(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Beijing more sensitive to war tremors
By Brendan O'Reilly
17/09/2012
การตัดสินใจของโตเกียวที่จะพยายามเข้าควบคุมหมู่เกาะซึ่งพิพาทอยู่กับปักกิ่งในทะเลจีนตะวันออกให้แน่นหนารัดกุมยิ่งขึ้น ดูเหมือนจะกลายเป็นการคำนวณผิดพลาดอย่างร้ายแรง อันที่จริงแล้ว มันก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องผิดปกติธรรมดาอะไรหรอกที่พวกผู้ประท้วงในจีนกำลังส่งเสียงเรียกร้องต้องการทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่สิ่งที่แตกต่างจากคราวก่อนๆ ในอดีตที่ผ่านมาอยู่ตรงที่ว่า ความแตกร้าวที่กำลังปรากฏให้เห็นในคณะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ปักกิ่งมีความอ่อนไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งทางประวัติศาสตร์และทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังกลายเป็นปัญหาร้ายแรงเฉพาะหน้าขึ้นมา สืบเนื่องจากกรณีพิพาทช่วงชิงหมู่เกาะเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในทะเลจีนตะวันออก การต่อสู้เพื่ออ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะที่ในจีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ และในญี่ปุ่นเรียกว่า เซงกากุ แห่งนี้ กำลังระอุร้อนแรงขึ้นมาในช่วงจังหวะเวลาที่อันตรายมากสำหรับทั้งสองประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นตัวชี้ขาดตัดสินอนาคตครั้งสำคัญ การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากก็ปะทุขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ หลายสิบแห่งของแดนมังกร ในบางแห่งบางที่ ความโกรธเกรี้ยวของคนจีนถูกระบายออกมาใส่ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นและแบรนด์สินค้าญี่ปุ่น กลุ่มผู้ประท้วงช่วยกันพลิกคว่ำพลิกหงายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น, จุดไฟเผาอาคารต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิจการของญี่ปุ่น, ตลอดจนทุบทำลายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่น อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในจีนเวลานี้คือการเรียกร้องต้องการสงคราม
ถึงแม้ข้อพิพาทเรื่องดินแดนหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ มีความเป็นมายาวนานอย่างน้อยที่สุดก็สาวย้อนหลังกลับไปได้หลายสิบปี แต่ความเคลื่อนไหวของทั้งสองในเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กลายเป็นการเพิ่มทวีความขัดเคืองระหว่าง 2 ประเทศที่เป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก มีความเป็นได้อยู่มากจริงๆ ที่จะเกิดการประจันหน้าด้วยกำลังอาวุธขึ้นมา โดยที่โอกาสซึ่งจะเกิดการสู้รบกันด้วยกำลังอาวุธเช่นนี้ อาจจะเพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องจากในทั้งสองประเทศขณะนี้ ต่างมีความวิตกกังวลทวีสูงขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ และก็มีความห่วงใยเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในทางการเมือง
ระยะไม่กี่วันที่ผ่านมาเราได้เห็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนในทะเลนี้ขยายตัวยกระดับขึ้นไปอย่างน่าตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติอนุมัติแผนการที่จะเข้าซื้อหมู่เกาะเล็กๆ ที่กำลังช่วงชิงกันอยู่นี้เป็นจำนวน 3 แห่งจากทั้งสิ้น 5 แห่ง จากเจ้าของผู้ครอบครองที่เป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น หรือการที่รัฐบาลจีนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการออกมาประณามความเคลื่อนไหวเช่นนี้แทบจะทันทีทันควัน โดยที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีน ออกมาแถลงอย่างหนักแน่นว่า “ไม่มีการอ่อนข้อใดๆ อย่างเด็ดขาด” ในประเด็นปัญหาว่าด้วยอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้ [1]
สิ่งที่บอกเล่าสถานการณ์ได้มากกว่านั้นอีกก็คือ เวลานี้รัฐบาลจีนกำลังหนุนหลังคำแถลงอันดุดันเหล่านี้ด้วยแสนยานุภาพทางทหาร กระทรวงกลาโหมจีนประกาศว่า “สงวนสิทธิที่จะใช้มาตรการต่างๆ ตามความจำเป็น” [2] เพื่อธำรงรักษาอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ จีนยังจัดส่งเรือ “ตรวจการณ์มหาสมุทร” (ocean surveillance) จำนวน 6 ลำไปยังน่านน้ำพิพาท ด้วยวัตถุประสงค์ในการ “บังคับใช้กฎหมาย” ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนในกรุงโตเกียวมาพบ และประณามการเคลื่อนกองกำลังกึ่งทหารทางเรือเช่นนี้ของแดนมังกรว่า เป็นการกระทำ “อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย” ในกรณีบาดหมางเก่าแก่ที่ดำเนินมานานหลายสิบปีแล้วนี้
อี๋ว์ จือหรง (Yu Zhirong) เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานบริหารกิจการมหาสมุทรแห่งรัฐ (State Oceanic Administration) ของจีน ได้เพิ่มความเขม็งเกลียวมากขึ้นจากการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขากล่าวว่า “เราจะต้องขับไล่พวกเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งของญี่ปุ่น (Japan Coast Guard) ให้ออกไปจากน่านน้ำที่เป็นเขตแดนของจีน เราไม่กลัวหรอกที่ต้องเสี่ยงว่าอาจจะเกิดการสู้รบระดับเล็กๆ ขึ้นมา” [3] แต่ขณะที่คณะผู้นำในประเทศทั้งสองอาจจะไม่หวาดกลัวการประจันหน้ากันระดับเล็กๆ น้อยๆ แบบพอให้เป็นสัญลักษณ์ แต่แรงกระเพื่อมแรงสะท้อนจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะแผ่กว้างออกไปให้เป็นที่รู้สึกกันทั่วโลกทีเดียว ไม่มีใครสามารถรับประกันได้หรอกว่า การสู้รบใดๆ ในทะเลจีนตะวันออกจะสามารถจำกัดให้อยู่เพียงแค่ “ระดับเล็กๆ” เอาไว้ได้ ความผูกพันอย่างใกล้ชิดทางด้านความมั่นคงที่ญี่ปุ่นมีอยู่กับสหรัฐฯ น่าที่จะดึงลากเอาอเมริกาเข้ามาในการปะทะใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นมา
สหรัฐฯนั้นกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกนี้อย่างใกล้ชิด แกรี ล็อก (Gary Locke) เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำจีนกล่าวย้ำเมื่อไม่นานมานี้ว่า อเมริกามีท่าทีเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีพิพาทต่างๆ ที่กำลังปะทุขึ้น ระหว่างที่พูดอ้างอิงพาดพิงถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับพวกประเทศเพื่อนบ้าน ล็อกระบุว่า “เราไม่มีความเห็นใดๆ โดยสิ้นเชิงในเรื่องที่ว่าใครเป็นฝ่ายถูก และเราก็เชื่อด้วยว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ไขคลี่คลายการพิพาทกันนี้” [4]
ปรากฏว่าการแสดงทัศนะเช่นนี้ได้ถูกตีความในสื่อมวลชนจีน ว่าแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในนโยบายของสหรัฐฯ เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ รัฐบาลจีนยืนกรานว่าการแก้ไขข้อพิพาททางดินแดนต่างๆ หลายหลากที่แดนมังกรมีอยู่กับพวกประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะต้องกระทำผ่านกลไกทวิภาคี โดยที่ทราบอยู่เต็มอกว่า จีนย่อมมีความได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อเป็นการแก้ไขคลี่คลายความบาดหมางกันในลักษณะพูดจากันหนึ่งต่อหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง วอชิงตันได้ออกมาส่งเสียงแสดงความสนับสนุนให้ใช้กลไกพหุภาคีในการแก้ไขคลี่คลายปัญหา โดยที่ในกลไกซึ่งมีหลายๆ ชาติหลายๆ ฝ่ายเข้าร่วมเช่นนี้ ความได้เปรียบของจีนย่อมจะลดน้อยเจือจางลงอย่างสำคัญทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นไปโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามที การที่เอกอัครราชทูตล็อกออกมาเรียกร้องให้ “ทั้งสองฝ่าย” หาทางทำความตกลงกันเพื่อคลี่คลายข้อพิพาททางดินแดนที่มีกันอยู่ ก็ได้ถูกจดลงบัญชีเอาไว้ในประเทศจีนว่าเป็นชัยชนะทางการทูตของแดนมังกร
ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหม เลียน เพเนตตา ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างตระเวนเยือนหลายชาติในเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้กล่าวแสดงทัศนะเกี่ยวกับการพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลที่กำลังบังเกิดขึ้นทั้งในเขตทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้โดยองค์รวม โดยเขาพูดในขณะที่อยู่ในกรุงโตเกียวว่า “ผมมีความเป็นห่วงว่าจากการที่ประเทศเหล่านี้เข้าเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการยั่วยุต่างๆ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ในเรื่องหมู่เกาะต่างๆ นานาเหล่านี้ มันก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเกิดการวินิจฉัยอย่างผิดพลาด กระทั่งส่งผลให้กลายเป็นความรุนแรงขึ้นมา แล้วส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นการสู้รบ จากนั้นการสู้รบดังกล่าวก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวบานปลายออกไป” [5]
โอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกัน และการสู้รบก็ “ขยายตัวบานปลายออกไป” คือสิ่งที่สหรัฐฯกำลังรู้สึกวิตกกังวลอย่างแท้จริง เวลานี้ทรัพยากรทางทหารและทางความมั่นคงต่างๆ ของอเมริกากำลังถูกกระจายนำไปใช้ในหลายๆ จุดหลายๆ แห่ง จนกระทั่งกลายเป็นภาระหนักเต็มไม้เต็มมือแล้ว มิหนำซ้ำสหรัฐฯยังกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ลุกลามหนักในตะวันออกกลางเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่สร้างโดยฝีมือโปรดิวเตอร์มือสมัครเล่นอเมริกันซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านดูหมิ่นอิสลาม ทั้งนี้เรายังไม่ต้องเอ่ยถึงสงครามที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในอัฟกานิสถาน หรือการปฏิบัติการทางทหารในโซมาเลีย, เยเมน, และปากีสถาน พวกที่มีแนวคิดสายเหยี่ยวจำนวนหนึ่งภายในคณะผู้นำจีนอาจจะต้องการใช้การเผชิญหน้าในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อทดสอบว่าอเมริกาจะกระทำตามพันธกรณีทางด้านความมั่นคงที่มีอยู่กับญี่ปุ่นอย่างหนักแน่นจริงจังแค่ไหน ตลอดจนมีความยึดมั่นกับยุทธศาสตร์แห่งการหวนกลับมาเน้นความสำคัญต่อเอเชียโดยรวมมากน้อยเพียงใด
เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง
The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Beijing more sensitive to war tremors
By Brendan O'Reilly
17/09/2012
การตัดสินใจของโตเกียวที่จะพยายามเข้าควบคุมหมู่เกาะซึ่งพิพาทอยู่กับปักกิ่งในทะเลจีนตะวันออกให้แน่นหนารัดกุมยิ่งขึ้น ดูเหมือนจะกลายเป็นการคำนวณผิดพลาดอย่างร้ายแรง อันที่จริงแล้ว มันก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องผิดปกติธรรมดาอะไรหรอกที่พวกผู้ประท้วงในจีนกำลังส่งเสียงเรียกร้องต้องการทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่สิ่งที่แตกต่างจากคราวก่อนๆ ในอดีตที่ผ่านมาอยู่ตรงที่ว่า ความแตกร้าวที่กำลังปรากฏให้เห็นในคณะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ปักกิ่งมีความอ่อนไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งทางประวัติศาสตร์และทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังกลายเป็นปัญหาร้ายแรงเฉพาะหน้าขึ้นมา สืบเนื่องจากกรณีพิพาทช่วงชิงหมู่เกาะเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในทะเลจีนตะวันออก การต่อสู้เพื่ออ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะที่ในจีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ และในญี่ปุ่นเรียกว่า เซงกากุ แห่งนี้ กำลังระอุร้อนแรงขึ้นมาในช่วงจังหวะเวลาที่อันตรายมากสำหรับทั้งสองประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นตัวชี้ขาดตัดสินอนาคตครั้งสำคัญ การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากก็ปะทุขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ หลายสิบแห่งของแดนมังกร ในบางแห่งบางที่ ความโกรธเกรี้ยวของคนจีนถูกระบายออกมาใส่ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นและแบรนด์สินค้าญี่ปุ่น กลุ่มผู้ประท้วงช่วยกันพลิกคว่ำพลิกหงายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น, จุดไฟเผาอาคารต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิจการของญี่ปุ่น, ตลอดจนทุบทำลายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่น อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในจีนเวลานี้คือการเรียกร้องต้องการสงคราม
ถึงแม้ข้อพิพาทเรื่องดินแดนหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ มีความเป็นมายาวนานอย่างน้อยที่สุดก็สาวย้อนหลังกลับไปได้หลายสิบปี แต่ความเคลื่อนไหวของทั้งสองในเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กลายเป็นการเพิ่มทวีความขัดเคืองระหว่าง 2 ประเทศที่เป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก มีความเป็นได้อยู่มากจริงๆ ที่จะเกิดการประจันหน้าด้วยกำลังอาวุธขึ้นมา โดยที่โอกาสซึ่งจะเกิดการสู้รบกันด้วยกำลังอาวุธเช่นนี้ อาจจะเพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องจากในทั้งสองประเทศขณะนี้ ต่างมีความวิตกกังวลทวีสูงขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ และก็มีความห่วงใยเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในทางการเมือง
ระยะไม่กี่วันที่ผ่านมาเราได้เห็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนในทะเลนี้ขยายตัวยกระดับขึ้นไปอย่างน่าตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติอนุมัติแผนการที่จะเข้าซื้อหมู่เกาะเล็กๆ ที่กำลังช่วงชิงกันอยู่นี้เป็นจำนวน 3 แห่งจากทั้งสิ้น 5 แห่ง จากเจ้าของผู้ครอบครองที่เป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น หรือการที่รัฐบาลจีนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการออกมาประณามความเคลื่อนไหวเช่นนี้แทบจะทันทีทันควัน โดยที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีน ออกมาแถลงอย่างหนักแน่นว่า “ไม่มีการอ่อนข้อใดๆ อย่างเด็ดขาด” ในประเด็นปัญหาว่าด้วยอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้ [1]
สิ่งที่บอกเล่าสถานการณ์ได้มากกว่านั้นอีกก็คือ เวลานี้รัฐบาลจีนกำลังหนุนหลังคำแถลงอันดุดันเหล่านี้ด้วยแสนยานุภาพทางทหาร กระทรวงกลาโหมจีนประกาศว่า “สงวนสิทธิที่จะใช้มาตรการต่างๆ ตามความจำเป็น” [2] เพื่อธำรงรักษาอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ จีนยังจัดส่งเรือ “ตรวจการณ์มหาสมุทร” (ocean surveillance) จำนวน 6 ลำไปยังน่านน้ำพิพาท ด้วยวัตถุประสงค์ในการ “บังคับใช้กฎหมาย” ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนในกรุงโตเกียวมาพบ และประณามการเคลื่อนกองกำลังกึ่งทหารทางเรือเช่นนี้ของแดนมังกรว่า เป็นการกระทำ “อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย” ในกรณีบาดหมางเก่าแก่ที่ดำเนินมานานหลายสิบปีแล้วนี้
อี๋ว์ จือหรง (Yu Zhirong) เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานบริหารกิจการมหาสมุทรแห่งรัฐ (State Oceanic Administration) ของจีน ได้เพิ่มความเขม็งเกลียวมากขึ้นจากการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขากล่าวว่า “เราจะต้องขับไล่พวกเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งของญี่ปุ่น (Japan Coast Guard) ให้ออกไปจากน่านน้ำที่เป็นเขตแดนของจีน เราไม่กลัวหรอกที่ต้องเสี่ยงว่าอาจจะเกิดการสู้รบระดับเล็กๆ ขึ้นมา” [3] แต่ขณะที่คณะผู้นำในประเทศทั้งสองอาจจะไม่หวาดกลัวการประจันหน้ากันระดับเล็กๆ น้อยๆ แบบพอให้เป็นสัญลักษณ์ แต่แรงกระเพื่อมแรงสะท้อนจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะแผ่กว้างออกไปให้เป็นที่รู้สึกกันทั่วโลกทีเดียว ไม่มีใครสามารถรับประกันได้หรอกว่า การสู้รบใดๆ ในทะเลจีนตะวันออกจะสามารถจำกัดให้อยู่เพียงแค่ “ระดับเล็กๆ” เอาไว้ได้ ความผูกพันอย่างใกล้ชิดทางด้านความมั่นคงที่ญี่ปุ่นมีอยู่กับสหรัฐฯ น่าที่จะดึงลากเอาอเมริกาเข้ามาในการปะทะใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นมา
สหรัฐฯนั้นกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกนี้อย่างใกล้ชิด แกรี ล็อก (Gary Locke) เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำจีนกล่าวย้ำเมื่อไม่นานมานี้ว่า อเมริกามีท่าทีเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีพิพาทต่างๆ ที่กำลังปะทุขึ้น ระหว่างที่พูดอ้างอิงพาดพิงถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับพวกประเทศเพื่อนบ้าน ล็อกระบุว่า “เราไม่มีความเห็นใดๆ โดยสิ้นเชิงในเรื่องที่ว่าใครเป็นฝ่ายถูก และเราก็เชื่อด้วยว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ไขคลี่คลายการพิพาทกันนี้” [4]
ปรากฏว่าการแสดงทัศนะเช่นนี้ได้ถูกตีความในสื่อมวลชนจีน ว่าแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในนโยบายของสหรัฐฯ เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ รัฐบาลจีนยืนกรานว่าการแก้ไขข้อพิพาททางดินแดนต่างๆ หลายหลากที่แดนมังกรมีอยู่กับพวกประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะต้องกระทำผ่านกลไกทวิภาคี โดยที่ทราบอยู่เต็มอกว่า จีนย่อมมีความได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อเป็นการแก้ไขคลี่คลายความบาดหมางกันในลักษณะพูดจากันหนึ่งต่อหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง วอชิงตันได้ออกมาส่งเสียงแสดงความสนับสนุนให้ใช้กลไกพหุภาคีในการแก้ไขคลี่คลายปัญหา โดยที่ในกลไกซึ่งมีหลายๆ ชาติหลายๆ ฝ่ายเข้าร่วมเช่นนี้ ความได้เปรียบของจีนย่อมจะลดน้อยเจือจางลงอย่างสำคัญทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นไปโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามที การที่เอกอัครราชทูตล็อกออกมาเรียกร้องให้ “ทั้งสองฝ่าย” หาทางทำความตกลงกันเพื่อคลี่คลายข้อพิพาททางดินแดนที่มีกันอยู่ ก็ได้ถูกจดลงบัญชีเอาไว้ในประเทศจีนว่าเป็นชัยชนะทางการทูตของแดนมังกร
ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหม เลียน เพเนตตา ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างตระเวนเยือนหลายชาติในเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้กล่าวแสดงทัศนะเกี่ยวกับการพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลที่กำลังบังเกิดขึ้นทั้งในเขตทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้โดยองค์รวม โดยเขาพูดในขณะที่อยู่ในกรุงโตเกียวว่า “ผมมีความเป็นห่วงว่าจากการที่ประเทศเหล่านี้เข้าเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการยั่วยุต่างๆ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ในเรื่องหมู่เกาะต่างๆ นานาเหล่านี้ มันก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเกิดการวินิจฉัยอย่างผิดพลาด กระทั่งส่งผลให้กลายเป็นความรุนแรงขึ้นมา แล้วส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นการสู้รบ จากนั้นการสู้รบดังกล่าวก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวบานปลายออกไป” [5]
โอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกัน และการสู้รบก็ “ขยายตัวบานปลายออกไป” คือสิ่งที่สหรัฐฯกำลังรู้สึกวิตกกังวลอย่างแท้จริง เวลานี้ทรัพยากรทางทหารและทางความมั่นคงต่างๆ ของอเมริกากำลังถูกกระจายนำไปใช้ในหลายๆ จุดหลายๆ แห่ง จนกระทั่งกลายเป็นภาระหนักเต็มไม้เต็มมือแล้ว มิหนำซ้ำสหรัฐฯยังกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ลุกลามหนักในตะวันออกกลางเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่สร้างโดยฝีมือโปรดิวเตอร์มือสมัครเล่นอเมริกันซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านดูหมิ่นอิสลาม ทั้งนี้เรายังไม่ต้องเอ่ยถึงสงครามที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในอัฟกานิสถาน หรือการปฏิบัติการทางทหารในโซมาเลีย, เยเมน, และปากีสถาน พวกที่มีแนวคิดสายเหยี่ยวจำนวนหนึ่งภายในคณะผู้นำจีนอาจจะต้องการใช้การเผชิญหน้าในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อทดสอบว่าอเมริกาจะกระทำตามพันธกรณีทางด้านความมั่นคงที่มีอยู่กับญี่ปุ่นอย่างหนักแน่นจริงจังแค่ไหน ตลอดจนมีความยึดมั่นกับยุทธศาสตร์แห่งการหวนกลับมาเน้นความสำคัญต่อเอเชียโดยรวมมากน้อยเพียงใด
เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง
The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)