“ชัชชาติ”เผย BMCL ยอมลดค่าจ้างเดินรถสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เหลือ 8.3 หมื่นล้าน จากเดิม 8.59 หมื่นล้าน หรือลดลงกว่า 2.6 พันล้าน แต่ไม่บอกพอใจหรือยัง สั่งตรวจสอบรายละเอียดที่มาราคาแต่ละรายการก่อนชง ครม.ตัดสินใจ มี.ค.นี้ ยันไม่ตีกลับให้ รฟม.เจรจาใหม่ ถือว่ายุติแล้ว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญา 4 (สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา) ที่มีนายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานได้ส่งผลการเจรจากับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL มายังกระทรวงคมนาคมแล้วซึ่งเป็นไปตามกำหนดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เวลาเจรจาต่อรองภายใน 30 วัน โดยปรากฏว่า BMCL ยอมปรับลดราคาลง จาก 85,992.50 ล้านบาท เหลือ 83,310 ล้านบาทหรือลดลง 2,682 ล้านบาท
ทั้งนี้ ค่าจ้างที่ปรับลดลงหลักๆ ทราบว่าเป็นการปรับลดอัตราผลกำไรจาก 12.25% เหลือ 10.5% ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าตัวเลขที่ลดลงมานั้นน่าพอใจหรือไม่ โดยจะต้องให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณารายละเอียดการต่อรองในทุกมิติก่อน เช่น ทุกขั้นตอนที่ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบหรือไม่, กรณีการร่วมทุนแบบ PPP Gross Cost Concession (GC) คือรัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถ
แล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่นั้น จะต้องดูราคากลางที่เหมาะสม โดยยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมจะไม่ส่งเรื่องกลับไปให้ รฟม.ต่อรองอีก เพราะถือว่าการต่อรองราคาเสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่าจะนำส่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้
“คงยังบอกไม่ได้พอใจกับราคา 8.3 หมื่นล้านบาทนี้หรือยัง ต้องรอให้ สนข.ตรวจสอบซึ่งและต้องอิงกับความเห็นจากคณะกรรมการตามาตรา 13 ด้วยว่า ราคาแต่ละรายการเปรียบเทียบจากไหนอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ครม.ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ครม.สั่งให้เจรจาต่อรองเพราะเห็นว่าราคาที่เสนอไปครั้งแรกแพง” นายชัชชาติกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การประมูลสัญญา 4 เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น BMCL ชนะประมูลโดยเสนอราคาที่ 95,202 ล้านบาท โดยการเจรจาต่อรองรอบแรกลดลงมาอยู่ที่ 85,992.50 ล้านบาท และล่าสุดจากที่ ครม.ให้ต่อรองเพิ่มลดลงเหลือ 83,310 ล้านบาท หรือลดลงรวม 11,892 ล้านบาท ซึ่งมีรายการที่ปรับลด เช่น 1. ลดราคาขบวนรถไฟฟ้า จำนวน 21 ขบวน 63 ตู้ ลง 100 ล้านบาท จาก 5,393 ล้านบาท เหลือ 5,293 ล้านบาท 2. ต้นทุนการเงินและดอกเบี้ย จำนวน 24 ล้านบาท เหลือ 125 ล้านบาท 3. ลดค่าใช้จ่ายการเดินรถและบำรุงรักษาตลอด 30 ปีลงไปอีกประมาณ 1,315 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างคน จำนวน 870 ล้านบาท จาก 17,922 ล้านบาท เหลือ 17,052 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ จำนวน 445 ล้านบาท และ 4. ลดอัตราผลกำไรจาก 12.25% เหลือ 10.5%