xs
xsm
sm
md
lg

บาทฉุดส่งออกก.พ. ปรับลดรอบ6เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บาทแข็งฉุดส่งออกก.พ.วูบเหลือมูลค่า 1.79 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.83% ลดครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่หอการค้าไทยตั้ง “อิสระ” บิ๊กมิตรผลเป็นประธานคนใหม่ ลั่นเดินหน้าพัฒนา SMEs ติดตามปัญหาค่าบาทก่อนถกรัฐแก้ พร้อมหนุนเดินหน้าลงทุน 2 ล้านล้าน

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนก.พ.2556 มีมูลค่า 1.79 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.83% เทียบกับก.พ.2555 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือนนับจากเดือนก.ย.2555 และคิดเป็นเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 5.29 แสนล้านบาท ลดลง 11.32% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 1.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% คิดเป็นเงินบาท นำเข้ามีมูลค่า 5.82 แสนล้านบาท ลดลง 0.78% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 1,557 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุลการค้า 5.33 หมื่นล้านบาท

ส่วนการส่งออกในช่วง 2 เดือนของปี 2556 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 3.61 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.09% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และคิดเป็นเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท ลดลง 0.13% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.24% คิดเป็นเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่า 1.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53% โดยไทยขาดดุลการค้าช่วง 2 เดือนมูลค่า 7,044 ล้านเหรียญสหรัฐหรือขาดดุล 2.29 แสนล้านบาท

สำหรับปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการส่งออก แต่การส่งออกในเดือนก.พ.ได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า และในเดือนต่อๆ ไป เห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกใน 2556 ขยายตัว 8-9% มูลค่า 2.47-2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกในช่วงกลางปีอีกครั้ง และในวันที่ 9 เม.ย.2556 จะมีการประชุมร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออก รวมทั้งหารือมาตรการเพื่อรับมือกับเงินบาทแข็งค่า

สำหรับรายละเอียดการส่งออกสินค้าในเดือนก.พ. พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวลดลง 13.5% สินค้าส่งออกลดลง ด้านตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลัก ลดลง 0.9% ขณะที่การนำเข้า พบว่า นำเข้าเชื้อเพลิงลดลง 17.3% สินค้าทุนนำเข้าลด 2.3% วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่ม 23.4% อุปโภคและบริโภคนำเข้าลด 5.4%ส่วนยานพาหนะอุปกรณ์และการขนส่งนำเข้าเพิ่ม 26.7%

“อิสระ”นั่งปธ.หอการค้าไทย

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าไทย ครั้งที่ 47 ได้ลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แทนชุดเดิมที่หมดวาระ โดยเลือกให้นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 23 พร้อมแต่งตั้งให้นายกลินท์ สารสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด รับตำแหน่งกรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ซึ่งกรรมการชุดใหม่ จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่ปี 56-57

นายอิสระ ในฐานะประธานหอการค้าไทยคนใหม่ กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการ ก็คือ การดูแลธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รวมถึงการติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากค่าเงินบาท ซึ่งในกลางเดือนเม.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ก่อนนำเสนอภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
โดยเบื้องต้นเอกชนต้องการให้รัฐบาลดูแลค่าบาทไม่ให้ผันผวนและแข็งค่าในอัตราสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เพราะทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน จะเป็นอันตรายต่อการส่งออก

ทั้งนี้ เห็นว่า รัฐควรจะมีการส่งสัญญาณเตือนให้วางแผนธุรกิจล่วงหน้า เช่น หากค่าเงินบาทแข็ง ก็แจ้งให้ผู้ประกอบเร่งนำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุน

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศไทยหยุดไปนาน แต่รัฐควรศึกษาและจัดทำรายละเอียดการใช้เงิน รวมถึงจัดอันดับความสำคัญของการลงทุนหรือการใช้เงินก่อนหรือหลัง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนของแผน ซึ่งภาคเอกชนจะเฝ้าติดตามแผนการทำงาน รวมถึงติดตามการคอรัปชั่นในการใช้เงินและลงทุนจากกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทด้วย

นอกจากนี้ ยังได้กำหนด 5 พันธกิจสำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ การสร้างสมองค์ความรู้และแบ่งปันสู่ภาคธุรกิจ การพัฒนาเพิ่มพูนทักษะความสามารถแก่ SMEs การพัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม
พร้อมทั้งยังได้แบ่งสายงานออกเป็น 17 สายงาน ที่มีรองประธานกรรมการและกรรมการรองเลขาธิการรับผิดชอบดูแล เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจให้มีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น