xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกบวก4.55%หวั่นค่าบาทฉุดQ3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ส่งออกมี.ค.พลิกกลับมาบวก 4.55% หลังตลาดโลกฟื้นตัว “วัชรี”เผยบาทแข็งยังไม่กระทบส่งออกไตรมาสแรก แต่ไตรมาส 2 น่าห่วง เตรียมอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่มยอด

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนมี.ค.2556 มีมูลค่า 20,770 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือในรูปเงินบาทมีมูลค่า 615,356.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,636.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11.52% ในรูปเงินบาทมูลค่า 649,233.6 ล้านบาท ลดลง 14.09% ส่งผลให้เดือนมี.ค. ไทยขาดดุลการค้า 867.1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นมูลค่า 33,877.2 ล้านบาท ส่วน 3 เดือนขาดดุลการค้า 7,911 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 262,904.8 ล้านบาท

ส่วนยอดส่งออกรวมไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 56,966.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% แต่ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.44% ขณะที่ยอดนำเข้า มีมูลค่า 64,877.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.44% หรือในรูปเงินบาทมี 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.78%

“ยอดส่งออกเดือนมี.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ช่วยให้ภาคเอกชนภายในประเทศฟื้นตัว จึงมีการสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัว”นางวัชรีกล่าว

นางวัชรีกล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่ายอมรับว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยไตรมาสแรกค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3% ขณะที่ค่าเงินประเทศคู่แข่งมาเลเซีย เวียดนาม จีนกลับอ่อนค่าหมด แต่การส่งออกไตรมาสแรกยังกระทบไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปี แต่เป็นห่วงว่าในไตรมาส 2 อาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาทางรับมือ
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ จะหามาตรการเพื่อกระตุ้นตลาดส่งออกเพิ่ม ซึ่งจะมีการเพิ่มความถี่ในการทำตลาดรองและตลาดศักยภาพ รวมถึงการนำผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ไปเจาะตลาดเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์คงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 8-9% โดยกำลังอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามภาวการณ์นำเข้า สถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้า เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกแล้ว ส่วนจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกหรือไม่นั้น ในช่วงปลายเดือนพ.ค.จะมีการหารือกันอีกครั้ง

สำหรับการส่งออกเดือนมี.ค. หากแยกเป็นรายหมวดสินค้าพบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวม เพิ่มขึ้น 0.5% โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว 22.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 72.1% ผักและผลไม้ 6.2% สินค้าส่งออกลดลง เช่น ยางพารา ลด 11.1% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ลด 2.5% กุ้งแช่แข็งและแปรรูปลด 24.9% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ลด 5.2% น้ำตาล ลด 32.2%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 3.7% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่ม 4.8% ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 15.8% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก 7.8% วัสดุก่อสร้าง 17.8% อัญมณีและเครื่องประดับ 32.7% เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า 4.2% เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์ 1.7% เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน 4.8% อาหารสัตว์เลี้ยง 5.4% สินค้าส่งออกลดลง เช่น
เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลด 12.9% สิ่งทอ ลด 4% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 0.5% สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ลด 2% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ลด 6.9%

ส่วนการส่งออกเป็นรายตลาด ในตลาดหลัก ภาพรวมลดลง 0.4% ได้แก่ ญี่ปุ่นลด 0.9% สหรัฐฯ ลด 4.7% แต่สหภาพยุโรปสมาชิกเพิ่ม 5.5% ตลาดศักยภาพสูงภาพรวมเพิ่มขึ้น 6.1 % ตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน 8.9% จีน1.1% ฮ่องกง 24.8% ตลาดที่ลดลง ได้แก่ เอเชียใต้ 2.8% เกาหลีใต้ 12.7% ไต้หวัน 14.5% ตลาดศักยภาพระดับรองภาพรวมเพิ่มขึ้น 12.5% ตลาดที่เพิ่ม ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย 39.1% ตะวันออกกลาง 12.4% ทวีปแอฟริกา10.2%ลาตินอเมริกา 2.4% แคนาดา 6.7% ตลาดที่ลดลงได้แก่ สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 19.7% รัสเซียและกลุ่มสหภาพโซเวียตเดิม 9.1%

ด้านสินค้านำเข้าหมวดที่ลดลง ได้แก่ หมวดเชื้อเพลิง 21.9% หมวดสินค้าทุน 5.3% หมวดวัตถุดิบกับกึ่งสำเร็จรูป 13.9% หมวดอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ 42.5% ส่วนหมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ หมวดอุปโภคบริโภค 2.2% และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 0.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น