- ไซปรัส และ สหภาพยุโรป (EU) บรรลุข้อตกลงพื้นฐานเกี่ยวกับเงื่อนไขมาตรการให้ความช่วยเหลือ 1 หมื่นล้านยูโร เพื่อกู้วิกฤตภาคการธนาคารของไซปรัส โดยข้อตกลงนี้จะส่งผลให้ Popular Bank of Cyprus (ไลกิ) ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของไซปรัสต้องปิดกิจการ โดยบัญชีเงินฝากที่ต่ำกว่า 100,000 ยูโรจะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน และถูกโอนไปยัง Bank of Cyprus (BoC) ซึ่งเป็น ธ. อันดับ 1 เพื่อจัดตั้งธนาคารที่มีสินทรัพย์ดี (good bank) ส่วนบัญชีเงินฝากที่สูงกว่า 100,000 ยูโรของลูกค้าทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งไม่ได้รับการค้ำประกัน จะถูกอายัดไว้ และนำไปชำระหนี้ของธนาคารไลกิ รวมถึงนำไปเพิ่มทุนให้กับ BoC ผ่านการแปลงเงินฝากเป็นหุ้น
- IMF ระบุว่า ข้อตกลงเพื่อปล่อยกู้แก่ไซปรัสครอบคลุมและน่าเชื่อถือ เพราะจะแก้ปัญหาที่รากเหง้า ซึ่งจะเรียกคืนความเชื่อมั่นในระบบธนาคารอันเป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของไซปรัสได้ โดยคาดว่าเงินช่วยเหลือก้อนแรกจะถูกโอนให้แก่ไซปรัสภายใน เดือน พ.ค.
- ธ. พาณิชย์บางแห่งของไซปรัส ประกาศจำกัดการถอนเงินสดจากตู้ ATM ได้ 100 ยูโรต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอิตาลีในเดือน มี.ค. ลดลงสู่ 82.5 จาก 86 ในเดือน ก.พ. แสดงว่าผู้บริโภคมีความกังวลและไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานและภาวะเศรษฐกิจในอนาคต
- FED สาขาชิคาโก รายงานว่า ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตทั่วสหรัฐในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นสู่ 0.44 จาก -0.49 ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิตและจ้างงาน
- IMF มีแผนปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้จากเดิมที่ขยายตัว 2%เป็น 1.7% เพราะการขึ้นภาษีเงินได้และการตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ในระดับ 3% ในปีหน้า ดังที่เคยคาดการณ์ไว้
- มูลค่าสินทรัพย์ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นประจำไตรมาส 4 ปีก่อนเพิ่มขึ้น 3.1% มาอยู่ที่ 1,547 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากราคาหุ้นของบริษัท จดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลดีให้ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นได้
- รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งงบประมาณ 1.35 พันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนรายได้น้อยและนักศึกษาที่กู้เงินเรียน หลังจากมีสัญญาณว่าภาวะหนี้เสียภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสิงคโปร์ในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 4.9% (เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 3.6%) อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าขนส่งทางบกของภาคเอกชนเป็นปัจจัยหลัก
- ธ.กลางเวียดนาม ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 9% เป็น 8% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอ้างอิงจาก8% เป็น 7.5% เพื่อกระตุ้นการกู้ยืมและการบริโภคในประเทศ หลังจากที่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อลดลง ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี
- SET Index ปิดที่ 1,523.95จุด เพิ่มขึ้น 44.98 จุด หรือ +3.04% ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 58,345.60 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 718.08 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ใน แดนบวกตลอดทั้งวัน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับกรณีของไซปรัสที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ รวมถึงมีแรงซื้อกลับเข้ามาหลังจากที่ดัชนีปรับตัวลดลงไปอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในช่วงระหว่าง -0.02% ถึง 0.00% ในรุ่นอายุคงเหลือมากกว่า 5 ปี สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 1 เดือน/3เดือน/6 เดือน มูลค่ารวม 75,000 ล้านบาท
- อินเดียยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ จากเดิมที่สามารถลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และหุ้นกู้ภาคเอกชน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด