xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ยันกู้ 2 ล้านล้านไม่โกง จ่อโยกสายสีม่วงงวดสุดท้ายใช้แทนไจก้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” เผยคลังแนะเปลี่ยนแหล่งเงินกู้รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) งวดสุดท้าย 1.2 หมื่นล้าน ใช้ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านแทนไจก้า ชี้ต้นทุนต่ำกว่า เดินหน้าชี้แจงรายละเอียดทำความเข้าใจ พ.ร.บ.กู้ ประเทศได้ประโยชน์ประมูลโปร่งใส มีทั้งแบบ e-Auction และนานาชาติ ตามความเหมาะสมของโครงการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 เม.ย.จะชี้แจงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... จำนวน 2 ล้านล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นนัดแรก ตามขั้นตอนหลังจากร่าง พ.ร.บ.ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ได้ในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตรนั้น ทางสำนักบริหารหนี้ (สบน.) กระทรวงการคลัง ได้แนะนำให้เปลี่ยนแหล่งเงินงวดสุดท้ายประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) มาเป็นเงินกู้จาก พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบริหารเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ถูกลง

ส่วนโครงการก่อสร้างสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงินรวม 26,569 ล้านล้านบาท ซึ่งเดิมอนุมัติโครงการก่อสร้างช่วงแรก (หมอชิต-สะพานใหม่) ตั้งแต่ปี 2550 วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ไม่รวมตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณ แต่ปัจจุบันการดำเนินโครงการล่าช้าถึง 4 ปี เนื่องจากติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีการขยายระยะทางก่อสร้างอีก 7 กิโลเมตรหรือ 4 สถานี จากสะพานใหม่-คูคต ทำให้วงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น เป็น 58,000 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มจาก 2,000 ล้านบาทเมื่อปี 2550 เป็น 7,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงคมนาคม จะต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนถึงรายละเอียดของครงการว่าจะมีความโปร่งใสไม่ก่อหนี้ในอนาคตทุกและเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ส่วนรูปแบบการประกวดราคาของแต่ละโครงการว่าจะเป็นวิธีประกวดราคาระบบ e-Auction และประกวดราคาแบบนานาชาติ หรือ International bid ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น