xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่ง’ไม่ห่วงกรณีพิพาทกับญี่ปุ่นจะบานปลาย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิลลี ลัม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Beijing steers clear of skirmishes
By Willy Lam
10/09/2012

เห็นทีจะกล่าวโทษปักกิ่งไม่ถนัดนัก ในการแสดงตัวตอบโต้อย่างมั่นอกมั่นใจ ไม่ว่าต่อเสียงเรียกร้องในประเทศจีนเองที่ให้ใช้กำลังอาวุธในการแก้ปัญหาอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเล็กๆ ที่พิพาทอยู่กับญี่ปุ่นมาเป็นเวลา 40 ปี หรือต่อท่าทีพร้อมสู้รบต่อยตีอย่างผิดธรรมดาของฝ่ายโตเกียว ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากเมื่อถึงที่สุดแล้วปักกิ่งยังคงสามารถพึ่งพาอาศัยแผนอุบายแบบใช้ “รางวัลและการลงโทษ” มาชักจูงหว่านล้อมโตเกียวให้หักห้ามสะกดอารมณ์ความรู้สึกมิให้เลยเถิด

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดที่ล่วงลับไปแล้วของจีน เคยพูดพรรณนาถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯเอาไว้ว่า “สายสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯนี้มีข้อจำกัด ทั้งในข้างที่ว่ามันจะดีไปได้มากมายแค่ไหน และทั้งในข้างที่ว่ามันจะเลวร้ายไปได้เพียงใด” คำพูดอันมีชื่อเสียงของเติ้งดังกล่าวนี้ สามารถที่จะนำมาใช้บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วยได้หรือไม่?

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งทรงอำนาจที่สุดในเอเชีย 2 ประเทศนี้ ทำท่าเหมือนกับกำลังปักหัวควงสว่านดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา แต่จากกรณีการทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับการอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (ในญี่ปุ่นรู้จักกันในชื่อว่า เซงกากุ) หมู่เกาะเล็กๆ กลางทะเลใกล้ๆ กับเกาะไต้หวัน, แผ่นดินใหญ่จีน, และเกาะโอกินาวา ของญี่ปุ่น ซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบัดนี้ ก็สาธิตให้เห็นว่า ทางคณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความปรารถนาอยู่มากมายทีเดียว ที่จะประคับประคองการวิวาทนี้ให้อยู่ภายในปริมณฑลที่ยังสามารถจัดการได้ สภาพการณ์เช่นนี้ปรากฏออกมาถึงแม้มีข้อเท็จจริงว่า พวกนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นตามสื่อมวลชนระดับชื่อดังๆ ของจีนหลายต่อหลายคน ผู้ซึ่งชอบแสดงทัศนะที่ว่าคนจีนกำลังตกเป็นเหยื่อของ “จักรวรรดินิยมแผนใหม่ของญี่ปุ่น” (Japanese neo-imperialism) ได้ออกมาข่มขู่คุกคามที่จะหันไปใช้กำลังอาวุธ มาจัดการคลี่คลายกรณีพิพาทที่ยืดเยื้อกันมาได้ 40 ปีแล้วนี้

ความเขม็งเกลียวระลอกล่าสุดระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งจุดชนวนขึ้นจากการที่ “ผู้รักชาติ” จากฮ่องกงจำนวนหนึ่ง ได้แล่นเรือไปขึ้นบกที่หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ –เซงกากุ ในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำท่าว่าจะมีความดุเดือดรุนแรงเป็นพิเศษทีเดียว ในระยะเวลาสองสามสัปดาห์มานี้ มีนักชาตินิยมชาวจีนรวมจำนวนแล้วนับเป็นหมื่นๆ คน พากันออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเดินขบวนตามเมืองใหญ่น้อยต่างๆ หลายสิบเมืองทั่วประเทศ จนกระทั่งชวนให้ระลึกย้อนไปถึงกระแสการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นอันน่าหวาดหวั่นในปี 2005 ทีเดียว ยิ่งในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังเกิดกรณีผู้ประท้วงคนหนึ่งในกรุงปักกิ่งได้เข้าไปฉีกกระชากธงชาติญี่ปุ่นซึ่งประดับอยู่บนเสาด้านหน้ารถยนต์ของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำจีนอีกด้วย

สื่อมวลชนของทางการจีนต่างอัดแน่นไปด้วยปากเสียงของพวกที่มีแนวคิดแข็งกร้าว ถ้าหากไม่ถึงขั้นเป็นปากเสียงของพวกกระหายสงคราม พล.ต.เผิง กวางเฉียน (Peng Guangqian) เสนอแนะให้ปักกิ่งจัดส่งบุคลากรไปที่หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ เพื่อทำการทดลองวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม “ถ้าหากญี่ปุ่นกล้าส่งทหารของพวกเขาออกมา (เพื่อสกัดกั้นนักวิจัยชาวจีน) เราก็จะต้องตอบโต้ด้วยขีปนาวุธ” พล.ต.เผิง เขียนแสดงทัศนะอันดุดันของเขา ส่วนทางด้าน เฉิน เซียนขุย (Chen Xiankui) ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) ขยับไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเสนอแนะให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนดำเนินการ “ฝึกซ้อมทางทหารเป็นประจำในบริเวณใกล้ๆ หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์” โดยเขาบอกว่านั่นเป็นวิธีการที่ดีกว่า ในการสาธิตให้เห็นถึงขอบเขตแห่งอำนาจอธิปไตยของจีน

ในทำนองเดียวกัน พล.ต.โหลว หยวน (Luo Yuan) นักวิจารณ์แสดงความเห็นตามสื่อซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ก็แนะนำให้ใช้หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็น “สนามทดลองอาวุธของกองทัพเรือและกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน” ไปเสียเลย ถ้าหากญี่ปุ่นขืนกล้าเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในบริเวณใกล้ๆ หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ สำหรับทาง โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือของเหมินหมินรึเป้า ซึ่งแสดงตนเป็นพวกสายเหยี่ยวอยู่เสมอนั้น ถึงขนาดตีพิมพ์บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้รับการเผยแพร่ต่อๆ กันไปจนกระจายไปทั่วทุกหนแห่งอย่างรวดเร็ว บทวิจารณ์ชิ้นนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า “ถ้าสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นระเบิดขึ้นมา มันก็จะเป็นสงครามที่ชำระชะล้างความรู้สึกอัปยศที่จีนได้รับมาในช่วงศตวรรษที่แล้ว”

ทางด้านคณะรัฐบาลญี่ปุ่นก็ทำท่าเหมือนกับกำลังแสดงสัญญาณของความพร้อมที่จะสู้รบต่อยตีอย่างผิดธรรมดาอยู่เหมือนกัน ขณะที่โตเกียวยังคงยึดมั่นแน่นเหนียวกับนโยบายที่ใช้กันมานมนานของตนในการไม่อนุญาตให้สมาชิกขององค์กรฝ่ายขวาใดๆ ขึ้นบกในเขตหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ แต่คณะรัฐบาลที่มีพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan ใช้อักษรย่อว่า DPJ) เป็นแกนนำ ของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ก็ยังคงเดินหน้ากระทำตามแผนการที่จะทำให้ดินแดนที่พิพาทกันอยู่นี้ กลายเป็น “ประเด็นปัญหาระดับชาติ” ขึ้นมา ด้วยการเข้าซื้อหมู่เกาะนี้จากผู้มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่เป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น นอกจากนั้นถึงแม้ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าหนี้สินภาคสาธารณะของญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระดับสูงลิบลิ่ว คิดเป็นประมาณสองเท่าตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว แต่รัฐบาลโนดะก็ยังคงเฉียดงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่การจัดซื้อจัดจ้างในด้านกำลังแสนยานุภาพทางนาวี พวกนักวิจารณ์ตามสื่อของจีนส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่า ความแข็งกร้าวดุดันผิดปกติของโตเกียวเช่นนี้มีสาเหตุมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า คณะรัฐบาลที่นำโดยพรรค ดีพีเจ กำลังพยายามช่วงชิงคะแนนเสียงคืนจากพวกพรรคฝ่ายขวา ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า ซึ่งคาดหมายกันว่าน่าจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

กระนั้นก็ตามที มันก็เป็นที่กระจ่างชัดเจนด้วยเช่นกันว่า ถึงแม้ความเขม็งเกลียวระหว่างประเทศทั้งสองกำลังขยายตัวเพิ่มระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีการบันยะบันยัง แต่ปักกิ่ง (รวมทั้งโตเกียวก็น่าจะมีท่าทีที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก) ยังคงมีความคิดเห็นว่า วิธีที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนได้ดีที่สุดนั้น อยู่ที่การประคับประคองไม่ให้การทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ ขยายตัวกลายเป็นการปะทะกันทางนาวีขนาดย่อมๆ ทั้งนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการปล่อยให้มันบานปลายกระทั่งเป็นการสู้รบทางทหารแบบเต็มขั้น ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองประเทศต่างดูเหมือนยังคงมีความปรารถนาที่จะสกัดยับยั้งอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยม ไม่ให้ลามปามจนสร้างความเสียหายแก่สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย

ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรนักที่จะมองหาสัญญาณซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่า คณะผู้บริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังคงพยายามใช้ความรอบคอบระมัดระวังกับประเด็นปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุ นี้ ตัวอย่างเช่น ปักกิ่งไม่ยอมอนุญาตให้พวกองค์กรนอกภาครัฐบาลที่เป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ กระทำการเลียนแบบองค์กรนอกภาครัฐบาลในฮ่องกง ในการจัดหาจัดจ้างเรือเพื่อแล่นไปยังหมู่เกาะแห่งนี้ ข้อเท็จจริงที่ดูจะสำคัญยิ่งกว่านี้อีกก็คือการที่ในปีนี้คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงความยับยั้งชั่งใจเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับครั้งปี 2005 ตอนที่เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านการที่นายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ของญี่ปุ่นในเวลานั้น เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) ซึ่งถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเห็นพ้องกับการก่อสงครามรุกรานของญี่ปุ่นในอดีต ตลอดจนการที่หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นมีเนื้อหาที่เป็นการบิดเบือนแก้ต่างให้แก่อาชญากรรมสงครามของแดนอาทิตย์อุทัย

ทันทีที่การชุมนุมระลอกแรกปะทุขึ้นมาในวันที่ 19 สิงหาคมปีนี้ ทบวงโฆษณา (Propaganda Department) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ออกคำสั่งไม่ให้สื่อมวลชนทั้งปวงไม่ว่าจะอยู่ในรูปสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ “ให้ความสำคัญจนเกินไป” กับการประท้วงเช่นนี้ เสียงเรียกร้องชักชวนของพวกนักปลุกระดมรายบุคคลที่ให้ร่วมมือกันคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น ไม่ได้รับการเผยแพร่ต่อเอาเลย เรื่องอย่างนี้บังเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่ามีหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นฉบับหนึ่ง ซึ่งคือ อู่ฮั่น มอร์นิ่ง โพสต์ (Wuhan Morning Post) จัดทำรายชื่อพวกบริษัทญี่ปุ่นชื่อดังๆ เป็นต้นว่า บริษัทมิตซูบิชิ, บริษัทคาจิมะ ที่ถูกระบุว่าคอยให้เงินทุนตลอดจนความช่วยเหลือในรูปอื่นๆ เพื่อสนับสนุนบรรดาองค์กร “ฝ่ายขวา” ในญี่ปุ่น บรรยากาศเช่นนี้ช่างตรงกันข้ามกับการรณรงค์เรียกร้องผ่านทางออนไลน์ในปี 2005 เพื่อขอให้สาธารณชนยุติการซื้อผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏว่าสามารถรวบรวมลายเซ็นของผู้ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมต่อต้านด้วยได้ถึงประมาณ 2 ล้านชื่อ ก่อนที่จะถูกพวกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจขัดขวางและยกเลิกการรณรงค์ไป

ยิ่งไปกว่านั้น เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ ปักกิ่งดูเหมือนจะใช้ท่าทีหลีกเว้นการใช้อาวุธทางเศรษฐกิจเพื่อลงโทษญี่ปุ่น ระหว่างที่เกิดวิกฤตหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์-เซงกากุระลอกก่อนเมื่อปลายปี 2010 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่กองกำลังรักษาชายฝั่งของญี่ปุ่นจับกุมไต้กงเรือประมงจีนลำหนึ่งที่บริเวณใกล้ๆ หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้นั้น ปักกิ่งยังใช้มาตรการตัดลดการส่งออกสินแร่โลหะหายาก “แรร์ เอิร์ธ”( rare earth) แก่ญี่ปุ่น ตลอดจนจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางไปยังแดนอาทิตย์อุทัย แต่สำหรับในครั้งนี้ ยังไม่ปรากฏหลักฐานของ “การนำเอาเรื่องเศรษฐกิจมาผสมปนเปกับเรื่องการทูต” และเมื่อพิจารณาจากท่าทีอดกลั้นอดทนจนถึงบัดนี้ของฝ่ายปักกิ่ง เหตุการณ์ระลอกล่าสุดนี้น่าที่จะไม่ทำให้บังเกิดผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันกับปี 2010 ขึ้นมา

ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์สมทบในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น