xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ค้านกู้ 2.2 ล้านบาท ห่วงโกง-หนี้พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงเทพโพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์พบ ส่วนใหญ่ 96% หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 7 ปี เพื่อสร้างความได้เปรียบรองรับการเปิด AEC เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่อยากให้รัฐบาลดำเนินการด้วยวิธีการอื่นมากกว่าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ห่วงมีการทุจริต ที่สำคัญหนี้สาธารณะจะพุ่ง 60% ของจีดีพี หากประเทศเจอฟองสบูแตกยุ่ง

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 33 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “นักเศรษฐศาสตร์ตั้ง KPI โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 13-18 ม.ค.ที่ผ่านมา

ผลสำรวจพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 56.7 อยากให้รัฐบาลดำเนินการลงทุนด้วยวิธีการอื่นๆ มากกว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน เนื่องจากเป็นห่วงในปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25.0 เห็นว่าการดำเนินการด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงินเป็นวิธีการที่เหมาะสมแล้ว แม้ว่าอาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ บ้างแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือทำไปตามกรอบเดิมๆ หรือตามกรอบงบประมาณที่มี

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 7 ปีข้างหน้าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ กล่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 96.6 ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความได้เปรียบรองรับการเปิด AEC และร้อยละ 81.6 เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินในปัจจุบันถึง 7 ปีข้างหน้าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นปัญหาสำหรับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน คือ ปัญหาหนี้สาธารณะและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยในส่วนของปัญหาหนี้สาธารณะนั้น ร้อยละ 60.0 เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลเนื่องจากหนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ต่อจีดีพี หากประเทศเจอวิกฤติเศรษฐกิจหรือฟองสบู่แตก รวมถึงรัฐบาลอาจขาดสภาพคล่องเนื่องจากต้องใช้จ่ายในโครงการ (ประชานิยม) อื่นๆ ร่วมด้วย ขณะที่ร้อยละ 21.7 เห็นว่าไม่น่าเป็นกังวล เพราะ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำอีกทั้งเป็นการกู้ภายในประเทศและการลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวจะทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นและช่วยให้แข่งขันได้ดีขึ้น ในส่วนของความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลว่าจะดูแลปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนี้ได้ดีเพียงใดนั้น ร้อยละ 88.3 บอกว่าไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย ในจำนวนนี้ร้อยละ 48.3 เชื่อว่าคงมีการทุจริตอยู่ในระดับที่สูงกว่าโครงการทั่วไป

อย่างไรก็ดี หากมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจริงใน 7 ปีข้างหน้า นักเศรษฐศาสตร์คาดหวังว่าผลจากการลงทุนจะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 38 ในปัจจุบันมาอยู่ที่อันดับ 30 และขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 46 มาอยู่ที่อันดับ 32 อันดับความสะดวกในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 18 มาอยู่ที่อันดับ 15 ความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 20 มาอยู่ที่อันดับ 16 ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อจีดีพีลดลงจากร้อยละ 15.2 เหลือเพียงร้อยละ 13.2 และมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้นโดยมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีลดลงจาก 0.48 เหลือ 0.46

สำหรับตัวชี้วัด (KPI) อื่นๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้รัฐบาลตั้งไว้วัดผลสัมฤทธิ์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญมีดังนี้รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดความก้าวหน้าของแต่ละโครงการ การเบิกจ่ายเงิน อัตราผลตอบแทนของโครงการ และการชำระหนี้เงินกู้อย่างสม่ำเสมอต่อสาธารณะมีตัวชี้วัดทางสังคมที่บ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทในมิติต่างๆ เช่น รายได้ต่อหัว การจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการกระจุกตัวของเมืองหลวงได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดย Moodys, S&P


กำลังโหลดความคิดเห็น