สิบปีที่แล้ว ตอนผมไปเรียนที่กรุงปักกิ่งช่วงแรกๆ ผมพบว่าในช่วงต้นของสหัสวรรษใหม่ รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกันอย่างขนานใหญ่ ทางหนึ่งเพื่อทำลายโครงสร้างอันเทอะทะที่ถูกครอบงำโดยภาครัฐ ส่วนอีกทางหนึ่งก็คือ เปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ในช่วงของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมไปสู่ทุนนิยม และกระแสอันเชี่ยวกรากของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ การถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลสู่ภาคเอกชน (Privatization) สื่อจีนเองก็หนีไม่พ้นต้องถูกผลักให้ดำเนินการปฏิรูปในองค์กรเช่นกัน
“หนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน (北京日报) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1952 (พ.ศ.2495) ถึงปีนี้ก็ครบ 60 ปีพอดิบพอดี ส่วนหนังสือพิมพ์ปักกิ่งฉบับเย็น (北京晚报) นั้นก่อตั้งในปี 15 มีนาคม 1958 (พ.ศ.2501) แต่กลุ่มหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน (北京报业集团) ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ในสังกัดรวม 10 ฉบับ สำนักพิมพ์ 1 แห่ง และเว็บไซต์ 3 แห่ง เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2000 (พ.ศ.2543) หรือเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมานี้เอง” คุณอัน เหว่ย หัวหน้ากองอำนวยการ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวันเล่าให้ผมฟัง
หนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน และหนังสือพิมพ์ปักกิ่งฉบับเย็นเป็นหนังสือพิมพ์สองเล่มที่ผมต้องซื้อหาอ่านอยู่บ่อยครั้งระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ปักกิ่ง โดยฉบับแรกเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในปักกิ่งโดยมียอดพิมพ์กว่าวันละ 4 แสนฉบับ เน้นเนื้อหาประเภทที่เหมาะกับกลุ่มผู้อ่านที่มีการศึกษาและกลุ่มปัญญาชน ขณะที่หนังสือพิมพ์ปักกิ่งฉบับเย็นเน้นเนื้อหาข่าวสังคม อาชญากรรมที่เหมาะกับกลุ่มชาวบ้านร้านตลาด และประชาชนทั่วไปมากกว่า
คุณอัน เหว่ย เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันนอกจากหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน และปักกิ่งฉบับเย็นแล้ว ในเครือยังมีหนังสือพิมพ์หลัก (核心报) อีกเล่มหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์ชานเมืองปักกิ่ง (京郊日报) และหนังสือพิมพ์ฉบับรองอีก 7 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งเครือ แล้วมียอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์มากถึงวันละ 2.2 ล้านฉบับ โดยสัดส่วนของผู้อ่านเป็นแบบบอกรับเป็นสมาชิกประมาณร้อยละ 60 และขายปลีกโดยหาซื้อตามแผงราวร้อยละ 40
“แต่ก่อนยอดของการขายปลีกหนังสือพิมพ์ในปักกิ่งนั้นสูงกว่ายอดการบอกรับสมาชิกมาก เพราะสมัยก่อนคนปักกิ่งสัญจรด้วยจักรยานหรือไม่ก็ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ทุกวันนี้ในปักกิ่งมีรถยนต์มากกว่า 5.3 ล้านคน พฤติกรรมการแวะซื้อหนังสือพิมพ์ตามแผงจึงน้อยลง เพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น รถติด ไม่มีที่จอดรถ ผู้คนจึงหันไปสมัครสมาชิกเพื่อให้หนังสือพิมพ์ไปส่งที่บ้านแทน” หัวหน้ากองอำนวยการ กองบก.ปักกิ่งรายวันเล่าให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคน ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์
ขณะที่ สัดส่วนรายได้ของหนังสือพิมพ์ในเครือ นสพ.ปักกิ่งรายวัน นั้นกว่าร้อยละ 80-90 ยังมาจากรายได้จากค่าโฆษณา ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการจัดจำหน่ายและรายได้อื่นๆ
กลุ่มหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน หรือ Beijing Daily Group (BDG) ถือว่าเป็นเครือหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของจีนแห่งหนึ่ง โดยนอกเหนือจากการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยมีหนังสือพิมพ์ในสังกัด 10 ฉบับ และทำธุรกิจสื่อครบวงจรแล้ว นับตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมาเครือหนังสือพิมพ์แห่งนี้ยังขยายธุรกิจไปประกอบกิจการอื่นๆ ด้วย เช่น ธุรกิจโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ ธุรกิจโรงแรม คือ Beijing News Plaza Hotel ซึ่งประกอบไปด้วย ห้องพัก ร้านอาหาร ห้องจัดประชุม ห้องจัดนิทรรศการ ฯลฯ โดยสินทรัพย์รวมของกลุ่มหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวันนั้นมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านหยวน หรือ ราว 25,000 ล้านบาท!
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผมไม่คิดว่าจะมีหนังสือพิมพ์ หรือ เจ้าของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยเจ้าไหนที่จะสามารถขายหนังสือพิมพ์จนมีเงินทองมากถึง 25,000 ล้านบาทได้ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ กลุ่มหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวันเป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบกลุ่มหนังสือพิมพ์ในจีนที่มีรายได้และสินทรัพย์นับเป็นมูลค่าพันๆ หมื่นๆ ล้านบาท
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์จีน เช่นนี้นี่เองที่เป็นอีกเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่า เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมนิยม” ไปสู่ “ทุนนิยม” หรือที่จีนเรียกว่า “สังคมนิยมแบบกลไกตลาด”
จริงๆ แล้ว หลักกิโลเมตรแรกบนเส้นทางสายทุนนิยมของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์จีนนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว
เดือนมกราคม 2539 (ค.ศ.1996) สำนักงานบริหารกิจการสิ่งพิมพ์และการพิมพ์แห่งชาติ (GAPP; 中华人民共和国新闻出版总署) องค์กรสูงสุดของรัฐบาลจีนที่มีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลสื่อสิ่งพิมพ์และการตีพิมพ์ทุกอย่างในประเทศ ได้อนุมัติให้ หนังสือพิมพ์กวางเจารายวัน (กว่างโจวรื่อเป้า; 广州日报) จัดตั้งเป็น “กลุ่มกิจการสื่อสิ่งพิมพ์” ทดลองเป็นกลุ่มแรก โดยในเวลานั้นหนังสือพิมพ์กวางเจารายวันเป็นกิจการสื่อที่ร่ำรวยที่สุด มียอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ 610,000 ฉบับ และมีรายได้รวมกว่า 1,210 ล้านหยวน (ราว 6 พันล้านบาท) ต่อปี [1]
หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มหนังสือพิมพ์กวางเจารายวันก็แสดงให้เห็นศักยภาพในการทำธุรกิจบนเส้นทางสายทุนนิยม โดยหลังจากนั้น 2 ปี ในปี 2541 (ค.ศ.1998) ก็มีการเปิดตัวหนังสือพิมพ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกสี่ฉบับ มีการผนวกกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ เข้ามาในกลุ่ม ยอดจำหน่ายก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 920,000 ฉบับ รายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้นถึง 700 ล้านหยวน (ราว 3,500 ล้านบาท) สินทรัพย์รวมก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 180 ทั้งยังสามารถขยายกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันอีกไม่ว่าจะเป็น โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ บริษัทขายกระดาษ บริษัทจัดจำหน่าย-ค้าปลีก บริษัทโฆษณา และข้ามไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการเช่น ภัตตาคาร เป็นต้น
จากความสำเร็จของกลุ่มหนังสือพิมพ์กวางเจารายวัน ต่อมา GAPP จึงอนุมัติให้หนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ทั่วประเทศสามารถจัดตั้ง “กลุ่มกิจการสื่อสิ่งพิมพ์” ขึ้นมาได้เช่นกัน จนถึงปัจจุบันในประเทศจีนมีกลุ่มหนังสือพิมพ์มากถึง 40 แห่ง โดยตามหัวเมือง/มณฑลใหญ่ต่างก็มีกลุ่มหนังสือพิมพ์มากกว่าหนึ่งกลุ่ม
ทว่า กลุ่มหนังสือพิมพ์จีนที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนไม่น้อยกลับขาดความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และทำการแข่งขันกับธุรกิจสื่ออื่นๆ เพียงแต่ดำเนินการแปรรูปองค์กรตามนโยบายของภาครัฐเท่านั้น นโยบายในลักษณะของการสั่งการจากบนลงล่าง (Top Down) ดังกล่าวก่อให้เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดหลายอย่างกับกลุ่มธุรกิจหนังสือพิมพ์จีนจำนวนไม่น้อย เช่น มีบางแห่งขยายธุรกิจไปผลิตวัสดุก่อสร้าง ทำธุรกิจขายอาหาร ทำธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์ที่ทำอยู่เลย เป็นต้น
ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดของจีนในปัจจุบัน และการแข่งขันที่เข้มข้นของสื่อหนังสือพิมพ์จีนในห้วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกลุ่มหนังสือพิมพ์บางแห่งที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ และสามารถก้าวขึ้นมากลายเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของจีน ขณะที่กลุ่มหนังสือพิมพ์บางแห่งกลับยังคงย่ำเท้าอยู่กับที่ เนื่องจากผูกติดอยู่กับโครงสร้างของภาครัฐ และใช้วิธีการบริหารแบบเก่าๆ
สำหรับรายชื่อกลุ่มหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 10 อันดับแรกของจีน ณ ปี 2553 (ค.ศ.2010) ประกอบไปด้วย
อันดับที่ 1 กลุ่มหนังสือพิมพ์กวางเจารายวัน (มณฑลกวางตุ้ง) มีรายได้จากการดำเนินการราว 3,910 ล้านหยวน/ปี
อันดับที่ 2 กลุ่มหนังสือพิมพ์เฉิงตูรายวัน (เสฉวน) มีรายได้ราว 3,100 ล้านหยวน/ปี
อันดับที่ 3 กลุ่มหนังสือพิมพ์เจี่ยฟ่างรายวัน (เซี่ยงไฮ้) มีรายได้ราว 2,680 ล้านหยวน/ปี
อันดับที่ 4 กลุ่มหนังสือพิมพ์หนานฟัง (กวางตุ้ง) มีรายได้ราว 2,450 ล้านหยวน/ปี
อันดับที่ 5 กลุ่มหนังสือพิมพ์ต้าจ้ง (ซานตง) มีรายได้ราว 2,020 ล้านหยวน/ปี
ส่วน อันดับที่ 6 ถึง 10 คือ กลุ่มหนังสือพิมพ์เจ้อเจียงรายวัน รายได้ 2,000 ล้านหยวน/ปี, กลุ่มหนังสือพิมพ์ฉงชิ่งรายวัน รายได้ 1,700 ล้านหยวน/ปี, กลุ่มหนังสือพิมพ์หางโจวรายวัน รายได้ 1,700 ล้านหยวน/ปี, กลุ่มหนังสือพิมพ์เหอหนานรายวัน รายได้ 1,590 ล้านหยวน/ปี และ กลุ่มหนังสือพิมพ์เซินเจิ้น 1,520 ล้านหยวน/ปี
หมายเหตุ :
[1] เจาะลึกสื่อจีน, วิภา อุตมฉันท์ และนิรันดร์ อุตมฉันท์, ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 80.
[2] กลุ่มหนังสือพิมพ์จีน 10 อันดับแรกที่มีศักยภาพสูงที่สุดในปี ค.ศ.2010 (2010中国报业综合实力十强排行榜)