“คมนาคม” ชงกรรมการกลั่นกรอง ครม.แก้ปัญหาชดเชยเสียงสุวรรณภูมิ ทบทวนมติ ครม.เดิมเพื่อความเป็นธรรม หวั่นกระทบเฟส 2 และรันเวย์ 3 คาดชัดเจนใน 1 เดือนเสนอ ครม.ทบทวนมติได้ ส่วนราคาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตรียมเสนอ ครม.14 พ.ค.นี้ ฟันธงจ้าง BMCL วงเงิน 8.3 หมื่น ลบ.หรือไม่ “ชัชชาติ” ติดใจราคารถ สั่ง รฟม.แจงความเหมาะสม ครม.โดยตรง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานวันนี้ (9 พ.ค.) พิจารณาใน 2 เรื่อง คือ การเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญา 4 รูปแบบการร่วมทุนแบบ PPP Gross Cost (สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา) กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL วงเงินลงทุน 83,310 ล้านบาท และปัญหาการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2, การก่อสร้างรันเวย์ที่ 3
โดยการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อสัญญา 4 คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ได้ยืนยันราคาเหมาะสมที่ 83,310 ล้านบาท ซึ่งทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องอธิบายต่อ ครม.ว่ามีความเหมาะสมอย่างไรเพราะยังมีข้อกังวลกันอยู่ โดยเฉพาะราคารถ ซึ่งมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องค่าเงิน รวมถึงไม่ใช่การซื้อรถไฟฟ้าทั่วๆ ไป แต่เป็นการทำสัญญาซื้อรถพร้อมกับการรับประกันคุณภาพ ผู้ประกอบการต้องรับประกันว่ารถจะต้องมีวิ่งให้บริการตลอด ซึ่งในทีโออาร์กำหนดไว้ ถ้าทำไม่ได้จะถูกปรับ ดังนั้นถ้ายึดราคาตลาดทั่วๆ ไปอาจจะไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนด เป็นต้น
“รฟม.ต้องอธิบายรายละเอียดและข้อสงสัยกับ ครม. เรื่องนี้เป็นไปได้หลายแนวทาง เช่น อาจจะยอมรับราคาเดินหน้าทำสัญญา หรือไม่รับราคาสั่งต่อรองใหม่ หรือยกเลิก ให้ รฟม.เดินรถเอง แต่การเดินรถเองยังเห็นว่าเหนื่อยแน่ โดยคาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนการชดเชยผลกระทบทางเสียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น นายชัชชาติกล่าวว่า จะต้องหาข้อสรุปถึงรูปแบบที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อประชาชน เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากมีมติ ครม.หลายครั้งเกี่ยวข้อง คือปี 2549 กำหนดเครื่องบินขึ้น-ลง 100% ทั้ง 2 รันเวย์ ต่อมาปี 2550 เปลี่ยนเป็นขึ้น-ลง 80-20% ส่วนการชดเชยมีหลายเงื่อนเวลา เช่น ทางสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ให้ชดเชยสิ่งปลูกสร้างก่อนปี 2544 มติ ครม.ปี 2549 เปลี่ยนเป็นให้ชดเชยสิ่งปลูกสร้างจนถึงปี 2549 ที่เปิดสนามบิน ส่วนมติ ครม.ปี 2550 ให้กลับไปชดเชยสิ่งปลูกที่สร้างก่อนปี 2544 ประชาชนสับสนว่าจากปี 2544-2549 จะได้รับชดเชยหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีปัญหาชดเชยเรื่องเส้นเสียง พื้นที่ NEF 30-40 ที่ ครม.ให้ปรับปรุง แต่ชาวบ้านต้องการให้รับซื้อด้วยกรณีที่ไม่ต้องการปรับปรุง โดยคาดกันว่าจะใช้ค่าชดเชยประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ในประเด็นนี้ต้องมองให้รอบคอบเพราะเส้นเสียงพื้นที่ NEF 30-40 นั้นกินพื้นที่วงใหญ่และกว้างมากครอบคลุมไปถึงสุวินทวงศ์ ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เงินชดเชยถึงแสนล้านบาทก็ได้
นายชัชชาติกล่าวว่า จะต้องสรุปภาพรวมปัญหาทั้งหมด โดยนำข้อมูลที่ผ่านมา ทั้งเรื่องมติ ครม. คำสั่งศาล พร้อมกับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 มาพิจารณาร่วมกันเพื่อกำหนดรูปแบบการชดเชยที่เป็นธรรมให้ผู้ได้รับผลกระทบเชื่อมั่น โดยให้สรุปภายใน 1 เดือนเพื่อเสนอ ครม. หากต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มต้องยอมรับเพราะสนามบินสุวรรณภูมิสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมาก