xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-ญี่ปุ่น พร้อมสร้างเขตอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ปี 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> นายโนบุฮิโกะ ซาซากิ (ขวา) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการค้า แลกเปลี่ยนเอกสารข้อตกลงที่ลงนาม กับนายเซ็ต อ่อง (ซ้าย) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ซึ่งนายซาซากิ และนายเซ็ต อ่อง ได้เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ระหว่างพม่าและญี่ปุ่น. --  AFP PHOTO / Soe Than Win. </font></b>

เอเอฟพี - พม่า และญี่ปุ่น เห็นชอบที่จะเริ่มดำเนินงานโครงการเขตอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ใกล้กับนครย่างกุ้ง ในปี 2556 เจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศระบุเมื่อวันศุกร์ (21 ธ.ค.)

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ระบุว่า โครงการติลาวา (Thilawa) ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 15,000 ไร่ จะรวมทั้งท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม มีกำหนดเริ่มใช้งานในปี 2558

“โครงการนี้ไม่ใช่งานง่าย แต่เราจะไม่ให้เกิดความผิดพลาด ทั้งสองประเทศต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการจัดตั้งการร่วมทุนในปี 2556 และเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2558” นายโนบุฮิโกะ ซาซากิ รัฐมนตรีช่วยกระทรวง METI กล่าว หลังลงนามข้อตกลงความเข้าใจในนครย่างกุ้ง

อดีตรัฐบาลทหารพม่า ต้องการการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโต และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรม ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกก็ต้องการโอกาสในประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากร เพื่อฟื้นฟูการเติบโตภายในประเทศที่ซบเซา

โตเกียวได้ตัดหนี้จำนวนมากที่พม่าติดค้างอยู่ และสื่อของญี่ปุ่นระบุเมื่อเดือนก่อนว่า รัฐบาลจะจัดสรรเงินกู้ยืมก้อนใหม่ จำนวน 615 ล้านดอลลาร์ ให้แก่พม่า ซึ่งส่วนหนึ่งของทุนมีไว้สำหรับใช้ในโครงการติลาวา แม้ว่ามูลค่าลงทุนทั้งหมดจะยังไม่เปิดเผยก็ตาม

เซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของพม่า กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจแห่งนี้จะช่วยให้พม่าก้าวกระโดดเข้าใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวย

“โอกาสในการจ้างงานจะมีเป็นจำนวนมหาศาล” เซ็ต อ่อง กล่าวและว่า ญี่ปุ่นให้คำมั่นที่จะอัดฉีดเงินทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำมาใช้ในโครงการเพื่อให้บรรลุผล

ความคืบหน้าของโครงการติลาวา มีขึ้นหลังจากพม่าพยายามที่จะเริ่มการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในเมืองทวาย ทางชายฝั่งภาคใต้ของประเทศ ซึ่งยังคงชะงักงันอยู่ และรัฐบาลพม่าหวังที่จะให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุน

หนังสือพิมพ์นิคเคอิ ระบุเมื่อเดือนก่อนว่า โครงการติลาวาจะดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทหุ้นส่วนของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วย บริษัทมิตซูบิชิ ซูมิโตโม และบริษัทมารุเบนิ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวง METI ในกรุงโตเกียว กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุว่า โครงการติลาวาเป็นโครงการที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอันดับแรก แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนในโครงการทวายหรือไม่อย่างไร

“เราตระหนักดีว่าโครงการทวายนั้นมีความสำคัญ และค่อนข้างสำคัญต่อญี่ปุ่น แต่เกรงว่าจะต้องใช้เวลามากสำหรับญี่ปุ่นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนั้น” เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น