เอเอฟพี - แม้ผู้นำชาติยุโรปจะสามารถคลอดแผนปรับลดงบประมาณสหภาพยุโรประหว่างปี 2014-2020 ได้สำเร็จ ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(8) แต่หนทางข้างหน้าอาจไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อผู้นำในสภายุโรปซึ่งมีอำนาจโหวตรับรองขั้นสุดท้ายประกาศคัดค้านหัวชนฝา
ผู้นำสภายุโรปต่างปฏิเสธข้อตกลงลดงบประมาณของสหภาพลง 3% ในช่วง 7 ปีข้างหน้า โดยชี้ว่าจะเป็นการบั่นทอนอนาคตของอียู และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย หากมาตรการดังกล่าวมีผลทำให้บรัสเซลส์ต้องขาดดุลงบประมาณ
ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอนซึ่งเป็นเสมือนกฎหมายแม่บทของสหภาพยุโรปทั้ง 27 ชาติ สภายุโรปถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับแผนงบประมาณอียู และแผนตัดลดงบประมาณ 3% ที่ผู้นำยุโรปเห็นพ้องก็จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภายุโรปเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้
สภายุโรปมีกำหนดโหวตร่างงบประมาณสำหรับปี 2014-2020 ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่ง เฮอร์มาน แวน รอมปุย ประธานอียู ก็พยายามใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังขณะประกาศข้อตกลงเมื่อวันศุกร์(8) โดยชี้ว่ามติอันเป็นผลจากการเจรจาข้ามวันข้ามคืนนั้นยังต้องการไฟเขียวจากสภายุโรปอีกขั้นหนึ่ง
รอมปุย ยอมรับว่า ข้อสรุปที่ได้ “อาจไม่ใช่แผนงบประมาณที่สมบูรณ์แบบ” แต่ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย พร้อมเรียกร้องให้สภายุโรป “ไตร่ตรองให้ดี” ถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจ, การจ้างงาน และความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ก่อนจะตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอของผู้นำอียู
อย่างไรก็ดี มาร์ติน ชุลซ์ ประธานสภายุโรป ยืนยันว่า การตัดงบประมาณเป็นสิ่งที่สภายุโรปไม่อาจรับได้
ชุลซ์ ประกาศจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มการประชุมสุดยอดผู้นำอียูเมื่อวันศุกร์(8) และยังกล่าวเตือนตรงๆภายหลังว่า ตนไม่อาจเห็นชอบกับแผนที่จะนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณ ซึ่งขัดกับกฎหมายอียู
แกนนำกลุ่มสมาชิกสภายุโรป 4 กลุ่มใหญ่ออกมาสนับสนุนท่าทีของ ชุลซ์ และปฏิเสธแผนของผู้นำอียูทันที
“สภาไม่อาจรับข้อตกลงในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปวันนี้ได้ เรารู้สึกเสียใจที่ประธาน แวน รอมปุย ไม่ได้หารือและเจรจากับเราก่อนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา” แถลงการณ์จากผู้นำในสภายุโรป ระบุ
ความเป็นไปได้ที่สภายุโรปจะโหวตร่างงบประมาณด้วยวิธีลงคะแนนลับ ซึ่ง ชุลซ์ ก็อ้างว่าตนมีเสียงสนับสนุนมากพอที่จะทำเช่นนั้น อาจทำให้ผู้นำอียูต้องหยุดคิดและเตรียมทำใจ หากข้อตกลงที่ฝ่าฟันมาได้จะถูกสภาปฏิเสธในที่สุด
แหล่งข่าวในอียูซึ่งตระหนักถึงปัญหานี้ให้ความเห็นว่า “ความหวังที่ดีที่สุดคือ สภายุโรปให้ความเห็นชอบ (กับข้อเสนอในปัจจุบัน) แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก”
“ส่วนสถานการณ์ขั้นเลวร้ายก็คือ สภาโหวต “ไม่” ซึ่งในกรณีนั้น อียูจะปราศจากแผนงบประมาณ และผู้นำยุโรปจะต้องกลับมาประชุมเพื่อแก้ร่างงบประมาณกันใหม่”
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เลอ ซัวร์ ในเบลเยียม ชี้ว่า ข้อตกลงตัดงบประมาณ 3% ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย และเป็น “ความล้มเหลวทางการเมือง” ของยุโรป แต่สภายุโรปยังมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น และหากข้อเสนอของผู้นำอียูถูกปฏิเสธจริงก็อาจต้องมีการดึงงบจากปี 2013 ไปใช้จนถึงปี 2014 หรือนานกว่านั้น
ข้อตกลงลดงบประมาณ 3% ระหว่างปี 2014-2020 ตั้งเพดานค่าใช้จ่ายของสหภาพยุโรปในช่วง 7 ปีหน้าไว้ที่ 908,400 ล้านยูโร และสูงสุดไม่เกิน 960,000 ล้านยูโร