เผยผลสำรวจคาดการณ์คุณลักษณะสำคัญที่ผู้นำของไทยในยุค 2020 ต้องมีเพื่อนำพาองค์กรไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เริ่มจากความสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง การปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจและสังคม สื่อสารเข้าถึงทั้งคนรุ่นเก่าและใหม่ คาดการณ์อนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้ง ต้องหมั่นเรียนรู้และมีความยืดหยุ่นพร้อมรับฟัง
APM Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล หรือ HROD สายเลือดไทย และ Professor Bruce McKenzie (ศาสตราจารย์ บรู๊ซ แม็คเคนซี่) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน Systems Thinking ของโลก หนึ่งในทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ได้จัดทำโครงการวิจัยชิ้นสำคัญร่วมกัน เกี่ยวกับผู้นำในอนาคตของไทย เพื่อหาคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำไทยในยุค 2020 หรือ อีก 7 ปีข้างหน้า
ด้วยการรวบรวมความคิดและมุมมองของคนไทยที่ทำงานในประเทศไทยและต่างประเทศที่ต้องมีการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับชาวต่างชาติอยู่เป็นประจำ รวมถึงคนไทยที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในต่างประเทศ อาทิ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ฯลฯ เพื่อวัดความคิดเห็นของคนไทยถึงคุณลักษณะผู้นำที่จะสามารถนำพาองค์กรไทยสู่สากล สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ รวมถึงเพื่อค้นหาสิ่งที่บกพร่อง และ คุณลักษณะที่ควรเสริมสร้างให้เกิดขึ้นแก่คนไทย เพื่อให้องค์กรได้นำไปพัฒนาพนักงาน และผู้ที่สนใจได้พัฒนาตนเองในอนาคต
งานวิจัยนี้ เก็บข้อมูลจากกลุ่มคนไทย อายุระหว่าง 20 - 55 ปี (Baby Boomer - Gen Y ) สิ่งแรกที่งานวิจัยเผยให้ทราบเกี่ยวกับผู้นำในอนาคตที่กลุ่มตัวอย่างมองเห็นตรงกัน คือ ผู้นำสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชาญฉลาด เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่หลักแหลม ข้อมูลจากการวิจัยชี้ว่าปัญหาที่ผู้นำต้องเผชิญส่วนใหญ่นั้นมาจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้ามาก่อนทั้งสิ้น โดยหลายคนอาจคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้นำในองค์กร หรือ บริษัททั่วไปจะต้องมีแผนการปฏิบัติงานรายเดือน รายปีอยู่แล้ว
หากแต่ในส่วนนี้หมายถึง การมีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เช่น อุบัติภัย อุบัติเหตุทางธุรกิจ หรือภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดการอยู่หรือไปขององค์กรมานักต่อนัก สิ่งที่ผู้นำในอนาคตจำเป็นต้องมีประการแรกคือ ทักษะในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและประเมินความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องแข็งแกร่งพอที่จะฟื้นจากความล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว
ประการที่สองคือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ขึ้น ทักษะการปรับตัวนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากผู้นำสามารถปรับตัวเมื่อเผชิญวิกฤตและสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ผู้นำก็จะช่วยนำพาองค์กรให้ขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ประการที่สามคือ มีรูปแบบการสื่อสารที่เข้าถึงได้ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในองค์กรต่างๆ ทุกวันนี้ คือ แต่ละองค์กรมีหลาย Generation อยู่ร่วมกัน มีคนหลากหลายวัย การสื่อสารระหว่างกลุ่มคนในแต่ละวัยมีแนวโน้มลดลง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ นิยมสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ Facebook Twitter IG Line มีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มคนทำงานรุ่นเก่า จะคุ้นชินกับการสื่อสารแบบเดิมๆ
ดังนั้น ผู้นำในอนาคตจะต้องมีทักษะการสื่อสารที่ช่วยให้คนทำงานรุ่นเก่าสามารถแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็มีการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้คนรุ่นเก่าได้เปิดรับการเปลี่ยนแปลง ให้ทันต่อกระแสโลกได้มากขึ้น โดยผู้นำจะต้องสามารถกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อองค์กรควบคู่กัน
ประการสุดท้ายคือ ความสามารถในการคิดคาดการณ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในข้อนี้มีจุดที่น่าสนใจอยู่ที่การมองว่าผู้นำที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วนั้น ถือเป็นเพียงทักษะที่ดี เพราะหากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามหลังจากการแก้ปัญหานั้นส่งผลเสียต่อองค์กรในด้านใดด้านหนึ่ง ก็ย่อมถือเป็นความล้มเหลวได้เช่นกัน เพราะเช่นนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงจำเป็นต้องมีการคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่จะส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคตได้
โดยทั้งหมดนี้ เกิดจากคุณลักษณะพื้นฐานคือ การหมั่นเรียนรู้ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นการเรียนรู้จากผู้มากประสบการณ์กว่า หรือผู้อ่อนประสบการณ์ เพราะหากผู้นำมีการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากหลากหลายแหล่งที่มา ก็จะทำให้ได้รู้ว่าแต่ละคนมีความคิดหรือมุมมองต่อสถานการณ์แตกต่างกันอย่างไร ส่งผลให้มีการออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาหรือออกแบบแนวทางการทำงานได้หลากหลาย ไม่ยึดติดอยู่กับโจทย์และวิธีการเดิมๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความยืดหยุ่น ทั้งในเรื่องการทำงาน ความคิด การรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ช่องทาง โดยไม่เลือกฟังเพียงเพราะตรงกับแนวคิดตนเอง หรือรับฟังเฉพาะคนสนิท ที่ปรึกษา เพราะการเปิดรับมุมมองที่หลากหลายจะทำให้ผู้นำไม่ยึดติดกับความคิดเดิม ได้ลองวิธีการใหม่ๆ ลด ละความรู้สึกยึดมั่นในความสำเร็จจากผลงานเก่าๆ นี่คือบททดสอบใหญ่ที่จะทำให้ก็เกิด “การเรียนรู้” และ “การพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่” ซึ่งฟังดูแล้วง่าย แต่ทำจริงยาก แต่หากทำได้แล้ว ย่อมเชื่อได้ว่าผู้นำตามคุณลักษณะ ‘ผู้นำของไทยในยุค 2020’ จะสามารถนำพาองค์กรแข่งขันกับนานาชาติได้ในอนาคตอย่างแน่นอน