xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อพม่าเปลี่ยนแปลง โครงการทวายก็เปลี่ยนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการท่าเรือน้ำลึก ทวาย และนิคมอุตสาหกรรมทวาย ถูกพูดถึงบ่อยๆในระยะสองสามปีนี้ ว่า จะเป็นโครงการที่พลิกโฉมหน้าประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง หรือโลจิสติกส์ฮับ ที่สำคัญของเอเชีย และของโลก เพราะโครงการนี้ เป็น 1 ใน 3 โครงการระเบียงเศรษฐกิจ หรือพื้นที่เปิดทางเศรษฐกิจ โดยเป็นระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ จากนครโฮจิมินห์ ของเวียดนาม มายังเมืองทะวาย เป็นประตูเชื่อมโลกตะวันออก กับโลกตะวันตก โดย ท่าเรือน้ำลึกทวาย จะเชื่อมโยงการขนส่งจากโลกตะวันตก ผ่านมหาสมุทรอินเดีย มายังท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านเข้าสู่โลกตะวันออกทาง ย่นระยะเวลาการเดินทางที่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกาลงได้ 5-6 วัน ลดต้นทุนการขนส่งลงได้ถึง 30 %

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ลงนามในเอ็มโอยู ข้อตกลงร่วมมือในการพัฒนาโครงการนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่งเรียกกันว่า เอ็มโอยู 51 รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมและเส้นทางคมนาคมได้แก่ ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมัน เชื่อมต่อระหว่างเมืองทวายกับชายแดนไทย/พม่าที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลพม่า ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า โดย ไอทีดี ลงนามร่วมกับการท่าเรือ พม่า ในฐานะคู่สัญญา เมื่อวันที 2 พฤศจิกายน 2553

หลังจากนั้นอีก 2 เดือน รัฐบาลพม่าได้ออกฎหมาย กำหนดให้ท่าเรือทวาย และนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่พิเศษหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้

ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง ไอทีดี กับการท่าเรือ พม่า ไอทีดี จะได้สิทธิในการบริหารจัดการโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย บนพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหภาพพม่า ห่างจากเมืองทวาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในมาบตาพุดถึง 10 เท่า เป็นเวลา 75 ปี ประกอบด้วย โครงการหลักๆ 4 โครงการคือ 1. ท่าเรือน้ำลึก 2. นิคมอุตสาหกรรม 3. เส้นทางการคมนาคมได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างเมืองทวาย สหภาพพม่า กับประเทศไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และ 4 . ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อน

ไอทีดี ได้ตั้งบริษัททวาย ดิเวลลอปเมนท์ ขึ้นมา เพื่อพัฒนาโครงการนี้ โดยไอทีดีถือหุ้น 100 % ในระยะแรก และต่อมามีนักลงทุนพม่าเข้ามาร่วมถือหุ้น 25 % โดย วางแผนการดำเนินการออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี - ทวาย ช่วงที่สองคือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ช่วงที่สามคือ การสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง แบ่งพื้นที่ออกเป็น โซน เอ ท่าเรือ และอุตสาหกรรมหนัก โซน บี อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โซน ซี 1 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขั้นต้นน้ำ โซนซี 2 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขั้นปลายน้ำ โซน ดี อุตสาหกรรมขนาดกลาง และโซน อี อุตสาหกรรมเบา และ การก่อสร้างในช่วงสุดท้าย คือ สร้างโรงแรม ที่พักรองรับนักลงทุน และคนที่ทำงานในนิคมอุตสาหรรมทวาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว สองปี นับตั้งแต่ ไอทีดี ได้สิทธิการเป็นผู้พัฒนาโครงการทั้งหมด ความคืบหน้าของโครงการมีน้อยมาก เพราะโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ไอทีดี ไม่สามารถลงทุนได้เองเพียงคนเดียว ต้องหาผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติ มาร่วมลงทุน ด้วย โดยเฉพาะญี่ปุ่น

แต่จนถึงขณะนี้ ไอทีดี ก็ยังไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้เลย แม้ไจก้าจะบอกว่า สนใจที่จะร่วมทุน แต่ก็เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น ยังไม่มีข้อผูกมัดที่ชัดเจน มิหนำซ้ำ นักลงทุนพม่า ซึ่งร่วมลงทุนตั้งแต่แรก ก็ประกาศถอนการลงทุนร่วม 25 % ออกไป เมื่อยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องการลงทุน จึงทำให้แผนการดำเนินงานอื่นๆ ไม่สามารถเดินหน้าไปได้

การทำเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนการได้รับสัปทานบริหารโครงการทวายของ ไอทีดี เกิดขึ่นในยุคที่พม่ายังอยุ๋ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ถูกบอยคอตทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ อียู และประเทศอื่นๆ รวมทั้งญี่ป่น แต่หลังจากนั้น ไม่นาน การเปลี่ยนแปลงในพม่าก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อปลายปี 2553 มีประธานาธิบดี ที่มาจากรัฐสภาคือ นายเต็ง เส่ง ถึงแม้จะรู้กันว่า กองทัพยังมีบทบาทในท่างการเมืองอยู่อย่างมาก แต่ก็เป็นสัญญาของ การปฏิรูปทางการเมือง มาจนถึงการที่นางออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ และลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อต้นปีนี้ ทำให้โลกตะวันตก ยอมผ่อนคลาย และยกเลิกมาตรการบอยคอต ทำให้พม่าซึ่งปิดประเทศมานานถึง 50 ปี กลายเป็นประเทศเกิดใหม่ ที่เนื้อหอมที่สุดในสายตานักลงทุนทั่วโลก

โครงการทวาย เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว กับโครงการทวายในวันนี้ จึงมีความสำคัญต่อพม่า และนักลงทุนชาติอื่นๆ น้อยลงไปมาก วันนี้ พม่ามีทางเลือกมากมายที่ดีกว่า ข้อเสนอของไทย ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกหนี้มูลค่า 3 แสนล้านเยน ให้พม่า และจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พม่า เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

สิ่งที่ญี่ปุ่นได้รับตอบแทนกลับไปคือ พม่าให้สิทธิญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนา และบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ ติละวา” ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งเพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น โดยตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดำเนินโครงการ มีฝ่ายพม่าถิอหุ้นใหญ่ 51 % ฝ่ายญี่ปุ่นถือหุ้นโดยเอกชนคือ บริษัทมิตซูบิชิ มารูเบนี และสุมิโตโม

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว พม่ายังร่วมทุนกับบริษัทเอกชนเกาหลี สร้างเมืองใหม่รอบๆท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติละวาด้วย


การที่ทั้งรัฐบาลพม่า และนักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี มีทางเลือกใหม่ๆให้เลือก หลังจากพม่าเปิดรับการลงทุนจากทั่วโลก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการท่าเรือ น้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย ของไอทีดี หมดความสำคัญลงไปอย่างมาก เพราะมีเพียงประเทศไทยที่จะได้รับประโยชน์มากทีสุดจากโครงการนี้ และสาเหตุนี้เองที่อาจจะทำให้ ไอทีดี ประสบความยากลำบากมากขึ้นในการผลักดันโครงการทวาย ให้เดินหน้าต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น