ทัวร์ทวายแบบไปเช้าเย็นกลับ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา แทนที่จะทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทวาย ได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น จากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ กลับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า โครงการนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมากว่า จะเดินหน้าไปได้ตามแผนการหรือไม่
ข้อสรุปอย่างกว้างๆ ของ นางสาวยิง่ลักษณ์ ที่ว่า “ โครงการนี้มีความคืบหน้าในเรื่องของแผนงานคร่าวๆ และลำดับถัดไปทางเมียนมาร์คงจะไปสรุปในเรื่องรายละเอียดและความชัดเจนในเรื่องการจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าจะมีข้อเสนออย่างไรเพื่อเชิญชวนนักลงทุน และรวมถึงสรุปภาพรวมและแผนการลงทุนทั้งหมด เชื่อว่าคงจะมีความคืบหน้าในเดือนก.พ.และคาดว่าเดือนเม.ย.ปี56คงจะเห็นความชัดเจนที่จะพร้อมในการเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย” นั้น แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดอย่างจังเกี่ยวกับโครงการนี้ ของคนที่เขียนสคริปต์ให้เธอท่อง
เพราะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และท่าเรือน้ำลึกทวายนี้ รัฐบาลพม่าในยุคนายพลตานฉ่วย ได้มอบสัมปทานให้บริษัทอิตาเลียน ไทย ดีเวลลอปเมนท์ หรือไอทีดี เป็นผู้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อปลายปี 2553 การจัดการใดเป็นเรื่องของไอทีดี ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลพม่าแต่อย่างใด
คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี นอกจากจะสะท้อนถึงความไม่รู้ อันเป็นปกติวิสัยของเธอแล้ว ยังแสดงว่า การขนรัฐมนตรีหลายๆคน รวมทั้งภาคเอกชนอีกโขยงใหญ่ ไปเยี่ยมชมพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพบกับประธานาธิบดี เต็งเส่งในครั้งนี้ เป็นเพียงการไปโรดโชว์ธรรมดๆ สำหรับนักลงทุนไทยเท่านั้น
เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในการไปเยือนครั้งนี้ กลับเป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งได้เปิดเผยถึงผลการหารือระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ และพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าว่า ทางการเมียนมาร์เสนอขอปรับลดพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเหลือประมาณ 150 ตร.กม. จากเดิมที่ได้ลงนามในกรอบข้อตกลงบริหารโครงการทวายฯ กับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ ไว้ที่ 204.5 ตร.กม. แต่ทางการไทยยังไม่ตอบรับข้อเสอนนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ การปรับลดพื้นที่ดังกล่าว จะกระทบต่อเนื้อที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมทวายส่งผลต่อความเป็นไปได้ของโครงการที่จะลดลง ดังนั้นจำเป็นต้องรอศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน
เรืองสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีพม่าพูดชัดเจนว่าจะเชิญนักลงทุนประเทศที่ 3 มาร่วมลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เรื่องการลงทุน เนื่องจากญี่ปุ่นมีแหล่งเงินกู้ระยะยาว สามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือ และถนนได้ดี
ทั้งเรื่องการขอลดพื้นที่ และการดึงให้ญี่ปุ่นมาร่วมลงทุน เป็นการส่งสัญญาณว่า ทางการพม่า เริ่มมีความเห็นและท่าทีต่อโครงการทวายเป็นครั้งแรกแล้ว หลังจากที่ปล่อยให้ ไอทีดี ในฐานะผู้รับสัมปทาน ไปดำเนินการ แต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
ท่าทีของพม่าในครั้งนี้ สามารถุตีความได้สองทาง หนึงคือ ทางการพม่า ต้องการเร่งรัดให้โครงการนี่มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเสนอให้ลดขนาด และรับปากว่า จะช่วยหานักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน สองคือ ทงางการพม่า ไม่สนใจว่า โครงการนี้จะเป็นตายอย่างไร เพราะให้สัมปทานกับไอทีดี ไปแล้ว แม้แต่รัฐบาลไทยยังปฏิเสธ ไม่ยอมให้การสนับสุน เรื่องอะไรพม่าต้องไปช่วยไอทีดี ความช่วยเหลือที่ให้ได้มากที่สุดคือ จะแนะนำนักลงทุนญี่ปุ่นให้
โครงการทวายในวันนี้ กับเมื่อสามสี่ปีก่อน มีสถานะที่แตกต่างกันโดนสิ้นเชิง การทำเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนการได้รับสัปทานบริหารโครงการทวายของ ไอทีดี เกิดขึ่นในยุคที่พม่ายังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเต็มตัว ถูกบอยคอตทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ อียู และประเทศอื่นๆ รวมทั้งญี่ป่น แต่หลังจากนั้น ไม่นาน การเปลี่ยนแปลงในพม่าก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อปลายปี 2553 มีประธานาธิบดี ที่มาจากรัฐสภาคือ นายเต็ง เส่ง ถึงแม้จะรู้กันว่า กองทัพยังมีบทบาทในทางการเมืองอยู่อย่างมาก แต่ก็เป็นสัญญาของ การปฏิรูปทางการเมือง มาจนถึงการที่นางออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ และลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อต้นปีนี้ ทำให้โลกตะวันตก ยอมผ่อนคลาย และยกเลิกมาตรการบอยคอต ทำให้พม่าซึ่งปิดประเทศมานานถึง 50 ปี กลายเป็นประเทศเกิดใหม่ ที่เนื้อหอมที่สุดในสายตานักลงทุนทั่วโลก
โครงการทวาย เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว กับโครงการทวายในวันนี้ จึงมีความสำคัญต่อพม่า และนักลงทุนชาติอื่นๆ น้อยลงไปมาก วันนี้ พม่ามีทางเลือกมากมายที่ดีกว่า ข้อเสนอของไทย ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกหนี้มูลค่า 3 แสนล้านเยน ให้พม่า และจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พม่า เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
สิ่งที่ญี่ปุ่นได้รับตอบแทนกลับไปคือ พม่าให้สิทธิญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนา และบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ ติละวา” ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งเพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น โดยตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดำเนินโครงการ มีฝ่ายพม่าถิอหุ้นใหญ่ 51 % ฝ่ายญี่ปุ่นถือหุ้นโดยเอกชนคือ บริษัทมิตซูบิชิ มารูเบนี และสุมิโตโม
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว พม่ายังร่วมทุนกับบริษัทเอกชนเกาหลี สร้างเมืองใหม่รอบๆท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติละวาด้วย
การที่ทั้งรัฐบาลพม่า และนักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี มีทางเลือกใหม่ๆให้เลือก หลังจากพม่าเปิดรับการลงทุนจากทั่วโลก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการท่าเรือ น้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย ของไอทีดี หมดความสำคัญลงไปอย่างมาก เพราะมีเพียงประเทศไทยที่จะได้รับประโยชน์มากทีสุดจากโครงการนี้ และสาเหตุนี้เองที่อาจจะทำให้ โครงการนี้ อยู่ในสภาวะลูกผีลูกคน