xs
xsm
sm
md
lg

โหมโรง 108-1000- ศิลป์ กับ รศ. ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>>คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
Caspar David Friedrich: นักเดินทางเหนือทะเลหมอก, ราว ค.ศ.1818, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 74.8x94.8, Hamburg, Kunsthalle
สวัสดีปีใหม่ค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ครั้งนี้นับเป็นการพบกันครั้งแรกของเรา ระหว่างผู้อ่านและผู้เขียนคอลัมน์ 108-1000-ศิลป์

ดิฉันจึงใคร่ขอแนะนำเนื้อหาของคอลัมน์นี้สักเล็กน้อยโดยจะเริ่มต้นที่ชื่อของคอลัมน์ก่อน

108-1000 (อ่านว่า ร้อยแปด-พัน) ได้ความคิดมาจากคำว่า ร้อยแปดพันเก้า ซึ่งเป็นภาษาพูดที่ติดปากคนไทย เมื่อเราเอ่ยถึงอะไรก็ตามที่มากมายหลายหลากอย่างปนๆ กันไป

แต่สำหรับเรื่องราวที่จะนำเสนอในคอลัมน์นี้จะเกี่ยวข้องกับศิลปะเท่านั้น และนี่ก็คือที่มาของชื่อ 108-1000- ศิลป์ ด้วยประการฉะนี้ เช่นกันที่คำว่า ศิลปะ ในคอลัมน์นี้จะหมายความเฉพาะ วิจิตรศิลป์ หรือ Fine Arts เท่านั้น

หลายคนอาจอยากตั้งคำถามว่า วิจิตรศิลป์ หรือ Fine Arts หมายถึงอะไร เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา จึงขอยกคำจำกัดความของคำว่า “วิจิตรศิลป์”  ที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เคยอรรถาธิบายไว้อย่างชัดเจนมาตอบคำถามโลกแตกนี้ ดังนี้

วิจิตรศิลป์ (fine arts) หมายความถึง งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ นอกจากต้องใช้ความพยายามด้วยมือและด้วยความคิดแล้ว ยังต้องมีการพวยพุ่งแห่งพุทธิปัญญาและจิตออกมาด้วย (intellectual and spiritual emanation)”

คำอธิบายนี้ทำให้เราเข้าใจว่า “วิจิตรศิลป์”  เป็นศิลปะชั้นสูง ที่สร้างสรรค์จากศิลปิน ผู้ไม่ได้มีเพียงฝีมือทางเชิงช่างอันเยี่ยมยอดเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้มีปัญญาความสามารถและอัจฉริยภาพอันสูงส่งและโดดเด่น ที่ฉายแววเอกลักษณ์ของตนเองออกมาได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
การแสดงโขนของกรมศิลปากร
วิจิตรศิลป์ จำแนกออกได้ 5 สาขา คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณคดี และนาฏดุริยางค์ (สาขานี้ประกอบด้วย นาฏศิลป์ หรือ การละคร และ ดุริยางคศิลป์ หรือ การดนตรี)

สถาปัตยกรรม ถือเป็นยอดของ “วิจิตรศิลป์” สูงส่งกว่าศิลปะสาขาใดๆ ในอดีต ได้รับการยกย่องให้เป็น “มารดาของศิลปกรรมทุกแขนง” เพราะปราศจากสถาปัตยกรรมแล้ว ศิลปะสาขาอื่นก็ไม่มีโอกาสได้เกิด เนื่องจากประติมากรรมและจิตรกรรมสร้างขึ้นเพื่อประดับภายในและภายนอกสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับวรรณคดีและนาฏดุริยางค์ ที่ในอดีตจะถูกนำเสนอภายในเทวสถาน หรือโรงละครเท่านั้น

ปัจจุบัน ในประเทศอินเดียเรายังคงสามารถพบเห็นการหลอมรวมกันของวิจิตรศิลป์ทั้ง 5 สาขานี้ เมื่อมีการทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำปีภายในเทวสถาน ซึ่งจะมีการร่ายรำประกอบการบรรเลงดนตรีและการขับร้องพร้อมกันไปด้วย (เนื้อร้องในการขับขานอันเกิดจากการร้อยกรองคำตามระเบียบฉันทลักษณ์ จัดอยู่ในสาขาวรรณคดี)

กล่าวโดยสรุป “108-1000-ศิลป์” เป็นคอลัมน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “วิจิตรศิลป์” ในหลากหลายเรื่องราวและในมุมมองต่างๆ ตามความพอใจของผู้เขียน โดยอาจหยิบยกศิลปะสาขาใดก็ได้ ศิลปะยุคใดสมัยใดก็ได้ ศิลปะตะวันออกหรือตะวันตกก็ได้ มานำเสนอในลักษณะเล่าสู่กันฟังสัปดาห์ละครั้ง
อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ธนบุรี โดย ศ.ศิลป์ พีระศรี:
ก่อนจากกันวันนี้ คิดได้ว่า หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า “วิจิตรศิลป์” ที่ว่ามานี้ มันต่างจากงานฝีมือหรือศิลปะพื้นๆ อย่างไร เลยอยากอธิบายต่ออีกนิดหน่อยว่า ศิลปะไม่ได้เกิดมาจากความบังเอิญ และศิลปินที่แท้ก็ไม่ได้มีดาษดื่นจนล้นโลก

หรือใครก็เป็นศิลปินหรือเรียกตนเองว่าเป็นศิลปินได้ง่ายๆ อย่างที่คนไทยหลายคนชอบคิดกัน ผลงานศิลปะพิสูจน์ตนเองและผู้สร้างสรรค์มันด้วยคุณภาพและกาลเวลา หาใช่ที่ราคาหรือเพราะเศรษฐีใหม่ซื้อไปเก็บไว้ในคอลเลกชันส่วนตัวไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิจิตรศิลป์” ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจคน สร้างความประทับใจ และกระทบความรู้สึกของคนจนก่อให้เกิดความปีติยินดี หรือความโศกสลดได้

มหัศจรรย์แห่งศิลปะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ทุกหนทุกแห่ง ทุกวันทุกเวลา เมื่อยามที่เราประจักษ์แจ้งในความหมายอันล้ำลึกของผลงานสร้างสรรค์โดยศิลปินเอกแห่งโลกทุกยุคทุกสมัย

ขณะที่เราย่างก้าวเข้าสู่สถาปัตยกรรมที่ออกแบบอย่างวิจิตรโอฬาร ได้ยลภาพจิตรกรรมและประติมากรรมอันล้ำเลิศ ได้ชื่นชมนาฏกรรมอันอ่อนช้อยสง่างาม และได้สดับบทเพลงที่ขับขานประสานกับท่วงทำนองดนตรีอันไพเราะเสนาะโสต เมื่อนั้นพลังแห่งศิลปะจะกระตุ้นดวงจิตแห่งเราให้เกิดจินตนาการและมโนภาพ กระทบอารมณ์ให้เกิดความสะเทือนใจ ทำให้เราต้องหัวเราะหรือร้องไห้ตามที่ศิลปินได้กำหนดไว้

และนี่คือคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเราถึงรู้สึกเศร้าสะเทือนใจไปกับโศกนาฏกรรมของโรเมโอและจูเลียต ทำไมเราถึงสัมผัสได้ถึงความอ้างว้างโดดเดี่ยวของศิลปิน เมื่อได้เห็นภาพชายนิรนามที่หันหลังให้กับเรา ยืนเหม่อมองออกไปยังทะเลหมอกซึ่งอยู่เบื้องหน้าในภาพจิตรกรรมของ Caspar David Friedrich

ทำไมเราถึงรู้สึกถึงความมุ่งมั่นและความกล้าหาญของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ อีกทั้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาให้กับปวงชนชาวไทยทุกครั้งเมื่อเรามองเห็นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชตั้งตระหง่านอยู่เหนือวงเวียนใหญ่ ธนบุรี

ทำไมเราถึงรู้สึกเศร้ากำสรด เมื่อท่วงทำนองเพลงพญาโศกลอยมากระทบโสตประสาท ทำไมเราถึงรู้สึกปลื้มปีติทุกครั้งเมื่อเราประสบกับสถาปัตยกรรมอันโอฬารงามสง่า

และเมื่อเราย่างก้าวเข้าสู่มหาวิหาร เทวสถาน หรือโบสถ์วิหารอันยิ่งใหญ่งดงาม อลังการด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง เทวรูป หรือพระปฏิมาสำริดที่ส่งประกายสีทองแวววับอร่ามตาท่ามกลางแสงเทียนวับแวมและอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ธูปเทียน

ทำไม ณ ขณะนั้นเราถึงรู้สึกได้ถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ รู้สึกว่าต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และบังเกิดความศรัทธาจนพร้อมจะทรุดกายลงนั่งประณมกร คารวะสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน และสร้างด้วยอิฐปูนเท่านั้นนี้ได้

และทั้งหมดนี้คือคำตอบของคำถามที่ว่า “วิจิตรศิลป์” ต่างจากงานฝีมือ หรือศิลปะพื้นๆ อย่างไร
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ธนบุรี
ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพ ฯ
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

และเมื่อ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ "เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี" ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชื้อเชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ เนื่องจากเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่เพียงในรั้วสถาบันการศึกษา
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น