xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” การันตีข้อดีถก FTA อียู ช่วยดึงดูดการลงทุนและแก้ปัญหาถูกตัด GSP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” ยันไทยจำเป็นต้องเจรจา FTA ไทย-อียู เผยช่วยดึงดูดการลงทุน และแก้ปัญหาถูกตัด GSP ทั้งประเทศในปี 58 ล่าสุดทีมเจรจาทั้ง 14 ชุดเริ่มประชุมกำหนดท่าที ก่อนบินถกอียูนัดแรก พ.ค.นี้

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความจำเป็นในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่จะเริ่มเปิดเจรจากันครั้งแรกในเดือน พ.ค. 2556 ที่กรุงบรัสเซลส์ว่า การเจรจา FTA กับอียูจะก่อให้เกิดประโยชน์กับไทยอย่างมาก เพราะขณะนี้ประเทศอาเซียนอื่น ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม อยู่ระหว่างการเจรจากับอียู ไม่เพียงแค่นั้น อียูกำลังเริ่มเจรจากับอินโดนีเซีย หากไทยช้าจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในอาเซียนมีเป้าหมายในการบุกเจาะตลาดอียูเช่นเดียวกับไทย

ทั้งนี้ การเจรจา FTA จะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดการลงทุนจากอียูในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคบริการ รวมทั้งยังช่วยในการป้องกันการย้ายฐานการผลิตของอียูไปยังประเทศอื่น และยังช่วยสนับสนุนการขยายการลงทุนของไทยไปยังอียูได้ด้วย โดยปัจจุบัน อียูมีการลงทุนในไทยในปี 2554 มูลค่า 3,037.36 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางพิรมลกล่าวว่า การเจรจา FTA ยังช่วยให้ไทยแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่อียูจะตัดสิทธิไทยทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เพราะ FTA จะทำให้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าต่างๆ ที่ไทยเคยได้สิทธิ GSP ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น

โดยล่าสุดได้มีการประเมินว่า การถูกตัด GSP จะทำให้เกิดผลกระทบต่อไทยประเมินเป็นมูลค่าได้ 84,840.27 ล้านบาท แยกเป็นผลกระทบจากการถูกตัด GSP รายสินค้า 3% ผลกระทบจากการถูกตัด GSP ทั้งประเทศ 2% และผลกระทบจากการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากประเทศคู่แข่ง 95%

นางพิรมลกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเตรียมท่าทีในการเจรจา FTA ไทย-อียู ขณะนี้หัวหน้าทีมเจรจาทั้ง 14 ชุดที่จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการเจรจา FTA ไทย-อียู ที่มีนายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธาน กำลังประชุมหารือเพื่อกำหนดท่าทีในการเจรจาร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนเดินทางไปเจรจากับอียูนัดแรกในเดือนพ.ค.2556 นี้ ที่กรุงบรัสเซลล์

ทั้งนี้ ทั้ง 14 หัวข้อที่จะต้องมีการกำหนดท่าทีในการเจรจา ได้แก่ 1. การค้าสินค้า 2. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 5. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 6. มาตรการเยียวยาทางการค้า 7. การค้าบริการ 8. การลงทุน 9. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10. ทรัพย์สินทางปัญญา 11. นโยบายการแข่งขัน 12. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 13. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 14. ข้อบททั่วไปที่เกี่ยวกับความโปร่งใสและการบริหารจัดการความตกลง
กำลังโหลดความคิดเห็น