดียว ในช่วงไม่นานมานี้เอง จีนก็ต้องเผชิญกับการที่กรณีพิพาทกับฟิลิปปินส์และเวียดนามในเรื่องกรรมสิทธิ์ในเขตทะเลจีนใต้ เกิดปะทุดุเดือดเข้มข้นเพิ่มขึ้นมาเช่นกัน รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะต้องการหาทางกดดันปักกิ่งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ก็ได้ เพื่อให้การต่อสู้ของตนเองมีความผูกพันร่วมกันกับการต่อสู้ของพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียที่มีขนาดเล็กกว่าเหล่านี้ โดยที่ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือว่าฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ก็ล้วนแต่กำลังรู้สึกลำบากอึดอัดจากการที่จีนขยายอิทธิพลบารมีทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารออกไปอย่างรวดเร็ว
อันที่จริงแล้ว ญี่ปุ่นเพิ่งประกาศแผนการที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตครั้งพิเศษกับสมาคมอาเซียนขึ้นในปีหน้าโดยเน้นเรื่องความมั่นคง ถึงแม้ในปัจจุบันญี่ปุ่นก็มีการประชุมหารือกับอาเซียนหลายต่อหลายวาระซึ่งจัดกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่คราวนี้จะเป็นการประชุมครั้งแรกที่โฟกัสเป็นการเฉพาะเจาะจงไปที่เรื่อง “ความมั่นคงทางทะเล” [3] เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามที่จะเกาะเกี่ยวเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตรกันกับชาติในอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก จะได้ร่วมกันออกแรงกดดันคัดง้างการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของฝ่ายจีน
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจจะเป็นความผิดพลาด จีนนั้นมีท่าทีต่อต้านเสมอมาต่อเสียงเรียกร้องให้แก้ไขข้อพิพาทที่แดนมังกรมีกับชาติอื่นๆ ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกันอยู่ ในลักษณะของการดำเนินการแบบพหุภาคี รัฐบาลจีนนั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า ตนเองสามารถที่จะแผ่อิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ ได้มากกว่านักหนา ถ้าหากใช้การดำเนินการในแบบทวิภาคี ยิ่งกว่านั้น ภายในสมาคมอาเซียนเองก็เกิดความแตกแยกกันอยู่ในประเด็นปัญหาเรื่องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้นี้
กัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของจีน มีความลังเลอย่างยิ่งที่จะให้หยิบเอาประเด็นปัญหานี้มาพิจารณาในบริบทของการที่สมาคมอาเซียนโดยองค์รวมเป็นคู่กรณีอยู่กับจีน สำหรับประเทศไทยก็แสดงความปรารถนาว่าขออย่าให้กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ทั้งหลาย ส่งผลกระทบกระเทือนความร่วมมือที่อาเซียนมีอยู่กับจีนเลย นอกจากนั้นแล้ว ถึงแม้เวียดนามกับฟิลิปปินส์ต่างโต้แย้งการกล่าวอ้างอธิปไตยของจีนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทั้งสองประเทศก็โต้แย้งกันเองด้วย เนื่องจากบริเวณที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ก็มีการทับซ้อนกันอยู่เช่นกัน
จังหวะเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทำให้กรณีหมู่เกาะพินนาเคิล กลายเป็น “เรื่องระดับชาติ” ยังบังเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการเมืองภายในประเทศของแดนอาทิตย์อุทัยเองด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีโนดะ เพิ่งประกาศใช้นโยบายหลายอย่างหลายประการทีเดียวที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมาก เป็นต้นว่า การเปิดไฟเขียวให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับเดินเครื่องใหม่ได้อีกครั้ง และการขึ้นภาษีการขาย (sales tax เป็นภาษีซึ่งจัดเก็บในทำนองเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม) อิชิโร โอซาวะ (Ichiro Ozawa) อดีตประธานพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) ซึ่งมีสมญานามว่า “โชกุนเงา” (Shadow Shogun) ได้ประกาศประท้วงด้วยการลาออกจากพรรคที่เป็นแกนนำคณะรัฐบาลผสมของญี่ปุ่นชุดปัจจุบันแห่งนี้ โดยดึงเอาสมาชิกรัฐสภาของ DPJ จำนวน 48 คนไปกับเขาด้วย เพื่อไปอยู่ในพรรคการเมืองใหม่ที่เขาจัดตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า พรรค “ชีวิตประชาชนต้องมาก่อน” (People's Life Comes First)
โนดะอาจจะคาดหวังมุ่งหาแรงสนับสนุนภายในประเทศให้ได้มากขึ้น ด้วยการแสดงตนเป็นนักชาตินิยม สาธารณชนของญี่ปุ่นนั้นมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจเป็นอย่างมากอยู่แล้ว ต่อการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วของแดนมังกร โดยที่เมื่อไม่นานมานี้เองจีนก็เพิ่งสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นชิงเอาตำแหน่งประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกไปครอบครอง อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า แดนมังกรยังมีประวัติศาสตร์อันลำบากยุ่งเหยิงพัวพันอยู่กับแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่โบราณกาล การหาทางจัดการให้มีการเผชิญหน้าในขอบเขตจำกัดกับจีน จึงอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับความมุ่งมาตรปรารถนาในทางการเมืองของโนดะ
เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาจากเมืองซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)