xs
xsm
sm
md
lg

money guru : ไซปรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์
ผู้ช่วยผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายตราสารทุนต่างประเทศ
saowaluck@mfcfund.com

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2556 ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบเชิงลบด้านจิตวิทยาจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มยูโรอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้นักลงทุนมีความกังวลกับสถานการณ์ของสาธารณรัฐไซปรัส ซึ่งเป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มยูโรโซนที่ขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรปและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หลังจากที่ประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปนได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินไปก่อนหน้า แต่เงื่อนไขเพื่อขอรับความช่วยเหลือของสาธารณรัฐไซปรัสแตกต่างจากทั้ง 4 ประเทศโดยสิ้นเชิง เพราะต้องมีการเก็บภาษีผู้ฝากเงินกับธนาคาร เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีจากผู้ฝากเงินจำนวน 5.8 พันล้านยูโรเพื่อนำไปแก้ปัญหาธนาคาร

นอกเหนือไปจากเงื่อนไขการปรับลดยอดดุลงบประมาณ ลดขนาดของภาคการธนาคารที่มีปัญหา ปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยล่าสุดสหภาพยุโรปได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโรเพื่อนำมาแก้ปัญหาภาคธนาคาร โดยมีเงื่อนไขด้วยการปรับโครงสร้างธนาคาร ซึ่ง Population Bank of Cyprus หรือ Laiki ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของสาธารณรัฐไซปรัสต้องปิดกิจการลง โดยสินทรัพย์ดีจะถูกโอนไปยัง Bank of Cyprus ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุด ส่วนสินทรัพย์ไม่ดีหรือหนี้เสียจะค่อย ๆ จัดการแก้ไขไปในที่สุด ภายใต้ข้อตกลงนี้ บัญชีเงินฝากไม่เกิน 1 แสนยูโรจะได้รับการคุ้มครอง ส่วนยอดเงินฝากที่สูงกว่า 100,000 ยูโรใน Popular Bank of Cyprus และ Bank of Cyprus ซึ่งเป็นยอดเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันภายใต้กฎหมายอียู จะถูกสั่งอายัด และจะถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

สาธารณรัฐไซปรัส เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มยูโรโซน มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กมากเพียง 0.2% ของจีดีพีของกลุ่มยูโรโซน เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปใต้ ลักษณะของประเทศเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอยู่ทางตอนใต้ของประเทศตรุกี อยู่ทางตะวันตกของชายฝั่งประเทศซีเรีย และอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซ ไซปรัสลงนามความตกลงเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2546 และเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547

เศรษฐกิจของสาธารณรัฐไซปรัสมีความหลากลาย โดยนโยบายสำคัญของรัฐบาลไซปรัส คือ ทำให้ประเทศเป็นฐานสำหรับทำธุรกิจของชาวต่างชาติ อุตสาหกรรมที่สำคัญมีความหลากหลาย ได้แก่ การท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์และแร่ยิปซั่ม การซ่อมแซมเรือและประกอบใหม่ สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น แม้จะมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาหนี้ในยุโรป โดยในปี 2555 สาธารณรัฐไซปรัสประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว -2.4% (yoy) เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 0.5% (yoy) เนื่องจากรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด และยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศกรีซ เนื่องจากประเทศกรีซเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญและเป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 24.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของสาธารณรัฐไซปรัส

นอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศกรีซแล้ว ภาคธนาคารของสาธารณรัฐไซปรัสยังมีสถานะเป็นผู้ถือครองพันธบัตรกรีซในระดับที่สูงกว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซภายใต้มาตรการช่วยเหลือรอบ 2 สร้างความเสียหายต่อระบบธนาคารของไซปรัส ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทซ์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไซปรัสลง 1 ขั้น สู่ระดับ BB+ จากเดิมที่ BBB- และคงแนวโน้มอันดับเครดิตเชิงลบ ซึ่งหมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่ไซปรัสจะถูกลดอันดับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยก่อนหน้านี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง คือ มูดี้ส์ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ได้ประกาศลดอันดับไซปรัสลงสู่ระดับต่ำกว่าการลงทุนไปแล้ว เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ประกอบกับภาคการเงินการธนาคารที่ประสบปัญหาทำให้รัฐบาลไซปรัสจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และองค์กรการเงินระหว่างประเทศเพื่อนำไปเพิ่มทุนให้กับภาคธนาคาร

แม้ว่าเศรษฐกิจไซปรัสมีขนาดเล็กและคาดว่าผลกระทบต่อตลาดการเงินจะมีจำกัด การขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรปเป็นสัญญาณหนึ่งว่า วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปอาจยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข และภาคเศรษฐกิจจริงยังอาจไม่ฟื้นตัวได้รวดเร็วในระยะอันใกล้ ซึ่งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากความอ่อนแอทางภาคเศรษฐกิจ การคลัง และการธนาคาร


กำลังโหลดความคิดเห็น