xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติไซปรัสหนุนแนวโน้มเฟดเดินหน้ามาตรการ QE ในการประชุม FOMC วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ในวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อไป ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการปะทุขึ้น
อีกครั้งของวิกฤติหนี้ยูโรโซนทำให้เจ้าหน้าที่เฟดตระหนักว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงสูง
        เฟดจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันอังคารและวันนี้ โดยเฟดจะออกแถลงการณ์นโยบายและรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจชุดใหม่ในคืนนี้เวลา 01.00 น.ตามเวลาไทย และนายเบน เบอร์นันเก้ ประธาน
เฟดจะจัดการแถลงข่าวรายไตรมาสในเวลา 01.30 น.
        ในการประชุมกำหนดนโยบายในครั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะยังคงหารือกันต่อไปเกี่ยวกับต้นทุนของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงความเป็นไปได้ที่นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอาจกระตุ้นภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์
        อย่างไรก็ดี นายเบอร์นันเก้ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขายังคงเชื่อมั่นว่า QE ให้ผลดีอย่างเห็นได้ชัด และการดำเนิน QE ต่อไปเป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อการเสี่ยง
        นายสตีฟ บลิทซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอทีจีกล่าวว่า "เราคาดว่าความเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวในแถลงการณ์เฟดครั้งนี้ ก็คือการยอมรับว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ FOMC เคยเห็นเมื่อ
6 สัปดาห์ก่อน"
        นายบลิทซ์กล่าวว่า "การยอมรับในเรื่องนี้อาจส่งผลให้สมาชิกFOMC มีความเห็นขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้นต่อประเด็นที่ว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังในการส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเร็วๆนี้"
        ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการฟื้ืนตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ คือตัวเลขการจ้างงานเดือนก.พ. โดยการจ้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นสุทธิ 236,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.2 % สู่ 7.7 % ในเดือนก.พ.
        ถ้าหากการจ้างงานในสหรัฐยังคงเติบโตในอัตราเช่นนี้ต่อไปเป็นเวลานานหลายเดือน เฟดก็สามารถอ้างได้ว่า แนวโน้มการจ้างงานได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเท่ากับว่าเฟดได้บรรลุเงื่อนไขในการยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้
        อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในไซปรัสมีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เฟดเชื่อมั่นว่า เฟดควรที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป ขณะที่แผนการจัดเก็บภาษีเงินฝากธนาคารในไซปรัสตามเงื่อนไขให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปได้สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
        นายควินซี ครอสบี นักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดของบริษัทพรูเดนเชียล ไฟแนนเชียล กล่าวว่า "เหตุการณ์ในไซปรัสเป็นการรับประกันว่า เฟดจะตอกย้ำถึงความสำคัญในการสกัดกั้นความเสี่ยงช่วงขาลง และรับประกันว่า นายเบอร์นันเก้จะยังคงมีจุดยืนในการใช้นโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป"
        นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า มาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ของเฟดรอบปัจจุบันจะมีวงเงินเพิ่มขึ้นสู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในที่สุด อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่า เฟดจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า หลังจากเฟดยุติการเข้าซื้อตราสารหนี้แล้ว ก็จะต้องใช้เวลาอีก1-2 ปีก่อนที่เฟดจะเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
        นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกแล้ว เฟดก็มีเหตุผลอื่นๆอีกหลายประการที่สนับสนุนให้เฟดดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของเฟดยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2 % และอัตราการว่างงานก็ยังคงอยู่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างมาก
        นายโจช ชาพิโร ประธานกรรมการบริษัทโซเนคอนกล่าวว่า "ผมยังมองไม่เห็นสัญญาณหรือเหตุผลใดๆที่จะทำให้เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายแต่ถ้าหากเฟดจะปรับนโยบาย เฟดก็อาจจะขยายนโยบายในปัจจุบันออกไปอีก"
        เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงสู่ระดับใกล้ 0 % นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2008 ขณะที่เฟดได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ไปแล้วเป็นมูลค่ารวมกันกว่า2.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกดดันต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำและเพื่อกระตุ้นการลงทุนกับการบริโภค
        นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2012 เป็นต้นมา เฟดระบุว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0 % จนกว่าอัตราการว่างงานจะร่วงลงสู่ 6.5 %และตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นเหนือ 2.5 % ในช่วง1-2 ปีข้างหน้า ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เฟดจะยังคงระบุย้ำเรื่องนี้อีกครั้งในวันนี้ และเฟดยังให้สัญญาอีกด้วยว่า เฟดจะดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปถึงแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นแล้ว
        สมาชิกสายเหยี่ยวบางคนใน FOMC คัดค้านมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้รอบล่าสุดของเฟด โดยให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวอาจกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในอนาคต หรืออาจส่งผลให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเงิน ทางด้านนายเจเรมี สไตน์ สมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการของเฟดกล่าวย้ำว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นแล้วในตลาดหุ้นกู้เอกชน
        การกล่าวย้ำในเรื่องนี้หมายความว่า ในการกำหนดนโยบายของเฟดนั้น มีแนวโน้มที่จะหารือกันถึงเรื่องความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์เพื่อจะได้ยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
        ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เฟดเคยวางแผนว่า เฟดจะขายสินทรัพย์ออกมาบางส่วนจากงบดุลที่มีขนาด 3.15 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากเฟดเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว
        อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงในระยะนี้ของนายเบอร์นันเก้และเจ้าหน้าที่เฟดบางคนบ่งชี้ว่า เฟดกำลังพิจารณาเรื่องการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้เอาไว้ต่อไป เพื่อจะลดความเป็นไปได้ในการประสบภาวะขาดทุน ซึ่งภาวะดังกล่าว
จะส่งผลให้เฟดระงับการโอนเงินตามปกติให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐ
(ข่าวจาก สำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น