(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Beijing steers clear of skirmishes
By Willy Lam
10/09/2012
เห็นทีจะกล่าวโทษปักกิ่งไม่ถนัดนัก ในการแสดงตัวตอบโต้อย่างมั่นอกมั่นใจ ไม่ว่าต่อเสียงเรียกร้องในประเทศจีนเองที่ให้ใช้กำลังอาวุธในการแก้ปัญหาอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเล็กๆ ที่พิพาทอยู่กับญี่ปุ่นมาเป็นเวลา 40 ปี หรือต่อท่าทีพร้อมสู้รบต่อยตีอย่างผิดธรรมดาของฝ่ายโตเกียว ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากเมื่อถึงที่สุดแล้วปักกิ่งยังคงสามารถพึ่งพาอาศัยแผนอุบายแบบใช้ “รางวัลและการลงโทษ” มาชักจูงหว่านล้อมโตเกียวให้หักห้ามสะกดอารมณ์ความรู้สึกมิให้เลยเถิด
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความระแวดระวังรอบคอบของปักกิ่งที่จะไม่ให้กรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุกับญี่ปุ่นระลอกล่าสุดนี้เกิดการขยายตัวบานปลายจนควบคุมไม่อยู่ ได้แก่การที่สื่อมวลชนของทางการจีนยังคงปล่อยให้บทความบทวิจารณ์ที่กล่าวถึงสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วยทัศนะมุมมองแบบกลางๆ อย่างน่าประหลาดใจ ออกมาเผยแพร่ได้หลายต่อหลายชิ้น แม้กระทั่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น โกลบอลไทมส์ได้เผยแพร่บทความที่เขียนโดย หาน เสี่ยวชิง (Han Xiaoqing) ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำกรุงโตเกียวของค่ายเหรินหมินรึเป้า ซึ่งมีเนื้อหากล่าวโทษพวก “ผู้รักชาติ” จากฮ่องกง ที่นำเรือไปขึ้นบกในหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมว่า “กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเอง”
ข้อเขียนของเธอหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ที่จีนยังคงต้องการการลงทุนและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเพื่อทำให้เศรษฐกิจแดนมังกรบังเกิดความทันสมัย เส้นทางที่สมเหตุสมผลที่สุดจึงยังคงเป็นการกระทำตามหลักการที่เติ้ง เสี่ยวผิง ให้ไว้เมื่อปี 1978 นั่นคือ “ยกเรื่องอธิปไตยออกไปก่อน และมุ่งเน้นหนักไปที่การร่วมกันพัฒนา” ("setting aside sovereignty and focusing on joint development) เธอยังให้คำแนะนำแก่พวกชาตินิยมที่เรียกร้องให้ช่วงชิงและยืนยันอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทันทีว่า “ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ถึงเวลาที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องเตี้ยวอี๋ว์ จึงควรที่จะหยุดยั้งการรบกวนเส้นประสาทอันอ่อนไหวง่าย (ของประชาชนทั้งสองฝ่าย) ควรที่จะหยุดยั้งจากการท้าทาย ‘ความอดกลั้น’ อันมีขอบเขตจำกัดของประชาชนทั้งสองฝ่าย”
อันที่จริง ความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งระหว่างชาติเพื่อนบ้านผู้ทรงอำนาจทั้งสอง อาจจะเป็นปัจจัยซึ่งโน้มน้าวจูงใจให้ปักกิ่งกับโตเกียวต่างฝ่ายต่างยอมรับมาตรการอันสมเหตุสมผลในการแก้ไขคลี่คลายกรณีพิพาทว่าด้วยอธิปไตยเช่นนี้ ปรากฏการณ์แห่ง “การเมืองเย็นเฉียบ แต่เศรษฐกิจเร่าร้อน” (cold politics, hot economics) ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-ญี่ปุ่นนับตั้งแต่ยุคโคอิซูมิเป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ที่หลักเหตุผลอย่างเดียวกันนี้จะยิ่งกลายเป็นตัวปกป้องไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นต้องมีอันเสียหายไปในขณะนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศต่างก็กำลังเผชิญกับความเป็นจริงอันลำบากหนักหน่วงในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยิ่งเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยด้วยแล้ว ดูเหมือนถึงขั้นอยู่ในอาการกำลังจะหมดแรงเอาทีเดียว
การที่รถยนต์ญี่ปุ่นตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของแดนอาทิตย์อุทัย ยังคงขายดิบขายดีในตลาดจีน คือหนึ่งในปัจจัยด้านบวกเพียงไม่กี่อย่างที่เป็นเสมือนแสงเงินแสงทองอันสดใสบริเวณขอบฟ้า ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจของจีนก็กำลังประสบปัญหาในการประคับประคองอัตราเติบโตขยายตัว หลังจากที่เคยเห็นกันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนำมาคำนึงก็ได้มานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปกำลังตกต่ำทรุดฮวบ จึงทำให้ตลาดเอเชียใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงตลาดญี่ปุ่นด้วย มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งกว่านั้นพวกโรงงานอุตสาหกรรมของจีนก็ยังคงมีความกระหายที่จะได้รับ โนว-ฮาว ของญี่ปุ่น ในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไล่ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจารณ์ตามสื่อมวลชนของจีนจำนวนไม่น้อย กำลังแสดงทัศนะเกี่ยวกับความสับสนวุ่นวายว่าด้วยหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ นี้ โดยผ่านมุมมองของการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าพัวพันเกี่ยวข้องของสหรัฐฯในกิจการของภูมิภาคแปซิฟิกในระยะยาวไกล ทั้งนี้แทนที่จะเอาแต่เพ่งเล็งเสนอแนะหนทางวิธีการที่จะช่วงชิงเอาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์มาจากพวกฝ่ายขวาญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กลับเรียกร้องให้หันไปพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวมากขึ้น โดยเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้โตเกียวยุติเลิกราไม่นำพาตัวเองเข้าไปร่วมขบวนกับสิ่งที่แดนมังกรกล่าวหาว่า เป็น “นโยบายปิดล้อมเพื่อต่อต้านจีน” ของวอชิงตัน
ในขณะกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ถัง เจียสวน (Tang Jiaxuan) อดีตมุขมนตรี (State Councilor มีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ชี้ออกมาตรงๆ ว่า วอชิงตันเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่น “ถ้าหากญี่ปุ่นมีความปรารถนาที่จะยกเลิก (นโยบาย) การเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการปิดล้อมจีนแล้ว (ความตึงเครียดระหว่าง) จีนกับญี่ปุ่นก็สามารถเย็นตัวลงมาได้” ถัง บอก “ญี่ปุ่นควรที่จะดำเนินการยกเครื่องเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์ถึงขั้นรากฐาน” เขากล่าวต่อ “แทนที่จะช่วยเหลือ (สหรัฐฯ) ในการเล่นงานจีน โตเกียวควรที่จะกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนและ (สหรัฐฯ)”
ทำนองเดียวกัน ในบทวิจารณ์ว่าด้วยการประจันหน้ากันในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุชิ้นหนึ่งของโกลบอลไทมส์ ได้พูดถึงสายสัมพันธ์สามเส้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯนี้เช่นกัน โดยระบุว่า “ยุคสมัยแห่งการที่ญี่ปุ่นแสดงความมีมิตรไมตรีต่อจีนได้สิ้นสุดลงไปแล้ว” บทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า “การแสดงความเป็นศัตรูต่อจีนของญี่ปุ่นนั้น มีความแข็งกร้าวยิ่งกว่า (การแสดงความเป็นศัตรูต่อจีน) ของสหรัฐฯเสียอีก ... เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้แล้ว ญี่ปุ่นยังมีความเหินห่างจีนยิ่งกว่า(ที่โซลทอดระยะห่างจากปักกิ่ง) ทว่าในอีกด้านหนึ่งญี่ปุ่นกลับกำลังผูกพันอย่างเหนียวแน่นเหลือเกินกับสหรัฐฯ” บทวิจารณ์ชิ้นนี้สรุปว่า “ยุทธศาสตร์ทางด้านกิจการต่างประเทศของญี่ปุ่นเกิดความบิดเบี้ยวผิดพลาดเสียแล้ว และนี่เองคือสาเหตุเบื้องลึกของความหงุดหงิดผิดหวังในปัจจุบันในสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น”
ทัศนะความเห็นเหล่านี้ย่อมมีนัยความหมายติดตามมาด้วยว่า ในทันทีที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะเลิกพัวพันโยงใยตัวเองเข้ากับสิ่งที่แดนมังกรเล็งเห็นว่าเป็นนโยบายการปิดล้อมจีนซึ่งมีวอชิงตันเป็นผู้นำแล้ว ปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ ก็จะไม่เป็นสาเหตุของการบั่นทอนทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอีกต่อไป ดูเหมือนว่านักวิชาการที่มีแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นเฉกเช่นศาสตราจารย์เฉินแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน จะไปไกลถึงขั้นเสนอแนะว่า ถ้าหากโตเกียวแสดงความปรารถนาที่จะบอกปัดไม่เอาด้วยกับนโยบายปิดล้อมจีนของสหรัฐฯแล้ว ปักกิ่งก็ควรสนับสนุนความพยายามของญี่ปุ่นที่จะขอเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
กระนั้นก็ตาม ยังคงมีพัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญยิ่งยวดในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่การที่โตเกียวกำลังมีการต่อสู้ช่วงชิงดินแดนอย่างเข้มข้นมากขึ้นทั้งกับโซลและมอสโก โดยที่การเป็นการอ้างอธิปไตยเหนือเกาะทาเกชิมะ (Takeshima Island) ทับซ้อนกับเกาหลีใต้ (ซึ่งเรียกชื่อเกาะแห่งนี้ว่า ด็อกโด Dokdo) และอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนทางตอนเหนือ (Northern Territories) ทับซ้อนกับรัสเซีย (ที่เรียกดินแดนนี้ว่าหมู่เกาะคูริวตอนใต้ South Kuril Islands) หากเปรียบเทียบกับการพิพาทกันในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเสียเปรียบมากกว่า เนื่องจากโซลและมอสโกคือผู้ที่ทำการควบคุมในทางพฤตินัยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้มีนักวิจารณ์ทางสื่อมวลชนชาวจีนที่เป็นพวกแนวคิดแข็งกร้าวบางคนเหมือนกัน ที่เรียกร้องให้ปักกิ่งหาทางจับมือเป็นพันธมิตรในบางรูปแบบกับเกาหลีใต้และรัสเซียเสียเลย เพื่อเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อญี่ปุ่น
เรื่องนี้หมายความว่า ปักกิ่งซึ่งเท่าที่ผ่านมายังคงวางตัวเป็นกลางต่อกรณีพิพาทเหล่านี้ จะหันไปเข้าข้างเกาหลีใต้และรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบแทนถ้าหากประเทศเหล่านี้สนับสนุนการอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุของแดนมังกร ตัวอย่างเช่น ในบทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งของโกลบอลไทมส์เมื่อเดือนที่แล้ว ได้เขียนเอาไว้ว่า “จีนควรที่จะสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของรัสเซียและเกาหลีใต้ เพื่อที่ (เกาหลีใต้-รัสเซีย-จีน) จะได้สามารถร่วมมือกันในการรับมือกับญี่ปุ่น”
ปักกิ่งดูเหมือนมีความมั่นอกมั่นใจว่า ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นทำท่าว่ามีความสามารถที่จะทำให้สหรัฐฯแสดงความสนับสนุนโตเกียวในประเด็นปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุได้ แต่จีนก็ยังคงมีแผนอุบายในลักษณะใช้ “รางวัลและการลงโทษ” อยู่ในกำมือ ซึ่งจะสามารถตะล่อมเกลี้ยกล่อมโตเกียว เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถป้องกันไม่ให้การทะเลาะเบาะแว้งเรื่องอธิปไตยนี้ เกิดการลามปามยกระดับขึ้นไปเป็นวิกฤตการณ์ทวิภาคีอย่างเต็มขั้น
ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์สมทบในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)
Beijing steers clear of skirmishes
By Willy Lam
10/09/2012
เห็นทีจะกล่าวโทษปักกิ่งไม่ถนัดนัก ในการแสดงตัวตอบโต้อย่างมั่นอกมั่นใจ ไม่ว่าต่อเสียงเรียกร้องในประเทศจีนเองที่ให้ใช้กำลังอาวุธในการแก้ปัญหาอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเล็กๆ ที่พิพาทอยู่กับญี่ปุ่นมาเป็นเวลา 40 ปี หรือต่อท่าทีพร้อมสู้รบต่อยตีอย่างผิดธรรมดาของฝ่ายโตเกียว ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากเมื่อถึงที่สุดแล้วปักกิ่งยังคงสามารถพึ่งพาอาศัยแผนอุบายแบบใช้ “รางวัลและการลงโทษ” มาชักจูงหว่านล้อมโตเกียวให้หักห้ามสะกดอารมณ์ความรู้สึกมิให้เลยเถิด
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความระแวดระวังรอบคอบของปักกิ่งที่จะไม่ให้กรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุกับญี่ปุ่นระลอกล่าสุดนี้เกิดการขยายตัวบานปลายจนควบคุมไม่อยู่ ได้แก่การที่สื่อมวลชนของทางการจีนยังคงปล่อยให้บทความบทวิจารณ์ที่กล่าวถึงสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วยทัศนะมุมมองแบบกลางๆ อย่างน่าประหลาดใจ ออกมาเผยแพร่ได้หลายต่อหลายชิ้น แม้กระทั่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น โกลบอลไทมส์ได้เผยแพร่บทความที่เขียนโดย หาน เสี่ยวชิง (Han Xiaoqing) ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำกรุงโตเกียวของค่ายเหรินหมินรึเป้า ซึ่งมีเนื้อหากล่าวโทษพวก “ผู้รักชาติ” จากฮ่องกง ที่นำเรือไปขึ้นบกในหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมว่า “กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเอง”
ข้อเขียนของเธอหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ที่จีนยังคงต้องการการลงทุนและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเพื่อทำให้เศรษฐกิจแดนมังกรบังเกิดความทันสมัย เส้นทางที่สมเหตุสมผลที่สุดจึงยังคงเป็นการกระทำตามหลักการที่เติ้ง เสี่ยวผิง ให้ไว้เมื่อปี 1978 นั่นคือ “ยกเรื่องอธิปไตยออกไปก่อน และมุ่งเน้นหนักไปที่การร่วมกันพัฒนา” ("setting aside sovereignty and focusing on joint development) เธอยังให้คำแนะนำแก่พวกชาตินิยมที่เรียกร้องให้ช่วงชิงและยืนยันอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทันทีว่า “ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ถึงเวลาที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องเตี้ยวอี๋ว์ จึงควรที่จะหยุดยั้งการรบกวนเส้นประสาทอันอ่อนไหวง่าย (ของประชาชนทั้งสองฝ่าย) ควรที่จะหยุดยั้งจากการท้าทาย ‘ความอดกลั้น’ อันมีขอบเขตจำกัดของประชาชนทั้งสองฝ่าย”
อันที่จริง ความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งระหว่างชาติเพื่อนบ้านผู้ทรงอำนาจทั้งสอง อาจจะเป็นปัจจัยซึ่งโน้มน้าวจูงใจให้ปักกิ่งกับโตเกียวต่างฝ่ายต่างยอมรับมาตรการอันสมเหตุสมผลในการแก้ไขคลี่คลายกรณีพิพาทว่าด้วยอธิปไตยเช่นนี้ ปรากฏการณ์แห่ง “การเมืองเย็นเฉียบ แต่เศรษฐกิจเร่าร้อน” (cold politics, hot economics) ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-ญี่ปุ่นนับตั้งแต่ยุคโคอิซูมิเป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ที่หลักเหตุผลอย่างเดียวกันนี้จะยิ่งกลายเป็นตัวปกป้องไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นต้องมีอันเสียหายไปในขณะนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศต่างก็กำลังเผชิญกับความเป็นจริงอันลำบากหนักหน่วงในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยิ่งเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยด้วยแล้ว ดูเหมือนถึงขั้นอยู่ในอาการกำลังจะหมดแรงเอาทีเดียว
การที่รถยนต์ญี่ปุ่นตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของแดนอาทิตย์อุทัย ยังคงขายดิบขายดีในตลาดจีน คือหนึ่งในปัจจัยด้านบวกเพียงไม่กี่อย่างที่เป็นเสมือนแสงเงินแสงทองอันสดใสบริเวณขอบฟ้า ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจของจีนก็กำลังประสบปัญหาในการประคับประคองอัตราเติบโตขยายตัว หลังจากที่เคยเห็นกันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนำมาคำนึงก็ได้มานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปกำลังตกต่ำทรุดฮวบ จึงทำให้ตลาดเอเชียใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงตลาดญี่ปุ่นด้วย มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งกว่านั้นพวกโรงงานอุตสาหกรรมของจีนก็ยังคงมีความกระหายที่จะได้รับ โนว-ฮาว ของญี่ปุ่น ในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไล่ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจารณ์ตามสื่อมวลชนของจีนจำนวนไม่น้อย กำลังแสดงทัศนะเกี่ยวกับความสับสนวุ่นวายว่าด้วยหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ นี้ โดยผ่านมุมมองของการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าพัวพันเกี่ยวข้องของสหรัฐฯในกิจการของภูมิภาคแปซิฟิกในระยะยาวไกล ทั้งนี้แทนที่จะเอาแต่เพ่งเล็งเสนอแนะหนทางวิธีการที่จะช่วงชิงเอาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์มาจากพวกฝ่ายขวาญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กลับเรียกร้องให้หันไปพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวมากขึ้น โดยเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้โตเกียวยุติเลิกราไม่นำพาตัวเองเข้าไปร่วมขบวนกับสิ่งที่แดนมังกรกล่าวหาว่า เป็น “นโยบายปิดล้อมเพื่อต่อต้านจีน” ของวอชิงตัน
ในขณะกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ถัง เจียสวน (Tang Jiaxuan) อดีตมุขมนตรี (State Councilor มีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ชี้ออกมาตรงๆ ว่า วอชิงตันเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่น “ถ้าหากญี่ปุ่นมีความปรารถนาที่จะยกเลิก (นโยบาย) การเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการปิดล้อมจีนแล้ว (ความตึงเครียดระหว่าง) จีนกับญี่ปุ่นก็สามารถเย็นตัวลงมาได้” ถัง บอก “ญี่ปุ่นควรที่จะดำเนินการยกเครื่องเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์ถึงขั้นรากฐาน” เขากล่าวต่อ “แทนที่จะช่วยเหลือ (สหรัฐฯ) ในการเล่นงานจีน โตเกียวควรที่จะกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนและ (สหรัฐฯ)”
ทำนองเดียวกัน ในบทวิจารณ์ว่าด้วยการประจันหน้ากันในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุชิ้นหนึ่งของโกลบอลไทมส์ ได้พูดถึงสายสัมพันธ์สามเส้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯนี้เช่นกัน โดยระบุว่า “ยุคสมัยแห่งการที่ญี่ปุ่นแสดงความมีมิตรไมตรีต่อจีนได้สิ้นสุดลงไปแล้ว” บทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า “การแสดงความเป็นศัตรูต่อจีนของญี่ปุ่นนั้น มีความแข็งกร้าวยิ่งกว่า (การแสดงความเป็นศัตรูต่อจีน) ของสหรัฐฯเสียอีก ... เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้แล้ว ญี่ปุ่นยังมีความเหินห่างจีนยิ่งกว่า(ที่โซลทอดระยะห่างจากปักกิ่ง) ทว่าในอีกด้านหนึ่งญี่ปุ่นกลับกำลังผูกพันอย่างเหนียวแน่นเหลือเกินกับสหรัฐฯ” บทวิจารณ์ชิ้นนี้สรุปว่า “ยุทธศาสตร์ทางด้านกิจการต่างประเทศของญี่ปุ่นเกิดความบิดเบี้ยวผิดพลาดเสียแล้ว และนี่เองคือสาเหตุเบื้องลึกของความหงุดหงิดผิดหวังในปัจจุบันในสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น”
ทัศนะความเห็นเหล่านี้ย่อมมีนัยความหมายติดตามมาด้วยว่า ในทันทีที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะเลิกพัวพันโยงใยตัวเองเข้ากับสิ่งที่แดนมังกรเล็งเห็นว่าเป็นนโยบายการปิดล้อมจีนซึ่งมีวอชิงตันเป็นผู้นำแล้ว ปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ ก็จะไม่เป็นสาเหตุของการบั่นทอนทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอีกต่อไป ดูเหมือนว่านักวิชาการที่มีแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นเฉกเช่นศาสตราจารย์เฉินแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน จะไปไกลถึงขั้นเสนอแนะว่า ถ้าหากโตเกียวแสดงความปรารถนาที่จะบอกปัดไม่เอาด้วยกับนโยบายปิดล้อมจีนของสหรัฐฯแล้ว ปักกิ่งก็ควรสนับสนุนความพยายามของญี่ปุ่นที่จะขอเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
กระนั้นก็ตาม ยังคงมีพัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญยิ่งยวดในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่การที่โตเกียวกำลังมีการต่อสู้ช่วงชิงดินแดนอย่างเข้มข้นมากขึ้นทั้งกับโซลและมอสโก โดยที่การเป็นการอ้างอธิปไตยเหนือเกาะทาเกชิมะ (Takeshima Island) ทับซ้อนกับเกาหลีใต้ (ซึ่งเรียกชื่อเกาะแห่งนี้ว่า ด็อกโด Dokdo) และอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนทางตอนเหนือ (Northern Territories) ทับซ้อนกับรัสเซีย (ที่เรียกดินแดนนี้ว่าหมู่เกาะคูริวตอนใต้ South Kuril Islands) หากเปรียบเทียบกับการพิพาทกันในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเสียเปรียบมากกว่า เนื่องจากโซลและมอสโกคือผู้ที่ทำการควบคุมในทางพฤตินัยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้มีนักวิจารณ์ทางสื่อมวลชนชาวจีนที่เป็นพวกแนวคิดแข็งกร้าวบางคนเหมือนกัน ที่เรียกร้องให้ปักกิ่งหาทางจับมือเป็นพันธมิตรในบางรูปแบบกับเกาหลีใต้และรัสเซียเสียเลย เพื่อเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อญี่ปุ่น
เรื่องนี้หมายความว่า ปักกิ่งซึ่งเท่าที่ผ่านมายังคงวางตัวเป็นกลางต่อกรณีพิพาทเหล่านี้ จะหันไปเข้าข้างเกาหลีใต้และรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบแทนถ้าหากประเทศเหล่านี้สนับสนุนการอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุของแดนมังกร ตัวอย่างเช่น ในบทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งของโกลบอลไทมส์เมื่อเดือนที่แล้ว ได้เขียนเอาไว้ว่า “จีนควรที่จะสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของรัสเซียและเกาหลีใต้ เพื่อที่ (เกาหลีใต้-รัสเซีย-จีน) จะได้สามารถร่วมมือกันในการรับมือกับญี่ปุ่น”
ปักกิ่งดูเหมือนมีความมั่นอกมั่นใจว่า ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นทำท่าว่ามีความสามารถที่จะทำให้สหรัฐฯแสดงความสนับสนุนโตเกียวในประเด็นปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุได้ แต่จีนก็ยังคงมีแผนอุบายในลักษณะใช้ “รางวัลและการลงโทษ” อยู่ในกำมือ ซึ่งจะสามารถตะล่อมเกลี้ยกล่อมโตเกียว เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถป้องกันไม่ให้การทะเลาะเบาะแว้งเรื่องอธิปไตยนี้ เกิดการลามปามยกระดับขึ้นไปเป็นวิกฤตการณ์ทวิภาคีอย่างเต็มขั้น
ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์สมทบในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)