“กิตติรัตน์” เป่านกหวีดลุยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้น ศก. ขยายตัวต่อเนื่อง ลั่นใช้เงินกู้ในประเทศเป็นหลัก แต่อาจมีผลกระทบต่อภาวะดอกเบี้ยนโยบาย เพราะต้องยอมรับว่า ทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจ มีความเกี่ยวพันกันทั้งหมด แต่ที่ผ่านมา ส่วนตัวไม่ค่อยสบายใจ เพราะมีหลายคนพยายามแสดงความเห็นในแง่เศรษฐศาสตร์ ทั้งที่ไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ หรือไม่มีความรู้ เผยบาทแข็งไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมล้างหนี้เงินกู้นอกแสนล้าน หลังถกไจก้า
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวภายหลังคณะผู้บริหารองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้าพบว่า ได้มีการหารือในส่วนของโครงการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ก่อนที่ทางไจก้าจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการถึงผลการศึกษา และผลการสำรวจของทางไจก้าในช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม รวมไปถึงผู้สนใจยื่นประมูลทุกกลุ่มทุกราย ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ประมูลของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เพื่อทำการเปรียบเทียบแนวคิดแผนการต่างๆ กับสิ่งที่ไจก้าได้ค้นพบ และอาจจะมีการปรับรายละเอียดในช่วงที่ยังสามารถทำได้ เพราะหากแนวทางใดสามารถลดต้นทุนได้ก็จะเป็นข้อดีของทุกฝ่าย
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงไจก้าไม่ใช่กลุ่มผู้ลงทุน แต่มาในฐานะองค์กรการพัฒนา ในอดีตที่ผ่านมา ไจก้าก็มาเสนอโครงการที่พร้อมจะให้กู้ แต่หลายโครงการฝ่ายไทยใช้เทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก และจนถึงขณะนี้ในส่วนของรถไฟฟ้าก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นเลย ซึ่งทางไจก้าก็ไม่ได้ผูกมัดว่าต้องกู้จากไจก้า และต้องใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่นเท่านั้น ที่สำคัญทีมที่ยื่นประมูลมาจากทางญี่ปุ่นก็ถือเป็นคนละส่วนกับไจก้า ทำให้เราสามารถพิจารณาจากต้นทุน และความเหมาะสมได้
โดยในส่วนของโครงการใหม่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ตามเดิมเคยมีมติไว้ว่าจะกู้เงินจากไจก้า ซึ่งหากว่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศก็อาจจะไม่กู้ แต่อาจใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้อยู่ในช่วงที่ยังปรึกษาหารือกัน
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนโครงการต่างๆ นั้น รัฐบาลจะเน้นการกู้เงินภายในประเทศมากกว่าการกู้จากต่างประเทศ เพราะมีความพร้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ไปกู้จากต่างประเทศเลย หากพิจารณาแล้วหนทางใดถูกกว่าดีกว่า ช่วยระบบเศรษฐกิจมหภาคได้มากกว่า รัฐบาลก็จะเลือกแนวทางนั้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยเองก็เกิดภาวะเงินท่วม เช่นเดียวกับในบางประเทศที่เงินท่วมเหมือนกัน
“ต่างประเทศก็อยากให้เราไปกู้ แต่หากเราไปกู้ เงินก็จะมาท่วมเราหนักขึ้น ดังนั้น ต้องคิดให้รอบคอบ ประเด็นนี้ทางไจก้าก็มีความเข้าใจว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลเศรษฐกิจประเทศตัวเอง ดังนั้น หากไปกู้ในช่วงที่เราไม่พร้อม หรือไม่มีความจำเป็น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า แนวทางกู้เงินในประเทศเป็นหลักจะมีผลต่อภาวะดอกเบี้ยนโยบาย เพราะต้องยอมรับว่า ทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันกันทั้งหมด แต่ที่ผ่านมา ส่วนตัวไม่ค่อยสบายใจ เพราะมีหลายคนพยายามแสดงความเห็นในแง่เศรษฐศาสตร์ ทั้งที่ไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ หรือไม่มีความรู้
อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงบ่ายวันนี้ จะมีข่าวดีเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทรัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันด้วย อย่างเรื่องหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ ก่อนหน้านี้ก็ได้ขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้ว่า อาจมีการชำระคืนก่อนกำหนดหากสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ส่วนนั้นมีไม่มาก ประมาณแสนล้านบาทเท่านั้น และต้องยอมรับว่าปริมาณเงินไหลเข้าประเทศมีมากกว่า จะให้รัฐบาลช่วยฝ่ายเดียวคงจะไม่เพียงพอ