xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: สื่อนอกชี้การส่งออกข้าวไทยตกต่ำเพราะ “โครงการจำนำข้าว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนากำลังฉีดสารฆ่าแมลงลงในนาข้าวที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ผลผลิตข้าวจำนวนล้านๆ ตันที่ตลาดไม่ต้องการ, งบประมาณรัฐที่ถูกผลาญไปโดยสูญเปล่า, ชาวนานึกถึงปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวมากกว่าคุณภาพ, ผู้ส่งออกข้าวต่างท้อแท้สิ้นหวัง... เหล่านี้คือสัญญาณบ่งบอกว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยที่เคยเป็นหนึ่งของโลกกำลังก้าวสู่ภาวะตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็น” บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่าด้วยนโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี(9) ขึ้นต้นเอาไว้เช่นนี้

บทวิเคราะห์ที่ใช้ชื่อว่า Disastrous intervention puts Thai rice exporters in peril (การแทรกแซงอย่างชนิดก่อให้เกิดความหายนะ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยตกอยู่ในอันตราย) ของสำนักข่าวรอยเตอร์ชิ้นนี้ ซึ่งเขียนโดย อาภรณ์รัตน์ พูนพงศ์พิพัฒน์ ระบุว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันซื้อชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วด้วยสัญญาที่ว่าจะรับประกันราคาข้าวเป็น 2 เท่าของราคาตลาดในขณะนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ผลที่ตามมาก็คือ ราคาข้าวของไทยกลับแพงลิบลิ่วจนแทบไม่มีใครอยากซื้อ

ตลอดครึ่งปีแรก ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 3.45 ล้านตัน หรือลดลง 45 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2011

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่า ยอดส่งออกในปีนี้จะไม่เกิน 6.5 ล้านตัน จากปกติที่เคยส่งออกได้ไม่น้อยกว่าปีละ 8-10 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่า ไทยกำลังเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้กับคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม

บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชิ้นนี้กล่าวว่า พวกผู้ส่งออกข้าวต่างก็ดิ้นรนหาทางรอดให้กับตนเอง รายใหญ่ๆเริ่มแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ หรือขยับขยายกิจการไปยังภาคส่วนอื่นเพื่อความอยู่รอด ส่วนรายเล็กที่ไม่มีทางไปก็ต้องถอนตัวออกจากวงการ

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเคยมีสมาชิก 192 รายในปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเชื่อว่ายังมีสมาชิกที่อยู่รอดแน่นอนเพียง 30-40 ราย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ทำกิจการด้านอื่นด้วย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น

“ส่วนรายเล็กๆก็ต้องเลิกกิจการไป” กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงผู้ส่งออกรายย่อยที่ส่งออกข้าวไม่เกิน 500-1,000 ตันต่อปี

ล่าสุดมีผู้ส่งออกข้าวขอถอนตัวจากสมาคมไปแล้ว 20 ราย หนึ่งในนั้นคือบริษัท โกลเดน ไรซ์ ซึ่งส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 2 และปัจจุบันหันไปลงทุนตั้งโรงสีและส่งออกข้าวในกัมพูชาแทน

สำหรับ อุทัย โปรดิวส์ เริ่มชะลอการส่งออกข้าวในไทย และหันไปรับซื้อข้าวจากกัมพูชา, เวียดนาม, ปากีสถาน และแหล่งอื่นๆ เพื่อส่งออกให้ลูกค้าในสหรัฐฯ, แคนาดา และประเทศแถบเอเชีย

“เรายังมีความเชี่ยวชาญและยังต้องการทำธุรกิจส่งออกข้าวต่อไป เพียงแต่เราได้หันมาใช้ความเชี่ยวชาญเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้กับประเทศอื่นๆเท่านั้น” เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อุทัย โปรดิวส์ เผย

“ผมเองก็อาจต้องหยุดกิจการค้าข้าวในไทยเข้าสักวันหนึ่ง หากรัฐบาลยังมีนโยบายเช่นนี้” เจริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บุญส่ง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่กังวลเรื่องผลเสียของนโยบายประกันราคาข้าว โดยบอกว่า “นโยบายของเราคือสนับสนุนชาวนา ซึ่งการทำเช่นนั้นย่อมต้องมีความสูญเสียบ้างเป็นธรรมดา”

รัฐบาลได้ยืดเวลารับจำนำข้าวเปลือกจากกำหนดเดิมที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือนมิถุนายน และจะเริ่มโครงการใหม่สำหรับผลผลิตข้าวในเดือนตุลาคมนี้
โกดังเก็บข้าวเปลือกของรัฐบาลใน จ.พระนครศรีอยุธยา
บทวิเคราะห์นี้อ้างถึงการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่คาดการณ์ว่า โครงการรับจำนำข้าวจะทำให้มูลค่าจีดีพีของไทยหายไปราว 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์สสหรัฐฯต่อปี (ราว 119,000 ล้านบาท) โดยยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและการจัดการอื่นๆ และตัวเลขนี้ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลต้องสามารถจำหน่ายข้าวที่สต็อกไว้ถึง 10 ล้านตันได้หมด

ราคาส่งออกข้าวไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาขายของอินเดียและเวียดนามอยู่ที่ราวๆ 430 ดอลลาร์ต่อตัน หรือถูกกว่าข้าวไทยไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชี้ด้วยว่า ปัจจุบันชาวนาจำนวนมากหันไปเน้นปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวมากกว่าคุณภาพผลผลิต เพราะรู้ว่าอย่างไรเสียรัฐบาลก็จะรับซื้อในราคา 15,000 บาทต่อตัน และยินดีรับซื้อทั้งหมดหากมีความจำเป็น

“ใครเขาจะไปใส่ใจเรื่องคุณภาพ? ชาวนารู้ดีว่าถึงอย่างไรก็จะได้ 15,000 แน่นอน ก็เลยปลูกเอาๆเท่านั้นเอง” ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ให้สัมภาษณ์ พร้อมเผยว่า ชาวนาบางรายหันไปปลูกข้าวสายพันธุ์เมล็ดสั้นที่มีคุณภาพด้อย เพราะสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นมีนัยยะที่ร้ายแรงสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย เพราะหมายถึงไทยกำลังจะสูญเสียกลุ่มลูกค้าข้าวชั้นดี และเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวเกรดธรรมดาให้แก่อินเดียและเวียดนามไปพร้อมๆกัน

“การปรับปรุงคุณภาพข้าวอาจต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะทุกวันนี้เรามีแต่เมล็ดข้าวคุณภาพต่ำ และขาดแคลนข้าวคุณสมบัติดีเสียแล้ว” วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุ

บทวิเคราะห์นี้ได้หยิบยกคำเตือนของไอเอ็มเอฟที่ว่าโครงการรับจำนำข้าวจะก่อปัญหายุ่งยาก เนื่องจากชาวนารายเล็กๆมักจำหน่ายข้าวให้กับพ่อค้าคนกลาง แม้จะได้ราคาต่ำกว่าราคาประกันของรัฐบาลก็ตาม “ดังนั้น ท้ายที่สุดผู้ที่ได้ประโยชน์จากโคงการจำนำข้าวอาจเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และพ่อค้าคนกลางเท่านั้น”

ขณะที่พวกนักวิจารณ์ก็กล่าวถึงปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อสวมสิทธิ์ประกันราคาข้าว ซึ่งทำให้บรรดาเจ้าของโรงสี, เจ้าของที่ดิน และบริษัทผลิตอาหาร ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่าชาวนาที่ยากจนหลายล้านคน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม รอยเตอร์ก็ได้เผยแพร่คอลัมน์ของ ไคลด์ รัสเซลล์ (Clyde Russell) นักวิเคราะห์ตลาดของสำนักข่าวแห่งนี้ ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า Thailand's oxymoronic rice policy lives on (นโยบายข้าวที่มีความขัดแย้งกันเองของประเทศไทย ยังคงถูกนำมาใช้ต่อไป) ซึ่งก็มีเนื้อหาสับแหลกนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าทำให้ไทยเสียแชมป์ส่งออก แถมยังเพิ่มภาระของรัฐทั้งในด้านงบประมาณอุดหนุนและการบริหารจัดการสต็อกข้าว

รัสเซลล์เขียนในคอลัมน์ของเขาว่า นโยบายนี้เต็มไปด้วยความสับสนขัดแย้งกันเอง และไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เขาระบุว่าเพียงแค่ใช้คณิตศาสตร์ง่ายๆ มาคำนวณก็จะพบความผิดพลาดของนโยบายนี้

เขาเหน็บแนมว่า แทนที่จะใช้นโยบายเช่นนี้ การทำตามตัวอย่างของสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยการให้เงินแก่ชาวนาแลกกับการไม่ปลูกข้าวยังจะน่าดีกว่า และตบท้ายว่า ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ว่ารัฐบาลไทยดูจะไม่ได้ตระหนักเลยว่า ยิ่งใช้นโยบายจำนำข้าวนานเท่าใด สต็อกข้าวรัฐบาลที่ขายไม่ออกก็จะยิ่งใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งยากลำบากและยิ่งมีราคาแพงขึ้น
‘ญี่ปุ่น’ยัวะ‘ประธานาธิบดีเกาหลีใต้’เยือนเกาะพิพาท
ประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ของเกาหลีใต้ เดินทางไปเยือนหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งประเทศของเขากำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์อยู่กับญี่ปุ่นในวันศุกร์(10)ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันก่อนที่เกาหลีใต้จะรำลึกวาระที่ตนเองเป็นเอกราชหลุดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 การเลือกจังหวะเวลาอันอ่อนไหวเช่นนี้ ทางฝ่ายญี่ปุ่นมองว่า มันเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงแผนการของ ลี ที่จะจุดอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมให้ลุกฮือ เพื่อหันเหความสนใจของประชาชนเกาหลีใต้ ให้ออกไปจากปัญหาต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของเขากำลังประสบและถูกระบุว่าตกอยู่ในภาวะไร้น้ำยา อย่างไรก็ดี สำหรับฝ่ายโตเกียวแล้ว เวลานี้เท่ากับต้องเผชิญการท้าทายในเรื่องอธิปไตยอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากข้อพิพาทเดิมที่มีอยู่กับรัสเซียและจีน ท่ามกลางความรู้สึกภายในแดนอาทิตย์อุทัยที่ว่า พวกเพื่อนบ้านกำลังฉวยประโยชน์จากการที่อิทธิพลบารมีของญี่ปุ่นในภูมิภาคกำลังอ่อนแอลง
กำลังโหลดความคิดเห็น