xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าระหว่างประเทศติวเข้มผู้ประกอบการภูเก็ต รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขยายตลาดสู่ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมงานสัมมนาการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เพื่อปรับรูปแบบการค้าขายระหว่างประเทศรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ นางวิไลวรรณ ทัพวงศ์ศรี นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเพื่อขยายโอกาสทางการค้าในตลาด AEC โดยมีนายประคอง รักษ์วงศ์ พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เข้าร่วมรับฟัง

นางวิไลวรรณ กล่าวว่า การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง หรือ self-Certification เป็นการอนุญาตให้ผู้ทำการค้า หรือผู้ส่งออกที่ได้รับความไว้วางใจ และมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเองในใบกำกับสินค้า (Invoice) หรือในเอกสารทางการค้าอื่นๆ ในการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในกลุ่มอาเซียน แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ Form D ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

Self-Certification เป็นผลมาจากการที่อาเซียนได้กำหนดเป้าหมายในการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 โดยจะเป็นตลาดร่วมตลาดเดียว ซึ่งมีฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายการบริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนระหว่างกันอย่างเสรีมากขึ้น การนำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก หรือ Self-Certification มาใช้นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และลดขั้นตอนการจัดทำเอกสารการส่งออกของผู้ประกอบการด้วย

ปัจจุบัน ประเทศที่นำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองมาใช้มี 4 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เริ่มใช้เป็นโครงการนำร่องระหว่างกันแล้ว ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ 4 ที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง โดยมีการให้สัตยาบันแก่ 3 ประเทศแรกที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่จะได้รับสิทธิรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศก่อน ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ส่งออกได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วจำนวนหนึ่ง สำหรับประเทศที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา การใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรระหว่างกันยังคงใช้หนังสือรับรอง (Form D) เช่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อาเซียนตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2558 ซึ่งจะเป็นปีที่กำหนดจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะสามารถนำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น