กทพ.สนอง “ชัชชาติ” เตรียมเสนอโปรโมชัน Easy Pass วิ่งครบ 10 เที่ยวแถม 1 เที่ยว เยียวยากรณีขึ้นค่าผ่านทาง “อัยยณัฐ” เชื่อจูงใจและแก้รถติดหน้าด่านได้ เร่งเจรจา BECL ร่วมมือก่อนสรุปเสนอคมนาคม “สุเมธ” มอบนโยบายเร่งทางด่วนในแผนแม่บทให้เร็วขึ้น พร้อมศึกษาผุดสายใหม่รับปริมาณรถเพิ่มหลังเปิด AEC ส่วนค่าผ่านทางใหม่โครงข่ายนอกเมือง ส่วน C ยังได้ส่วนลด 5 บาทเท่าเดิม
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่มี พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธาน วันนี้ (11 ก.ค.) ได้เห็นชอบการให้ส่วนลดค่าทางด่วนโครงข่ายนอกเมือง (ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C : ด่านประชาชื่น-แจ้งวัฒนะ) 5บาท (สำหรับรถสี่ล้อ) หลังจากมีการประกาศอัตราค่าผ่านทางใหม่วันที่ 1 กันยายน2556 นี้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ดำเนินการมา โดยรถที่ใช้ทางด่วน 2 ระบบ คือ ในเมือง และนอกเมือง ส่วน C จะจ่ายค่าผ่านทางใหม่หลังหักส่วนลด 5 บาท รวม 60 บาท (ในเมือง 50+ นอกเมือง 15 บาท) จากปัจจุบันจ่าย 55 บาท (45+15 บาท) โดยให้ กทพ.ส่งร่างประกาศกระทรวงคมนาคมสำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อประกาศใช้ให้ทันวันที่ 1 กันยายน 2556
และยังได้รายงานบอร์ดถึงแนวทางการทำโปรโมชันสำหรับบัตรผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) ตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ กทพ.หามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ทางด่วนกรณีที่จะมีการปรับค่าผ่านทาง โดยแนวคิดเบื้องต้นจะเป็นการแถมเที่ยววิ่ง เช่น 10 เที่ยวแถม 1 เที่ยว เป็นต้น โดยขณะนี้ กทพ.จะศึกษารายละเอียด ข้อดี ข้อเสีย พร้อมกับหารือกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุน เชื่อว่าน่าจะได้รับความร่วมมือ โดยจะเร่งสรุปข้อมูลเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาต่อไป ซึ่งหากเห็นชอบโปรโมชันดังกล่าวจะต้องประกาศใช้ภายในเดือนสิงหาคมก่อนที่จะมีการปรับค่าทางด่วน
“แนวคิดการให้เที่ยวแถม คือใช้ทางด่วนครบ 10 เที่ยวจะได้แถม 1 เที่ยวนั้นจะไม่จำกัดว่าขึ้นที่ด่านไหน ค่าผ่านทางเท่าไร โดยจะนับเป็น 1 เที่ยวหมด เชื่อว่าน่าจะจูงใจให้มีผู้หันมาใช้ Easy Pass มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสมาชิก Easy Pass รวมประมาณ 6.4 แสนใบ เพราะมีปัจจัยเรื่องขึ้นค่าผ่านทางขึ้นวันที่ 1 ก.ย.มาร่วมด้วย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ส่วน BECL นั้นน่าจะช่วยภาครัฐเพราะรถในระบบจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถเฉลี่ย 1.7-1.8 ล้านคัน/วัน แต่หากไม่ให้ความร่วมมือ กทพ.ก็ต้องพิจารณาส่วนต่างที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไรและหาทางแก้ปัญหาต่อไป โดยโปรโมชันดังกล่าวอาจกระทบต่อการเงินของ กทพ.บ้างแต่ไม่มาก ตอนนี้ทุกอย่างเป็นแนวคิดต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มและรอเจรจากับเอกชนก่อนจึงจะสรุปได้ สุดท้ายก็ต้องดูนโยบายว่าจะเห็นด้วยหรือไม่” นายอัยยณัฐกล่าว
“สุเมธ” มอบนโยบายแก้รถติดเพิ่มยอด Easy Pass และเร่งรัดทางด่วนในแผนแม่บท
ด้าน พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานบอร์ด กทพ. กล่าวว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้ กทพ.หาทางแก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่าน และเพิ่มมาตรการจูงใจให้ใช้บัตร Easy Pass เพิ่มมากขึ้นโดยต้องเพิ่มช่องทางการเข้าถึงทั้งการซื้อบัตรและเติมเงิน เช่น ร่วมมือกับเซเว่น อีเลฟเว่นในการจำหน่ายบัตร เป็นต้น เพราะสาเหตุที่ยังมีผู้ใช้ Easy Pass น้อยเพราะหาซื้อยาก พร้อมกันนี้ให้ กทพ.เร่งรัดดำเนินโครงการทางด่วนในแผนแม่บทให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม และศึกษาทางด่วนสายใหม่เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและเห็นว่าหลังเปิด AEC ในปี 2558 ปริมาณจราจรจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก
ทั้งนี้ กทพ.ถือเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการลงทุนและก่อสร้างมากกว่าหน่วยงานอื่น เช่น กรมทางหวง (ทล.) ที่ต้องพึ่งพางบประมาณในการก่อสร้าง จึงทำให้สามารถเร่งรัดโครงการต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีการสรุปแผนแม่บทต่อที่ประชุมบอร์ดครั้งต่อไปวันที่ 8 สิงหาคม หากมีความชัดเจนจะสรุปเสนอให้ รมว.คมนาคมรับทราบต่อไป
“หลักการดำเนินโครงการทางด่วนหลังจากนี้คือ จะต้องศึกษาให้รอบคอบไม่ให้เกิดปัญหายกเลิกเหมือนทางด่วนขั้นที่ 3 (N1, 2, 3) คือเมื่อข้อมูลพร้อมตัดสินใจแล้วใครมาค้านก็ต้องสู้ ไม่งั้นโครงการไม่เกิด เพราะไม่มีโครงการไหนไม่ถูกคัดค้าน แต่หากมั่นใจว่าโครงการดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ต้องเดินหน้า ส่วนกรณีข้อพิาพทกับ BECL นั้น หากสามารถเจรจากันได้ พบกันครึ่งทางเพื่อหาทางออกร่วมกันก็ทำ แต่หากเป็นเรื่องข้อกฎหมายก็ต้องยึดตามกฎหมาย กรณีปรับค่าผ่านทาง หาก BECL จะคัดค้านหรือสงวนสิทธิ เป็นสิทธิของบริษัทเพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องดูแลผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่ กทพ.ยืนยันว่าการปรับค่าผ่านทางดำเนินการตามขั้นตอนสัญญาอย่างถูกต้อง” พล.อ.อ.สุเมธกล่าว