ทันทีที่สิ้นเสียงประกาศชื่อ "มิสเวิลด์" คนใหม่ "หยูเหวินเซียะ" กลายเป็นสาวจีนคนล่าสุด ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก ถือเป็นการยืนยันความยิ่งใหญ่ของสาวจีนบนเวทีประกวดความงามระดับโลกคนล่าสุด แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นความสำเร็จที่มาพร้อมเสียงวิจารณ์มากมาย
สาวงามจากประเทศจีนกลายเป็นดาวเด่นของเวทีประกวดความงามระดับโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเวที มิสเวิลด์ ก็คว้ามงกุฏไปถึง 2 คนแล้ว นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมในการคว้ารางวัลสำคัญบนเวทีต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ถึงขั้นที่พูดได้ว่าจีนได้กลายเป็นมหาอำนาจของวงการนางงามขึ้นมาเทียบเท่ากับ อินเดีย, เวเนซุเอลา หรือสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"จีนต้องการเอาชนะเพื่อเหรียญทองในทุกเวที"
ย้อนหลังกลับไปในปี 1993 เมื่อการประกวดนางงามยังเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคมจีนนัก หนังสือพิมพ์ Beijing Youth Daily ถึงกับเคยตีพิมพ์บทความ ด้วยการพาดหัวใหญ่ด้วยตัวอักษรสีแดงว่า "มหาวิทยาลัยปักกิ่งปฏิเสธสาวจากเวทีประกวด" นอกจากนั้นเนื้อหายังโจมตีการประกวดความงามว่ามองสตรีเป็นเพียงวัตถุ ซึ่งดูเหมือนว่าผู้อ่านจำนวนมากก็เห็นด้วยกับเนื้อหาดังกล่าว
แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเวลาได้ล่วงเลยผ่านไปเพียงสองทศวรรษ การประกวดความงามในเมืองจีนไม่เพียงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เสียงต่อต้านการประชันโฉมของหญิงสาววัยรุ่นในชุดว่ายน้ำที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ก็แทบจะสูญหายไปหมดแล้ว แม้แต่ภาครัฐเองยังให้การสนับสนุนการเดินทางไปประกวดบนเวทีระดับโลก เพื่อเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้
ดร. หลุยส์ เอ็ดเวิร์ดส ผู้อำนวยการวิชาจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง เชื่อว่าถึงตอนนี้ทางภาครัฐจีนมองเห็นเวทีนางงามเป็นสนามที่ประเทศ สามารถใช้เพื่อประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ ได้ไม่แตกต่างอะไรจากเกมการแข่งขันกีฬา หรือวิชาการเลย
"จีนต้องการเอาชนะเพื่อเหรียญทองในทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นรางวัลโนเบล หรืออะไรก็ตาม แล้วทำไมจะต้องยกเว้นการประกวดมิสเวิลด์ หรือมิสยูนิเวิร์สด้วย" ดร. เอ็ดเวิร์ดส แสดงความเห็น พร้อมอธิบายว่าสำหรับชาวจีนแล้ว เรื่องของนางงามเป็นส่วนผสมของทั้ง การเมือง, ความบันเทิง และธุรกิจ
เวทีประกวดเรื่อง "เงิน" มาก่อนเรื่อง "งาม"
ทุกวันนี้ประเทศจีนจึงเต็มไปด้วยการประกวดประขันด้านความงามเวทีน้อยใหญ่มากมาย ภูมิภาคต่าง ๆ ล้วนมีการประกวดความงามในท้องถิ่น รวมถึงการประกวดนางงามเด็ก และประกวดนางแบบ ยังมีการประกวดค้นหาสาวงามจากโพ้นทะเล แต่สุดท้ายแล้วถนนทุกสายยังมุ่งมาที่จีนแผ่นดินใหญ่ แม้แต่เวทีประกวด มิสไชนิสอินเตอร์เนชั่นแนล อันเก่าแก่ของทีวีบี ก็ยังเปลี่ยนรูปแบบจากการเน้นหนักไปที่ "หมวยอินเตอร์" ตัวแทนหญิงสาวเชื้อสายจีนในประเทศต่าง ๆ มาเป็นการเปิดโอกาสให้กับสาวจีนแต่ละท้องถิ่นของแผ่นดินใหญ่แทน
ปีเตอร์ หวาง เลขาธิการของคณะกรรมการมิสเวิลด์แห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน กล่าวว่าในแผนพัฒนา 5 ปี ของรัฐบาล การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมคือหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านนโยบายที่สำคัญ ที่จะใช้การประกวดนางงามเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
อันที่จริงความเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองการประกวดประชันความงามในประเทศจีน เริ่มต้นส่อเค้าให้เห็นมาตั้งแต่ในยุค 80s แล้ว หลังจากก่อนหน้านั้นในยุคของประธานเหมา สังคมมีมุมมองตั้งความหวังให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ชายในทุกเรื่อง จนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปในยุคต่อมาของ เติ้งเสี่ยวผิง ที่สตรีกลับมามีบทบาทและได้รับการเชิดชูในฐานะผู้หญิงอีกครั้ง พวกเธอได้รับสิทธิ์ที่จะ "สวย" ได้ อันที่จริงในระยะหลัง หญิงสาวชาวจีนได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนความ "งาม" ของชนชาติจีนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ขณะที่กระแสการประกวดความงามในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีแต่จะเสื่อมความนิยมลง ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป หรือหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชีย แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นตำรับ หากจะพูดถึงยุครุ่งเรืองของการประกวดความงามก็ต้องย้อนไปเมื่อยุคร่วม 60 ปีก่อนนั่นเลย มีเพียงบางประเทศในเอเชีย และแถบลาติอเมริกา ที่เวทีความงามยังถูกยกย่องให้เป็นวาระสำคัญ
จีนได้กลายเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่, สำคัญ และทรงอิทธิพล ที่สุดของธุรกิจนางงามในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสาวจีนจะสามารถทำอันดับต้น ๆ รวมถึงคว้ามงกุฎในหลาย ๆ เวทีประกวด และดูเหมือนฐานที่มั่นสำคัญที่สุดของวงการนางงามจีนจะอยู่ที่ มิสเวิลด์ เวทีประกวดที่เดิมทีมีจุดศูนย์กลางอยู่ในยุโรป
"ซานย่า" เมืองแห่ง "นางงาม"
มีเมืองหลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เลือกใช้การประกวดนางงามขึ้นมาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว รวมถึงซานย่า ที่ธุรกิจรีสอร์ตกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลางของการประกวดนางงามหลาย ๆ เวทีในระยะหลังรวมถึงเวลาประกวดนางแบบ New Silk Road ด้วย และเมื่อมีโอกาสเป็นเจ้าภาพอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นเรื่องปกติที่สาวจีนจะได้ตำแหน่งในการประกวดอยู่เสมอ
ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เพียง 2 ปีหลังจากที่จีนได้กลับมาร่วมส่งตัวแทนขึ้นประกวดบนเวทีมิสเวิลด์อีกครั้ง ด้วยสถานะเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้ ซานย่า เมืองทางตอนใต้สุดของมณฑลไหหลำ ได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานใหญ่อย่างการประกวดนางงามของเวทีระดับโลก ซึ่งถือเป็นของใหม่สำหรับจีนในช่วงเวลานั้น
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าผลที่ออกมาจะประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เฉพาะ คราวน์ พลาซา ซานย่า สถานที่จัดงาน ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านหยวนในปี 2003 อันเป็นปีแรกที่ มิสเวิลด์เดินทางมาจัดกันขึ้นที่นี่ จนรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศต่างเห็นการจัดประกวดนางงามเป็นเหมือนขุมทอง
ซานย่า กลายเป็นเจ้าภาพการจัดประกวดมิสเวิลด์รอบตัดสินถึง 5 ครั้ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนแทบจะเรียกได้ว่า เมืองท่องเที่ยวทางภาคใต้แห่งนี้ ได้กลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของ มิสเวิลด์ต่อจาก ลอนดอน ไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะระหว่างปี 2003 - 2007 เมืองซานย่าเป็นเจ้าภาพของการประกวดมิสเวิลด์อยู่ถึง 4 ใน 5 ปีเลยทีเดียว
ในปี 2007 จางจือลิน ได้กลายเป็นสาวหมวยจีนคนแรก ที่คว้ามงกุฎมิสเวิลด์ไปครองได้สำเร็จ กับการประกวดที่ซานย่าอีกเช่นเคย หลังแทบทุกปีสาวจีนก็มักจะสามารถผ่านเข้าไปในรอบลึก ๆ พร้อมกับคว้ารางวัลสำคัญกลับไปได้แบบไม่มีว่างเว้น
จนมาถึงในปี 2012 ที่ หยูเหวินเซียะ เป็นสาวจีนคนที่ 2 ที่ประสบความสำเร็จคว้ามงกุฎมิสเวิลด์มาครองได้ แต่ครั้งนี้กลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย ถึงความไม่เหมาะสม ของผู้ได้รับตำหน่างว่า "ไม่มีความเหมาะสม" เอาเสียเลย
เรื่องอื้อฉาวที่ "เขตปกครองตนเองมองโกเลีย"
หยูเหวินเซียะ มิสเวิลด์คนล่าสุด คือสาวงามที่กำลังเป็นหัวข้อวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนอยู่ในชุมชนที่ติดตามการประกวดนางงาม หลังเธอเป็นผู้ชนะในการประกวดที่จัดขึ้นใน เออร์ดอส เมืองแห่งเขตปกครองตนเองมองโกเลีย ดินแดนที่กองประกวดประชาสัมพันธ์ว่าเป็น แผ่นดินของเจงกิสข่าน ที่จีนคว้าตำแหน่งได้ในการประกวดที่บ้านอีกครั้ง
เธอกลายเป็นผู้ครองมงกุฎที่ถูกวิจารณ์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา หน้าตาไร้ความโดดเด่น รูปร่างก็ห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ, ไม่มีหน้าอก, เอวหนา ติดจะมีพุงด้วยนิดหน่อย นอกจากนั้นคุณสมบัติด้านอื่นของเธอก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรเลย
สาวเฮยหลงเจียงวัย 23 ปีคนนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ กล่าวทักทายด้วยคำว่า "สวัสดีตอนเช้า" แทนที่จะเป็น "สวัสดีตอนเย็น" จึงเป็นเรื่องตลกสิ้นดีที่เธอได้รับรางวัลพิเศษ Miss Talent ไปครองอีกรางวัล
ทันทีที่การประกวดจบสิ้นลง ก็มีเสียงวิจารณ์ส่งไปโดยตรงที่เว็บไซต์ของ "มิสเวิลด์" จากบรรดาแฟน ๆ ที่ติดตามการประกวดจากประเทศต่าง ๆ โดยทันที หลายคนระบุว่ามิสเวิลด์กำลังจะทำลายความน่าเชื่อถือของการประกวด ด้วยการจัดฉากล็อกตำแหน่ง มอบรางวัลให้กับตัวแทนของเจ้าภาพ ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าในคราวที่ จางจือลิน คว้ามงกุฎมาได้ บนเวทีมิสเวิลด์ที่ซานย่านั้นทุกคนรับได้กับผลที่ออกมา แต่ไม่ใช่สำหรับในปีนี้
"จูเลีย มอร์ลีย์" โดนสวดยับ
ขั้นตอนการประกวดของมิสเวิลด์ปี 2012 ก็ถูกวิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยความไม่เป็นมืออาชีพ ซ้ำร้ายยังเผยให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ไม่มีการแนะนำรายชื่อของคณะกรรมการ อย่างเป็นทางการ, การคัดเลือกสาวงามให้ผ่านเข้ารอบก็เป็นไปอย่างไร้เหตุผล สาวงามตัวแทนเม็กซิโกมีคะแนนเป็นลำดับที่ 2 ของรอบเซมิไฟนอล แต่กลับไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงรอบ 7 คนสุดท้ายได้
เช่นเดียวกับรางวัลพิเศษที่เริ่มในปีนี้อย่าง "มิสมัลติมิเดีย" ที่มีคำอธิบายว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วม โหวตนางงามให้ผ่านเข้ารอบได้ ก็ไม่เคยชัดเจนว่ามีกติการเป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วสาวงามที่ได้รับการกด LIKE มากที่สุดก็ไม่ได้รับรางวัลพิเศษนี้แต่อย่างใด
ซึ่งเป้าที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงที่สุดจึงไปตกอยู่กับ จูเลีย มอร์ลีย์ ประธานและกรรมการบริหารของกองการประกวด ที่โดนกล่าวหาว่าจากการบริหารงานของเธอ มิสเวิลด์กำลังกลายเป็นเวทีที่มงกุฎซื้อได้ด้วยเงิน และมอบรางวัลให้กับตัวแทนของประเทศที่สามารถมอบผลประโยชน์ให้กับกองประกวดได้สูงสุด ไม่ว่าผลประโยชน์นั้นจะมาโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม
มีข้อกล่าวหาถึงขั้นที่ว่า มอร์ลีย์ มีผลประโยชน์อยู่กับนักธุรกิจจีน และยังช่วยฟอกเงินให้บรรดานักธุรกิจ และนักการเมืองบางคนของที่นี่ด้วย บางคนก็เชื่อว่าเหตุที่สาวงามจาก เคนยา, อินโดนีเซีย และอินเดีย ได้รับตำแหน่งในการประกวดมิสเวิลด์ครั้งล่าสุด ก็เพราะประเทศเหล่านั้นได้จ่ายเงินและเชื้อเชิญให้ มอร์ลีย์ เดินทางไปเยือน โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพของมิสเวิลด์ในปี 2013 ด้วย
ผู้ติดตามการประกวดนางงามส่วนใหญ่ยืนยันว่าพวกเขาเข้าใจธรรมชาติของการประกวดนางงาม ที่เดิมทีก็ไม่ได้ตัดสินกันด้วย "ความงาม" เพียงอย่างเดียวอยู่แล้ว เพราะ "การเมือง" และ "ธุรกิจ" คือองค์ประกอบที่สำคัญที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่การตัดสินที่ขัดต่อความรู้สึก แบบ "ไม่เห็นหัว" ผู้ชมกันเลย ก็มีแต่จะทำให้ "อุตสาหกรรมประกวดความงาม" ที่มีแต่จะลดความนิยมลง เสื่อมถ่อยเร็วกว่าที่ควรจะเป็นไปเรื่อย ๆ
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |