xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก มี.ค.ฟื้นเป็นบวก 4.55% “พาณิชย์” ห่วงบาทแข็งทุบยอดไตรมาส 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส่งออก มี.ค.พลิกกลับมาบวก 4.55% หลังตลาดโลกฟื้นตัว “วัชรี” เผยบาทแข็งยังไม่กระทบส่งออกไตรมาสแรก แต่ไตรมาส 2 น่าห่วง เตรียมอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่มยอด

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือน มี.ค. 2556 มีมูลค่า 20,770 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือในรูปเงินบาทมีมูลค่า 615,356.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,636.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.52% ในรูปเงินบาทมูลค่า 649,233.6 ล้านบาท ลดลง 14.09% ส่งผลให้เดือน มี.ค.ไทยขาดดุลการค้า 867.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 33,877.2 ล้านบาท

ส่วนยอดส่งออกรวมไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 56,966.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% แต่ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.44% ขณะที่ยอดนำเข้ามีมูลค่า 64,877.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.44% หรือในรูปเงินบาทมี 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.78%

“ยอดส่งออกเดือน มี.ค.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ช่วยให้ภาคเอกชนภายในประเทศฟื้นตัว จึงมีการสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัว” นางวัชรีกล่าว

นางวัชรีกล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่ายอมรับว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยไตรมาสแรกค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3% ขณะที่ค่าเงินประเทศคู่แข่งมาเลเซีย เวียดนาม จีนกลับอ่อนค่าหมด แต่การส่งออกไตรมาสแรกยังกระทบไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปี แต่เป็นห่วงว่าในไตรมาส 2 อาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาทางรับมือ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะหามาตรการเพื่อกระตุ้นตลาดส่งออกเพิ่ม ซึ่งจะมีการเพิ่มความถี่ในการทำตลาดรองและตลาดศักยภาพ รวมถึงการนำผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ไปเจาะตลาดเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์คงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 8-9% โดยกำลังอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามภาวการณ์นำเข้า สถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าเพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกแล้ว ส่วนจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกหรือไม่นั้น ในช่วงปลายเดือน พ.ค.จะมีการหารือกันอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น