“ชัชชาติ” สั่ง กทพ.หามาตรการเยียวยาผู้ใช้ทางด่วน ลดผลกระทบขึ้นค่าผ่านทาง 1 ก.ย.นี้ เล็งกลับมาให้ส่วนลดบัตร Easy Pass อีกครั้ง โดยใช้รายได้ของ กทพ.มาอุดหนุน พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพิ่มยอด Easy Pass แก้รถติดหน้าด่าน พร้อมจี้ ขสมก.แก้ 3 ปัญหาหลัก บริการห่วย ตั้งเป้า 1 ปีปรับปรุงป้ายรถเมล์ใหม่พร้อมรับ NGV 3,183 คัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เรียกนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ทางด่วน กรณีที่จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท (สำหรับรถ 4 ล้อ) ในวันที่ 1 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ที่กำหนดว่าจะต้องมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางทุก 5 ปี โดยได้มอบหมายให้ กทพ.พิจารณาหามาตรการเยียวยาในรูปแบบต่างๆ พร้อมข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบในแต่ละแนวทาง และรายงานความคืบหน้าต่อ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม เสนอภายใน 1 สัปดาห์ โดยจะต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 1 กันยายน
ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจจะนำมาตรการให้ส่วนลดสำหรับบัตรค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือ Easy Pass 5% ที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้กลับมาใช้ใหม่ ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่ที่ความเหมาะสม เชื่อว่าหากให้ส่วนลด Easy Pass น่าจะจูงใจเมื่อเทียบกับค่าผ่านทางที่ปรับขึ้นจากเดิม ถือเป็นการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้ Easy pass มากขึ้นเพื่อลดปัญหารถติดหน้าด่านเก็บเงิน
“วันที่ 1 ก.ย.นี้ค่าทางด่วนจะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทาน หากภาครัฐไม่ทำตามสัญญาต่อไปก็คงไม่มีเอกชนรายใดกล้าเข้ามาลงทุน ในขณะเดียวกันให้ กทพ.ไปคุยกับ BECL ด้วยจะร่วมกับ กทพ.ได้อย่างไรบ้าง เพราะก่อนหน้านี้ BECL ไม่ได้ร่วมให้ส่วนลด Easy Pass 5% เหมือน กทพ. ส่วน กทพ.ต้องประเมินตัวเองว่าจะรับผิดชอบในการนำรายได้มาเยียวยาผู้ใช้ได้ไหวหรือไม่ ต้องวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียมา ทราบว่า กทพ.เองก็มีกำไรประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร โดยอาจออกเป็นมาตรการเยียวยา 6 เดือนก่อนเพื่อดูผลตอบรับ” นายชัชชาติกล่าว
นอกจากนี้ยังได้เรียกผู้บริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาหารือแนวทางแก้ปัญหาการให้บริการของรถเมล์ในช่วง 1 ปีก่อนที่รถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) 3,183 คันจะเข้ามาในระบบ โดยมอบให้ ขสมก.ทำแผนแก้ปัญหา 3 ข้อหลักแบบเชิงลึก คือ 1. ทบทวนเส้นทางของสายรถเมล์ที่วิ่งบริการ ซึ่งจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2552 จำนวน 155 เส้นทาง ซึ่งบางเส้นทางอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการจริงในปัจจุบันแล้ว บางสายวิ่งยาวเกินไป บางสายรอนาน เป็นต้น รวมถึงรถร่วมฯ จะจัดเข้าระบบอย่างไร 2. ปรับปรุงป้ายรถเมล์ ให้มีข้อมูลบอกสายและเส้นทางผ่าน เพิ่มไฟส่องสว่าง หลังคา และที่นั่งรอ 3. ทบทวนการจัดทำตั๋วร่วม เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดค่าโดยสารตามระยะทางจะไม่สะดวกต่อการใช้เพราะต้องมีการแตะบัตรเข้า-ออก กระทบการไหลของผู้โดยสาร น่าจะเก็บราคาเดียวตลอดสาย และควรมีระบบหยอดเหรียญสำหรับผู้โดยสารกลุ่มที่ไม่สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อตั๋วร่วมได้
“ขสมก.ได้การบ้านไป 3 ข้อ โดยจะเรียกประชุมติดตามงานทุกอาทิตย์ เพราะจากที่ผมได้ลงไปใช้บริการรถเมล์เองช่วงที่ผ่านมาผู้โดยสารมาร้องเรียนมาก อย่างเรื่องปรับปรุงป้ายรถเมล์ ไม่ยาก เริ่มจากสำรวจก่อนว่ามีป้ายที่ต้องปรับใหญ่กี่จุด ปรับปรุงเล็กน้อยกี่จุด แล้วมาจัดงบประมาณ นอกจากนี้ให้ 8 เขตเดินรถทำสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารทุก 6 เดือน เขตที่ได้ 2 อันดับสุดท้ายจะต้องถูกพิจารณา” นายชัชชาติกล่าว
สำหรับกรณีแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสารนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ได้ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เป็นสาเหตุของคนขับแท็กซี่ ทั้งเรื่องค่าเช่าสูงไปหรือไม่ อัตราค่ามิเตอร์เหมาะสมหรือไม่ เส้นทางไม่มีความพร้อมเรื่องสถานีบริการก๊าซ NGV หรือไม่ ซึ่งยอมรับว่าเรื่องค่าเช่านั้นไม่มีอำนาจควบคุม แต่กรณีอื่นจะต้องมีทางแก้ไข รวมถึงการจัดระเบียบที่จอดรถตู้โดยสารบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนของ กทพ.