>>>คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
วันพฤหัสบดีนี้ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแห่งความชื่นมื่นของผู้ที่กำลังมองโลกเป็นสีชมพู ดิฉันจึงขอเล่าเรื่องราวการกำเนิดของเทพธิดาแห่งความรักของฝรั่งผ่านผลงานศิลปะให้ท่านได้อ่านเล่นในวันนี้
การกำเนิดของ เทพนารีอโฟรไดท์ (Aphrodite ในภาษากรีก) หรือ วีนัส (Venus ในภาษาโรมัน) ค่อนข้างพิลึกพิลั่นและโหดร้ายพอๆ กัน เรื่องมีอยู่ว่า หลังจาก เทพบิดรอูรานอส (Ouranos ในภาษากรีก) หรือ ยูเรนัส (Uranus ในภาษาโรมัน) และเทพมารดรจีอา (Gaea ในภาษากรีก) หรือ จี (Ge ในภาษาโรมัน) ได้ให้กำเนิดพระราชโอรส 6 องค์ และพระราชธิดา 6 องค์ ซึ่งต่อมาทั้ง 12 องค์นี้เรียกรวมกันว่า คณะเทพไทแทน (Titan)
เทพบิดรอูรานอสทรงคิดหวั่นวิตกว่า สักวันหนึ่งพระองค์จะทรงถูกโค่นราชบัลลังก์ จึงทรงตัดสินพระทัยโยนคณะเทพไทแทนลงไปในเหวลึกใต้บาดาลอันมืดมิดที่เรียกว่า ดินแดนทาร์ทะรัส (Tartarus) เพื่อจองจำไว้ชั่วนิรันดร์ ไม่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่เทพมารดรจีอาให้กำเนิดพระราชโอรสหรือพระราชธิดา เทพบิดรอูรานอสก็จะทรงจับเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์โยนลงไปในดินแดนทาร์ทะรัสทุกครั้ง ซึ่งสร้างความโกรธแค้นและเศร้าเสียใจแก่เทพมารดรจีอายิ่งนัก
วันหนึ่งเทพมารดรจีอาได้เสด็จแอบลงไปยังดินแดนทาร์ทะรัส และได้ทรงปล่อย เทพโครนัส (Cronus ในภาษากรีก) หรือ แซเทอร์น (Saturn ในภาษาโรมัน) พระราชโอรสองค์สุดท้องในคณะเทพไทแทน ให้เป็นอิสระ และทรงมอบเคียววิเศษเป็นอาวุธให้เทพโครนัสทรงนำไปต่อกรกับพระราชบิดา เมื่อเทพโครนัสกระทำการโค่นพระราชอำนาจของเทพบิดรอูรานอสได้สำเร็จ จึงทรงพันธนาการพระราชบิดาอย่างแน่นหนา และทรงใช้เคียววิเศษตัดองคชาติของเทพบิดรอูรานอส แล้วเหวี่ยงทิ้งลงมายังมหาสมุทรเบื้องล่างตรงบริเวณใกล้ๆ กับ เกาะไซเธอรา (Cythera) ในปัจจุบันนี้
เมื่อองคชาติของเทพบิดรอูรานอสกระทบลงกับผิวน้ำในมหาสมุทรจนเกิดฟองแตกกระจาย ทันใดนั้นสิ่งมหัศจรรย์พันลึกก็ได้อุบัติขึ้น นั่นคือ เทพนารีผู้งดงามผุดผ่องราวหยาดน้ำค้างต้องแสงตะวันแรกได้ผุดขึ้นมาจากฟองน้ำนั้น ด้วยเหตุนี้ ชาวกรีกจึงเรียกขานพระนามของเทพนารีพระองค์นี้ว่า “Aphrodite” อันหมายความว่า “ผู้กำเนิดจากฟองสมุทร” เพราะ “aphros” แปลว่า “ฟอง” จากนั้นลมตะวันตกก็พัดพาพระนางไปขึ้นฝั่ง ณ เกาะไซปรัส (Cyprus)
ด้วยเหตุนี้ เกาะไซเธอราและเกาะไซปรัส จึงกลายเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพนารีอโฟรไดท์ บางครั้งก็มีผู้เรียกขานพระนามของเทพนารีพระองค์นี้ตามชื่อเกาะทั้งสองนี้ว่า “ไซเธอเรีย” (Cytherea) หรือ “ไซเพรียน” (Cyprian) ซึ่งหมายถึง “ผู้มาจากเกาะไซเธอรา หรือ เกาะไซปรัส” นั่นเอง
ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี นำเสนอภาพเทพธิดาแห่งความรัก ที่งามผุดผ่องน่าทะนุถนอม ประทับยืนบนเปลือกหอย (รูปที่ 1) ที่กำลังถูกพัด เป่าเข้าสู่ชายฝั่งแห่งเกาะไซปรัส โดย เซฟเฟอรัส (Zephyrus) เทพเจ้าแห่งสายลมตะวันตกและพระชายาคือ โคลริส (Chloris) หรือ ฟลอรา (Flora) เทพนารีแห่งมวลบุปผชาติ ยิ่งเข้าใกล้ชายฝั่งอันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ท้าวเธอก็ยิ่งรู้สึกขวยเขินสะเทิ้นอายในความเปลือยเปล่าแห่งพระวรกาย แต่ ณ ชายฝั่งของเกาะไซปรัส แธลโล (Thallo) เทพนารีแห่งฤดูใบไม้ผลิ กำลังเฝ้ารอรับเสด็จพร้อมคลี่แพรผ้าสีสดใสลายดอกไม้ร่วง ชายผ้าปักลวดลายด้วยดิ้นทองอย่างงดงามสำหรับเตรียมห่มคลุมพระวรกายอันบอบบาง เปลือยเปล่า และงดงาม ให้รอดพ้นจากสายตาของมวลมนุษย์
องค์ประกอบทุกตัวภายในภาพ “กำเนิดวีนัส” ของ บอตติเชลลี เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวที่สอดประสานคล้องจองกันอย่างมีสุนทรียภาพไม่ว่าจะเป็นท่วงท่าและการเคลื่อนไหวอันอ่อนช้อยงดงาม ความงามสง่าของเส้นขอบนอกที่ลื่นไหลเป็นอิสระของรูปทรง และเส้นผมที่ยาวสยายนุ่มสลวยและปลิวไสวไปตามสายลมของเทพนารี รวมทั้งการปรากฏกายของเทพเจ้าแห่งสายลมและพระชายาที่เกี่ยวกระหวัดรัดรึงเป็นหนึ่งเดียวกันในนภากาศ การโบกสะบัดของแพรผ้าสีสดท่ามกลางสายลมที่พัดผ่าน และริ้วคลื่นที่ม้วนตัวเข้าสู่ฝั่งเป็นระรอก
ภายในภาพปรากฏสัญลักษณ์ของเทพนารีอโฟรไดท์หลายอย่าง เช่น ดอกกุหลาบสีชมพู ที่โปรยปรายลงมาพร้อมกับลมเป่าของเทพนารีแห่งมวลบุปผชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่สามารถพิชิตทุกสิ่งในโลก หอยเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และอารมณ์ปรารถนาอันร้อนแรง
เทพนารีอโฟรไดท์ คือเทพธิดาแห่งความรักและความงดงาม พระนางสามารถสะกดเทพและมนุษย์ให้ลุ่มหลงในความรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น และบดบังปัญญาของผู้ชาญฉลาดให้กลายเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญาไปได้ในพริบตา เทพนารีอโฟรไดท์จะเฝ้าหัวเราะเยาะชายชาตรีทั้งเทพและมนุษย์ ผู้ตกอยู่ในวังวนแห่งห้วงพิศวาสอันเกิดจากการหว่านเสน่ห์ของท้าวเธออย่างสำราญใจ
เรื่องราวความเจ้าชู้อย่างร้ายกาจ มารยาพิศวาสอันเหนือชั้น และเสน่ห์อันร้อนแรงและรัดรึงใจจนยากจะต้านทานของเทพนารีอโฟรไดท์ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินตะวันตกหลายยุคหลายสมัย ดังเช่น อโฟรไดท์แห่งซนิดุส (Aphrodite of Cnidus รูปที่ 2) ผลงานของ แพรกซิเทเลส (Praxiteles) ประติมากรเอกของกรีก ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพ “กำเนิดวีนัส” ให้กับบอตติเชลลี หรือ วีนัสแห่งมิโล (Venus of Milo รูปที่ 3) ที่แสนจะเซ็กซี่ เพราะผ้าผ่อนที่พันร่างกายส่วนล่างของพระนางดูราวกับจะลื่นหลุดลงมาได้ทุกเมื่อ หรือ กำเนิดวีนัส (The Birth of Venus รูปที่ 4) ของ อเล็กซองเดร คาบาเนล (Alexandre Cabanel) จิตรกรเอกชาวฝรั่งเศส ซึ่งนำเสนอภาพเทพธิดาวีนัสกำลังนอนระทวยกายบนยอดคลื่นและฟองน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล
ขณะที่พลังแห่งชีวิตค่อยๆ เริ่มแผ่ซ่านทั่วสรรพางค์กาย ท้าวเธอทรงยกพระกรขึ้นป้องดวงเนตรจากแสงตะวันอันเจิดจ้าด้วยความงุนงงโดยมิทันได้ใส่ใจกับความยินดีปรีดาของเหล่าเทวดาน้อยๆ ซึ่งเหาะวนเวียนอยู่กลางห้วงนภากาศเหนือสรีระอันเปลือยเปล่าและเย้ายวนใจของพระนาง
หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์
Sandro Botticelli จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี มีชีวิตราว ค.ศ. 1445-1510
Praxiteles ประติมากรเอกของกรีก ชาวเอเธนส์ มีชีวิตราวศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล มีชื่อเสียงโด่งดังมากในการสร้างรูปประติมากรรมซึ่งงดงามด้วยสัดส่วนและการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลมากกว่าใคร และเป็นประติมากรกรีกผู้สลักรูปสตรีเปลือยเป็นคนแรก ประติมากรรมรูป “Aphrodite of Cnidus” ของเขาได้รับการสรรเสริญจาก Plinius นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันว่าเป็นประติมากรรมซึ่งงดงามที่สุด
Alexandre Cabanel จิตรกรเอกชาวฝรั่งเศสแห่งยุคสัจนิยมมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1823-1889
Realism หรือศิลปะสัจนิยม เป็นรูปแบบการสร้างงานศิลปะที่เป็นกระแสต่อต้านการสร้างงานศิลปะเชิงประวัติศาสตร์และแนวอุดมคติของศิลปะคลาสสิกใหม่ที่เคร่งกฎเกณฑ์ตามแบบคลาสสิกและศิลปะแนวโรแมนติค แพร่หลายในทวีปยุโรปประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)
ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย
พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน
พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย
ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD
เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ "ศิลปะคลาสสิก" ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี
และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ "เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี" ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา
ติดตามอ่าน ...108-1000 - ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
วันพฤหัสบดีนี้ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแห่งความชื่นมื่นของผู้ที่กำลังมองโลกเป็นสีชมพู ดิฉันจึงขอเล่าเรื่องราวการกำเนิดของเทพธิดาแห่งความรักของฝรั่งผ่านผลงานศิลปะให้ท่านได้อ่านเล่นในวันนี้
การกำเนิดของ เทพนารีอโฟรไดท์ (Aphrodite ในภาษากรีก) หรือ วีนัส (Venus ในภาษาโรมัน) ค่อนข้างพิลึกพิลั่นและโหดร้ายพอๆ กัน เรื่องมีอยู่ว่า หลังจาก เทพบิดรอูรานอส (Ouranos ในภาษากรีก) หรือ ยูเรนัส (Uranus ในภาษาโรมัน) และเทพมารดรจีอา (Gaea ในภาษากรีก) หรือ จี (Ge ในภาษาโรมัน) ได้ให้กำเนิดพระราชโอรส 6 องค์ และพระราชธิดา 6 องค์ ซึ่งต่อมาทั้ง 12 องค์นี้เรียกรวมกันว่า คณะเทพไทแทน (Titan)
เทพบิดรอูรานอสทรงคิดหวั่นวิตกว่า สักวันหนึ่งพระองค์จะทรงถูกโค่นราชบัลลังก์ จึงทรงตัดสินพระทัยโยนคณะเทพไทแทนลงไปในเหวลึกใต้บาดาลอันมืดมิดที่เรียกว่า ดินแดนทาร์ทะรัส (Tartarus) เพื่อจองจำไว้ชั่วนิรันดร์ ไม่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่เทพมารดรจีอาให้กำเนิดพระราชโอรสหรือพระราชธิดา เทพบิดรอูรานอสก็จะทรงจับเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์โยนลงไปในดินแดนทาร์ทะรัสทุกครั้ง ซึ่งสร้างความโกรธแค้นและเศร้าเสียใจแก่เทพมารดรจีอายิ่งนัก
วันหนึ่งเทพมารดรจีอาได้เสด็จแอบลงไปยังดินแดนทาร์ทะรัส และได้ทรงปล่อย เทพโครนัส (Cronus ในภาษากรีก) หรือ แซเทอร์น (Saturn ในภาษาโรมัน) พระราชโอรสองค์สุดท้องในคณะเทพไทแทน ให้เป็นอิสระ และทรงมอบเคียววิเศษเป็นอาวุธให้เทพโครนัสทรงนำไปต่อกรกับพระราชบิดา เมื่อเทพโครนัสกระทำการโค่นพระราชอำนาจของเทพบิดรอูรานอสได้สำเร็จ จึงทรงพันธนาการพระราชบิดาอย่างแน่นหนา และทรงใช้เคียววิเศษตัดองคชาติของเทพบิดรอูรานอส แล้วเหวี่ยงทิ้งลงมายังมหาสมุทรเบื้องล่างตรงบริเวณใกล้ๆ กับ เกาะไซเธอรา (Cythera) ในปัจจุบันนี้
เมื่อองคชาติของเทพบิดรอูรานอสกระทบลงกับผิวน้ำในมหาสมุทรจนเกิดฟองแตกกระจาย ทันใดนั้นสิ่งมหัศจรรย์พันลึกก็ได้อุบัติขึ้น นั่นคือ เทพนารีผู้งดงามผุดผ่องราวหยาดน้ำค้างต้องแสงตะวันแรกได้ผุดขึ้นมาจากฟองน้ำนั้น ด้วยเหตุนี้ ชาวกรีกจึงเรียกขานพระนามของเทพนารีพระองค์นี้ว่า “Aphrodite” อันหมายความว่า “ผู้กำเนิดจากฟองสมุทร” เพราะ “aphros” แปลว่า “ฟอง” จากนั้นลมตะวันตกก็พัดพาพระนางไปขึ้นฝั่ง ณ เกาะไซปรัส (Cyprus)
ด้วยเหตุนี้ เกาะไซเธอราและเกาะไซปรัส จึงกลายเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพนารีอโฟรไดท์ บางครั้งก็มีผู้เรียกขานพระนามของเทพนารีพระองค์นี้ตามชื่อเกาะทั้งสองนี้ว่า “ไซเธอเรีย” (Cytherea) หรือ “ไซเพรียน” (Cyprian) ซึ่งหมายถึง “ผู้มาจากเกาะไซเธอรา หรือ เกาะไซปรัส” นั่นเอง
ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี นำเสนอภาพเทพธิดาแห่งความรัก ที่งามผุดผ่องน่าทะนุถนอม ประทับยืนบนเปลือกหอย (รูปที่ 1) ที่กำลังถูกพัด เป่าเข้าสู่ชายฝั่งแห่งเกาะไซปรัส โดย เซฟเฟอรัส (Zephyrus) เทพเจ้าแห่งสายลมตะวันตกและพระชายาคือ โคลริส (Chloris) หรือ ฟลอรา (Flora) เทพนารีแห่งมวลบุปผชาติ ยิ่งเข้าใกล้ชายฝั่งอันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ท้าวเธอก็ยิ่งรู้สึกขวยเขินสะเทิ้นอายในความเปลือยเปล่าแห่งพระวรกาย แต่ ณ ชายฝั่งของเกาะไซปรัส แธลโล (Thallo) เทพนารีแห่งฤดูใบไม้ผลิ กำลังเฝ้ารอรับเสด็จพร้อมคลี่แพรผ้าสีสดใสลายดอกไม้ร่วง ชายผ้าปักลวดลายด้วยดิ้นทองอย่างงดงามสำหรับเตรียมห่มคลุมพระวรกายอันบอบบาง เปลือยเปล่า และงดงาม ให้รอดพ้นจากสายตาของมวลมนุษย์
องค์ประกอบทุกตัวภายในภาพ “กำเนิดวีนัส” ของ บอตติเชลลี เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวที่สอดประสานคล้องจองกันอย่างมีสุนทรียภาพไม่ว่าจะเป็นท่วงท่าและการเคลื่อนไหวอันอ่อนช้อยงดงาม ความงามสง่าของเส้นขอบนอกที่ลื่นไหลเป็นอิสระของรูปทรง และเส้นผมที่ยาวสยายนุ่มสลวยและปลิวไสวไปตามสายลมของเทพนารี รวมทั้งการปรากฏกายของเทพเจ้าแห่งสายลมและพระชายาที่เกี่ยวกระหวัดรัดรึงเป็นหนึ่งเดียวกันในนภากาศ การโบกสะบัดของแพรผ้าสีสดท่ามกลางสายลมที่พัดผ่าน และริ้วคลื่นที่ม้วนตัวเข้าสู่ฝั่งเป็นระรอก
ภายในภาพปรากฏสัญลักษณ์ของเทพนารีอโฟรไดท์หลายอย่าง เช่น ดอกกุหลาบสีชมพู ที่โปรยปรายลงมาพร้อมกับลมเป่าของเทพนารีแห่งมวลบุปผชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่สามารถพิชิตทุกสิ่งในโลก หอยเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และอารมณ์ปรารถนาอันร้อนแรง
เทพนารีอโฟรไดท์ คือเทพธิดาแห่งความรักและความงดงาม พระนางสามารถสะกดเทพและมนุษย์ให้ลุ่มหลงในความรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น และบดบังปัญญาของผู้ชาญฉลาดให้กลายเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญาไปได้ในพริบตา เทพนารีอโฟรไดท์จะเฝ้าหัวเราะเยาะชายชาตรีทั้งเทพและมนุษย์ ผู้ตกอยู่ในวังวนแห่งห้วงพิศวาสอันเกิดจากการหว่านเสน่ห์ของท้าวเธออย่างสำราญใจ
เรื่องราวความเจ้าชู้อย่างร้ายกาจ มารยาพิศวาสอันเหนือชั้น และเสน่ห์อันร้อนแรงและรัดรึงใจจนยากจะต้านทานของเทพนารีอโฟรไดท์ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินตะวันตกหลายยุคหลายสมัย ดังเช่น อโฟรไดท์แห่งซนิดุส (Aphrodite of Cnidus รูปที่ 2) ผลงานของ แพรกซิเทเลส (Praxiteles) ประติมากรเอกของกรีก ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพ “กำเนิดวีนัส” ให้กับบอตติเชลลี หรือ วีนัสแห่งมิโล (Venus of Milo รูปที่ 3) ที่แสนจะเซ็กซี่ เพราะผ้าผ่อนที่พันร่างกายส่วนล่างของพระนางดูราวกับจะลื่นหลุดลงมาได้ทุกเมื่อ หรือ กำเนิดวีนัส (The Birth of Venus รูปที่ 4) ของ อเล็กซองเดร คาบาเนล (Alexandre Cabanel) จิตรกรเอกชาวฝรั่งเศส ซึ่งนำเสนอภาพเทพธิดาวีนัสกำลังนอนระทวยกายบนยอดคลื่นและฟองน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล
ขณะที่พลังแห่งชีวิตค่อยๆ เริ่มแผ่ซ่านทั่วสรรพางค์กาย ท้าวเธอทรงยกพระกรขึ้นป้องดวงเนตรจากแสงตะวันอันเจิดจ้าด้วยความงุนงงโดยมิทันได้ใส่ใจกับความยินดีปรีดาของเหล่าเทวดาน้อยๆ ซึ่งเหาะวนเวียนอยู่กลางห้วงนภากาศเหนือสรีระอันเปลือยเปล่าและเย้ายวนใจของพระนาง
หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์
Sandro Botticelli จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี มีชีวิตราว ค.ศ. 1445-1510
Praxiteles ประติมากรเอกของกรีก ชาวเอเธนส์ มีชีวิตราวศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล มีชื่อเสียงโด่งดังมากในการสร้างรูปประติมากรรมซึ่งงดงามด้วยสัดส่วนและการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลมากกว่าใคร และเป็นประติมากรกรีกผู้สลักรูปสตรีเปลือยเป็นคนแรก ประติมากรรมรูป “Aphrodite of Cnidus” ของเขาได้รับการสรรเสริญจาก Plinius นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันว่าเป็นประติมากรรมซึ่งงดงามที่สุด
Alexandre Cabanel จิตรกรเอกชาวฝรั่งเศสแห่งยุคสัจนิยมมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1823-1889
Realism หรือศิลปะสัจนิยม เป็นรูปแบบการสร้างงานศิลปะที่เป็นกระแสต่อต้านการสร้างงานศิลปะเชิงประวัติศาสตร์และแนวอุดมคติของศิลปะคลาสสิกใหม่ที่เคร่งกฎเกณฑ์ตามแบบคลาสสิกและศิลปะแนวโรแมนติค แพร่หลายในทวีปยุโรปประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)
ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย
พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน
พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย
ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD
เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ "ศิลปะคลาสสิก" ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี
และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ "เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี" ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา
ติดตามอ่าน ...108-1000 - ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews