xs
xsm
sm
md
lg

ทางด่วนแน่น หน้าด่านหนึบ เหตุรถเพิ่มเกินเป้า คาดกลางปีทะลุ 2 ล้านคัน/วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการ  (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
“กทพ.” เวิร์กชอปหาทางแก้รถติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง สำรวจผู้ใช้ทางพบสาเหตุหลัก ทอนเงินช้า “อัยยณัฐ” เผยปริมาณจราจรบนทางด่วนโตเกินเป้าคาดกลางปีทะลุ 2ล้านคันต่อวัน เร่งเพิ่มช่อง Easy Pass ให้ได้ 50% ทุกด่าน ใช้ระบบตั๋วร่วม ปรับปรุงทางลง เปิดทางพิเศษวิ่งสวนทางชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมผุดทางด่วนอีก 7 สาย หวังช่วยระบายจราจร 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ (เวิร์กชอป) “การแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ” โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มมาตรการในการแก้ปัญหาจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ จากผลสำรวจประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษที่เป็นกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้รถติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางมากที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ทอนเงินช้า ประมาณ 33% รองลงมาคือ รถไม่มีบัตร Easy Pass เข้าไปในช่อง Easy Pass 15% ขับรถเบียดช่องจ่ายเค่าผ่านทาง 9% เป็นต้น โดยเสนอแนะให้ทำประชาสัมพันธ์ปรัชาชนผู้ใช้ทางเตรียมเงินให้พอดีกับค่าผ่านทาง เพื่อไม่ต้องเสียเวลาทอนเงิน, ประชาสัมพันธ์ให้ใช้ช่องทางให้ถูกต้อง, จัดระเบียบหน้าด่าน, เปิดช่องเก็บค่าผ่านทางให้ครบ 

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านคันต่อวัน โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 มีถึง 1.9 ล้านคันต่อวัน และวันที่ 29 มีนาคม ปริมาณจราจรเพิ่มเป็น 1.99 ล้านคันต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าประมาณการณ์ และคาดว่าปริมาณจราจรบนทางด่วนจะเกิน 2 ล้านคันต่อวันภายในกลางปีนี้แน่นอน ในขณะที่โครงข่ายทางด่วนมี 7 สายทาง 3 ทางเชื่อมต่อ ระยะทาง 207.9 กิโลเมตรเท่าเดิม ดังนั้น แผนแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน คือ เพิ่มจำนวนช่อง Easy Pass เป็น 50% ทุกด่าน โดยปัจจุบันบัตร Easy Pass มีประมาณ 6 แสนใบ  หากใช้ใบละ 2เที่ยวยะเท่ากับ 1.2 ล้านเที่ยวต่อวัน จะช่วยลดการสะสมรถติดหน้าด่านได้มาก

เพิ่มจำนวนพนักงานเก็บเงินในช่วงเวลาเร่งด่วน, ใช้ระบบตั๋วร่วม, ปรับปรุงระบบ Easy Pass โดยยกเลิกไม้กั้น, ทำตู้เก็บค่าผ่านทางแบบ Multi-Lane Free Flow เพื่อให้รถผ่านเร็วขึ้น, ใช้ระบบ Reversible Lane ในเส้นทางที่หนาแน่น เช่น จากด่านดาวคะนอง-ท่าเรือ ช่วงเช้าขาเข้ามีรถมาก ให้ปรับใบ้ขาออกวิ่งเข้าได้อีก 1 ช่องทาง เป็นต้น

นอกจากนี้จะเร่งปรับปรุงทางขึ้น-ลงเพื่อระบายรถบนทางด่วน ให้ลงถนนด้านล่างได้เร็วขึ้น เช่น บริเวณทางลงถนนทางรถไฟสายเก่า รองรับรถจากคลองเตย กล้วยน้ำไทให้ใช้ทางด่วนได้สะดวกขึ้น, ปรับปรุงทางลงทางด่วนขั้นที่ 1 บริเวณถนนสุขุมวิท 50 เป็นต้น

นายอัยยณัฐกล่าวว่า ในอนาคตมีแผนก่อสร้างทางด่วนเพิ่มอีก 9 โครงการ ประกอบด้วย 1. ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 (บางใหญ่-เกษตร-มอเตอร์เวย์) ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ขณะนี้กระทรวงคมนาคมให้กทพ.ปรับการศึกษาแนวที่เหมาะสม 2. โครงการทางด่วนสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 8.8 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอนาคตจะขยายไปถึงปากท่อ 

3. โครงการทางด่วนศรีรัช-ดาวคะนอง ระยะทาง 6.1 กิโลเมตร โดยจะเชื่อมจากบางโคล่ เป็นทางด่วนคู่ขนานกับสะพานพระราม 9-ถนนพระราม 2 เพื่อลดภาระสะพานพระราม9 โดยอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนโครงการ 4. โครงการทางด่วนบูรพาวิถี-พัทยา ระยะทาง 57 กิโลเมตร อยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมโครงการ โดยจะมีทางเชื่อมเข้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ได้สะดวก 5. โครงการทางด่วนอุดรรัถยา-อยุธยา ระยะทาง 35 กิโลเมตร อยู่ระหว่างทำทีโออาร์คัดเลือกที่ปรึกษา 

6. โครงการทางด่วนฉลองรัฐ-สระบุรี ระยะทาง 63 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากบริเวณจตุโชติ-อำเภอบ้านนา-วิหารแดง รองรับปริมาณรถจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยอยู่ระหว่างเสนอของบศึกษาในปี 2557 

7. โครงการทางด่วนสายกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30.7 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน 8. โครงการทางด่วนแก้ปัญหาจราจรจุงหวัดเชียงใหม่ และ 9. โครงการทางด่วนแก้ญหาจราจรจังหวัดขอนแก่น อยู่ระหว่างของบศึกษาความเหมาะสมในปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น