xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นจะประกาศให้เงินกู้พม่า $615 ล้าน ส่งเสริมการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น ระหว่างแถลงข่าว ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 16 พ.ย. สื่อของญี่ปุ่นรายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดสรรเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำระยะยาวให้กับพม่าจำนวน 615 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนของบริษัทจากญี่ปุ่น โดยการประกาศคาดว่าจะมีขึ้นหลังการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและพม่านอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันนี้ (19). --  AFP PHOTO/Toru Yamanaka. </font></b>

เอเอฟพี - รายงานวานนี้ (18 พ.ย.) ระบุว่า ญี่ปุ่นจะจัดสรรเงินกู้ให้แก่พม่าจำนวน 615 ล้านดอลลาร์ ในความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าจากพม่าเพียงไม่กี่วัน

พม่าที่สิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษเมื่อปีก่อน และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชาติต่างๆ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวาง และช่วงชิงที่จะเข้าไปยังตลาดที่สร้างกำไรแห่งนี้

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น จะประกาศการจัดสรรเงินกู้ยืมจำนวนดังกล่าวเมื่อเข้าหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในกัมพูชา วันนี้ (19 พ.ย.) ตามการระบุของหนังสือพิมพ์นิคเคอิ ของญี่ปุ่น

นับเป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำระยะยาวครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจัดสรรให้แก่พม่าในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ที่จะช่วยสนับสนุนบริษัทของญี่ปุ่นที่เข้าไปดำเนินกิจการในพม่า และถ่วงดุลอำนาจของจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลในพม่า

หนังสือพิมพ์นิคเคอิรายงานว่า ญี่ปุ่นจะจัดมอบเงินกู้ยืมดังกล่าวให้ในปีงบประมาณหน้าที่จะเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. 2556 ขณะที่ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ต่างๆ คาดว่าจะประกาศยกเลิกหนี้ค้างชำระของพม่าในเดือน ม.ค.

เงินกู้ยืมจำนวน 50,000 ล้านเยน จะนำไปใช้ใน 3 โครงการ ที่รวมทั้งโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานของเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา (Thilawa) ที่ญี่ปุ่นเข้าลงทุนพัฒนาชานนครย่างกุ้ง โดยมีบริษัทมิตซูบิชิ บริษัทซูมิโตโม และบริษัทมารุเบนิ ถือหุ้นส่วนใหญ่

ส่วนอีก 2 โครงการ คือ งานซ่อมแซมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใกล้นครย่างกุ้ง และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 14 เขต เพื่อลดปัญหาความยากจน

ญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาการส่งออกกำลังมองหาการส่งเสริมการเติบโตในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากร และกำลังถูกปกคลุมด้วยอิทธิพลของจีน

ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายต่างไปจากชาติตะวันตกอื่นๆ โดยยังคงความสัมพันธ์ทางการค้า และการหารือกับพม่า และได้กล่าวเตือนว่า ความแข็งกร้าวต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอาจผลักดันให้พม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำระยะยาวลักษณะคล้ายกันนี้ให้แก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้ง เวียดนาม และอินเดีย ในเป้าหมายที่หวังจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเห็นชอบที่จะยกหนี้ จำนวน 300,000 ล้านเยน จากทั้งหมด 500,000 ล้านเยน ให้แก่พม่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น