- ผู้ฝากเงินของ Bank of Cyprus ที่มีจำนวนเงินฝากเกิน 100,000 ยูโร อาจต้องรับความเสียหายถึง 60% จากแผนปฏิรูปธนาคาร โดยเงินฝากจะถูกแบ่งเป็นสามส่วน ดังนี้
1) 37.5% ของเงินฝากจะถูกแปลงเป็นหุ้นสามัญให้กับเจ้าของบัญชี
2) 22.5% จะถูกสำรองไว้จนกว่าการปฏิรูปธนาคารจะแล้วเสร็จ
3) 40% ที่เหลือจะถูกกักไว้ในธนาคารเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อป้องกันภาวะเงินไหลออก ซึ่งอาจทำให้เกิดความโกลาหลให้กับภาคการเงินของไซปรัสได้
- รัฐบาลรัสเซียประกาศจะไม่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจต่างๆที่สูญเสียเงินในไซปรัส ตามความตั้งใจของรัฐบาลที่จะจัดการอย่างเด็ดขาดกับการโยกย้ายเงินทุนไปยังต่างประเทศ
- Markit รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของกรีซเดือน มี.ค.ทรุดตัวลงสู่ 42.1 จาก 43.0 ในเดือน ก.พ. โดยยอดสั่งซื้อใหม่ ยอดการจ้างงาน และยอดการผลิตต่างหดตัวลง
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า กิจกรรมเศรษฐกิจภาคการผลิตของเดือน มี.ค. ชะลอตัวลงสู่ 51.3 จาก 54.2 ในเดือน ก.พ. โดยยอดคำสั่งซื้อใหม่และสินค้าคงคลังลดลง อย่างไรก็ตาม การที่ยังสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐยังคงขยายตัว
- ค่าใช้จ่ายภาคก่อสร้างของสหรัฐเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 1.2% สู่ระดับ 8.85 แสนล้านดอลล่าร์ เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. สูงสุดในรอบกว่า 4 ปี จากการสร้างบ้านและสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน มี.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ 50.9 จาก 50.1 ในเดือน ก.พ. ในขณะที่ PMI จากการสำรวจของ HSBC เพิ่มขึ้นสู่ 51.6 จาก 50.4 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจึงส่งผลบวกต่อภาคการผลิต
- ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น -8 จาก -12 ในไตรมาส 4/2555สะท้อนว่าภาคเอกชนมีมุมมองเชิงบวกต่อการอ่อนค่าของเยนและนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นโดยเชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจได้
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้เดือน มี.ค. +1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ส.ค. 2555 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงส่งผลให้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อเบาบาง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ ธ.กลางเกาหลีใต้จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้สำรวจโดย HSBC/Markit ในเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ 52.0 จาก 50.9 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 1 ปี ขณะที่ยอดส่งออกใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มที่จะฟื้นตัว
- ก.โยธาธิการของเกาหลีใต้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซา เช่น ยกเว้นภาษีกำไรจากอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นภาษีการครอบครองอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ซื้อบ้าน หลังแรก ขยายขนาดของกองทุนสาธารณะเพื่อปล่อยกู้แก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกเป็น 5 ล้านล้านวอนจากเดิม 2.5 ล้านล้านวอน และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาอยู่ในช่วง 3.3-3.5% จากปัจจุบันที่ 3.8%
- ประธานาธิบดี ปาร์ค กึน เฮ ของเกาหลีใต้ ประกาศพร้อมใช้มาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวหากมีการยั่วยุที่จากเกาหลีเหนือ
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอินโดนีเซีย เดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นสู่ 5.90% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธ.กลางที่เป็น 3.5-5.5% อันเนื่องมาจากราคาอาหารและยาสูบที่เพิ่มขึ้น
- จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าในไทยเดือน ก.พ. ขยายตัว 25.6% เมื่อเทียบรายปี สู่ 2.3 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย และรัสเซีย ส่งผลให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 210 แสนล้านบาท ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 17.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
- ก.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของไทยเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 2.69% เมื่อเทียบเป็นรายปี (ลดลงจาก ก.พ.ที่เป็น 3.23%) ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสด และพลังงานเพิ่มขึ้น 1.23% โดยแรงกดดันด้านราคายังคงไม่สูง เนื่องจากมีการควบคุมราคาสินค้าและพลังงานจากรัฐบาล สำหรับเงินอัตราเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.8-3.4%
- SET Index ปิดที่ 1,549.55 จุด ลดลง 11.51 จุด หรือ -0.74% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 43,856.87 ล้านบาทนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 915.21 ล้าน โดยดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน และมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารและสื่อสาร ทั้งนี้ นักลงทุนยังกังวลเรื่องยุโรปและปัญหาระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมไปถึงรอดูผลการประชุม กนง. ในวันที่ 3 เม.ย.นี้
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในตราสารอายุ 3 ปีขึ้นไป ประมาณ 0.01% มูลค่าการซื้อขายรวม 40,934 ล้านบาท โดยนักลงทุนยังคงรอผลการประชุม กนง. ในวันพุธนี้ สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 1 เดือน/3เดือน/6เดือน 75,000 ล้านบาท
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75%ในการประชุม 3 เม.ย.นี้ เนื่องจากเป็นระดับที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดี นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
- ดัชนีความเชื่อมั่นตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ลดลงสู่ -27 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ +43 ในการสำรวจครั้งก่อน เนื่องจากมีความวิตกว่าการคาดการณ์เรื่องการผ่อนคลายนโยบายการเงินในเชิงรุกของ ธ.กลางญี่ปุ่น อาจจะทำให้มีแรงซื้อในตลาดพันธบัตรมากเกินไป
- Paul Krugman
(David Stockman อดีต ผ.อ. สำนักงบประมาณในสมัย ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เขียนบทความวิจารณ์ว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับหายนะและมีอนาคตที่มืดมน จากหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล การพิมพ์เงินสู่ระบบเป็นจำนวนมาก และรวมถึงลัทธิทุนนิยม)
“David Stockman เป็นชายแก่คร่ำครึ เพราะหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในปี 1933 ที่สหรัฐยกเลิกการใช้ระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard ... กำหนดค่าเงินเทียบกับทองคำและกำหนดปริมาณเงินให้เป็นสัดส่วนคงที่กับปริมาณทองคำที่มี) ก็มีคนคาดการณ์การกันไปว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างยิ่งยวด
แต่ 80 ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้แย่อย่างที่คาด และวิกฤตครั้งล่าสุดนี้ก็ เช่นกัน เงินดอลล่าร์ไม่ได้ล่มสลาย อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น ภาคสังหาริมทรัพย์สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ และภาคการเงินก็เริ่มกลับมาเป็นบวกกับระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
การคาดการณ์อย่างคร่ำครึนี้ส่งผลให้นักลงทุนหลายรายที่มีความคิดคล้ายกับ Stockman ต่างต้องเสีย โอกาสในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมานี้”
- Benjamin Graham
“นักลงทุนรายย่อยควรทำตนเป็นผู้ลงทุนจริงๆ ไม่ใช่เป็นนักเก็งกำไร” (ต้องมีเหตุผลสนับสนุนอันหนักแน่นในแต่ละครั้งที่ซื้อ ในราคาที่พึงพอใจเพราะรู้จริงว่าสิ่งที่ได้มานั้นมีค่ามากกว่าเงินที่จ่าย)
- Peter Lynch
“จงรู้ว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทอะไร และรู้ว่าทำไมเราถึงเข้าไปซื้อมัน” (ทำการบ้านให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน และอย่าลืมประเมินพอร์ตลงทุนเป็นครั้งคราวให้สม่ำเสมอ เพราะการลงทุนที่ดีในวันนี้อาจเป็นการลงทุนที่ล้มเหลวในวันหน้า)
- Phillip Fisher
“ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยรายย่อยที่รู้ราคาหุ้นทุกตัว แต่ไม่เคยรู้คุณค่าหุ้นเลยสักตัวเดียว”