xs
xsm
sm
md
lg

สื่อทางการจีนขู่ “กระแสต้านญี่ปุ่น” จะบีบ ศก.ยุ่นถดถอยไป 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – สื่อทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยแพร่บทวิเคราะห์หลังเกิดความขัดแย้งกรณี “เกาะเตี้ยวอี๋ว์” ยืนยันรัฐบาลจีนยังไม่อยากใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น แม้กระแสต่อต้านจากประชาชนจะรุนแรงมาก ขู่รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นเตรียมตัวให้พร้อมกับสภาวะ ศก.ถดถอยอีก 20 ปีได้เลยหากไม่รามือ

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.ย. หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน หรือ เหรินหมินรื่อเป้า (ฉบับเผยแพร่ในต่างประเทศ) สื่อทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงกระแสการต่อต้านญี่ปุ่นในหมู่พลเมืองชาวจีนทั่วประเทศ หลังเกิดกรณีชิงความเป็นเจ้าของเกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก โดยการประท้วงและความรุนแรงเกิดขึ้นหลังรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อเกาะเตี้ยวอี๋ว์ หรือเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น จากเจ้าของเกาะที่อาศัยอยู่ชาวญี่ปุ่น โดยจีนตอบโต้ว่าการกระทำดังกล่าวถือว่าละเมิดอธิปไตยของจีน

บทวิเคราะห์ดังกล่าวเขียนโดยนายหัว อี้เหวิน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ เผยแพร่ใน นสพ.ประชาชนรายวันระบุหัวข้อว่า “การจุดกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในจีน จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถอยหลังอีก 20 ปี”

“ถึงปัจจุบันยังไม่เห็นทางรัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้ญี่ปุ่น แต่เหตุการณ์การสร้างเรื่องซื้อเกาะเตี้ยวอี๋ว์ของรัฐบาลญี่ปุ่นจากเอกชน ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อกิจกรรมทางการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอย่างแน่นอน โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นสิ่งแรกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนสินค้าญี่ปุ่นที่กำลังประชาสัมพันธ์และทำการตลาดอยู่ในจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” นสพ.ประชาชนรายวันระบุ และว่า น่ากังวลว่าเหตุการณ์ต่อต้านญี่ปุ่นโดยประชาชนและภาคเอกชนจีนจะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้างและเชิงลึกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

วันที่ 17 ก.ย. เว็บไซต์ของ นสพ.โยมิอุริ รายงานโดยอ้างอิงตัวเลขจากบริษัทนำเที่ยวชั้นนำของญี่ปุ่นว่า แม้ตัวเลขการยกเลิกการจองการท่องเที่ยวจากคนจีนจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่การจองใหม่กลับมีเข้ามาน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลีของจีนระบุตัวเลขว่า ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในช่วงวันชาติจีนต้นเดือนตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้ นักท่องเที่ยวจีนจะไปเที่ยวญี่ปุ่นลดลงราวร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีอิทธิพลกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาจากมุมมองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 ของศตวรรษที่แล้ว ญี่ปุ่นประสบกับ ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’ (หมายถึง วิกฤตเศรษฐกิจทางโครงสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เรื้อรังมาตั้งแต่เหตุการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 - ผู้แปล) ถึงสองครั้ง ด้วยพื้นเพของเศรษฐกิจโลกที่ในภาพใหญ่กำลังประสบกับภาวะวิกฤตการเงิน ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาการส่งออกต้องอยู่สภาวะถดถอยต่อไป ประกอบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ สึนามิ และการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปีที่แล้วยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่เรื้อรังดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงมีโอกาสสูงที่ประสบกับ ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’ ที่ยากลำบากอีกครั้ง” บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ

นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า แม้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของชาวญี่ปุ่นจะสูงกว่าชาวจีน แต่แรงขับเคลื่อนทางการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงพอ ส่งผลให้การผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นคืนและพัฒนาไปอีกขั้นนั้นเป็นเรื่องที่ยากเทียมฟ้า ทั้งนี้นับตั้งแต่ขึ้นศตวรรษใหม่เป็นต้นมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถทรงตัวอยู่ได้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะการเพิ่มขึ้นของการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาเดียวกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงตลาดของประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังยืนยันว่า จีนเองไม่มีความประสงค์จะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้กับญี่ปุ่น เพราะทราบดีกว่าการตอบโต้ทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ แต่ถ้าหากเลือกไม่ได้ทางการจีนก็คงต้องดำเนินการทางการทหารเพื่อยึดเกาะคืน และย่อมส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ยังกล่าวทิ้งท้ายเป็นคำถามเชิงข่มขู่ไปยังรัฐบาลและนักธุรกิจญี่ปุ่นด้วยว่า

“ญี่ปุ่นยินยอมที่จะให้เกิด ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’ อีกครั้งหรือ และเตรียมพร้อมแล้วหรือยังสำหรับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปต่อเนื่องยาวนานอีก 20 ปี?”

ภาพอันเงียบเหงาของซุ้มการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในนิทรรศการที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง ก่อนเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นทั่วประเทศ (แฟ้มภาพโดยไชน่า เดลี)
กำลังโหลดความคิดเห็น